ไผ่ตง
Dendrocalamus | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Monocots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Commelinids |
อันดับ: | Poales |
วงศ์: | Poaceae |
วงศ์ย่อย: | Bambusoideae |
เผ่าใหญ่: | Bambusodae |
เผ่า: | Bambuseae |
เผ่าย่อย: | Bambusinae |
สกุล: | Dendrocalamus Nees |
ชนิดต้นแบบ | |
Dendrocalamus strictus (Roxb.) Nees | |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
ไผ่ตง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus) เป็นไผ่สกุลหนึ่งในวงศ์หญ้า (Poaceae) ชื่อสกุลมีที่มาจากภาษากรีกว่า "δένδρον" (déndron) แปลว่า "ต้นไม้" และ "κάλαμος" แปลว่า "พืชจำพวกกกหรืออ้อย" รวมหมายถึง "อ้อยที่เป็นกอคล้ายต้นไม้" จึงสื่อถึงลักษณะของไผ่สกุลนี้ที่มีขนาดใหญ่และนิยมปลูกเพื่อการบริโภคหน่อ ไผ่สกุลนี้มีประมาณ 50 ชนิด ในจำนวนนี้พบในไทย 4 ชนิด กระจายพันธุ์ในเขตร้อนและกึ่งร้อนของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในเขตอินเดีย จีน อินโดนีเซีย พม่า ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
ลักษณะทั่วไป
แก้ไผ่ตงมีชื่อสามัญว่า Rough Giant Bamboo [2]เป็นไผ่ประเภทเหง้ามีกอขนาดใหญ่ สูง 20–30 เมตร ลำตรงอัดกันเป็นกอค่อนข้างแน่น ปลายลำโค้งถึงห้อยลง เส้นผ่านศูนย์กลางลำ 10–20 เซนติเมตร ปล้องยาว 20–50 เซนติเมตร เนื้อลำหนา 1–3.5 เซนติเมตร ลำอ่อนปล้องล่างมีขนสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น ปล้องบนมีขนสีขาวหรือสีเทาปกคลุม ลำแก่สีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมเทา ปล้องล่างยังมีขนปกคลุมหนาแน่นและมักมีรากอากาศจำนวนมากออกตามข้อ แตกกิ่งต่ำหรือตั้งแต่กลางลำต้นขึ้นไป มีข้อลำ 3–5 กิ่ง กิ่งเด่นหนึ่งกิ่งอยู่ตรงกลาง กิ่งที่เหลือขนาดไล่เลี่ยกันมักมีรากอากาศที่กิ่ง
ใบ
แก้ใบเป็นรูปแถบแกมรูปใบหอกมีขนาด กว้าง 1.5–4.5 เซนติเมตร ยาว 15–30 เซนติเมตร กาบหุ้มลำมีสีน้ำตาลอมม่วงหรือสีน้ำตาลจนถึงสีเขียวอ่อน กาบของหน่ออ่อนหรือกาบล่าง ๆ ของลำปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลเข้ม ส่วนกาบของหน่อบินหรือปล้องบน ๆ ของลำมักมีขนสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีเทา ใบยอดกาบรูปใบหอก สีน้ำตาลอมม่วงจนถึงสีเขียวอมม่วง กางออกถึงพับลง หูกาบเป็นพูเด่น ขอบและด้านในมีขนแข็งและยาวปกคลุม ลิ้นกาบเป็นแถบสูงประมาณ 1 เซนติเมตร ขอบจักไม่สม่ำเสมอและมีขน
ดอก
แก้ช่อดอกย่อยเทียมยาว 5–9 มิลลิเมตร กลูม 1–2 อัน ดอกย่อยสมบูรณ์ 4–5 ดอก ปลายช่อดอกย่อยมีดอกที่พัฒนาไม่เต็มที่ 1 ดอก เกสรตัวผู้ 6 อัน ก้านเกสรเพศผู้แยกอิสระ ยอดเกสรเพศเมีย 1 อัน
นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์
แก้กล่าวกันว่าไผ่ตงนำมาจากจีน บางครั้งมีรายงานว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากอินโดเนเซีย แต่ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากที่ใด ในไทยนิยมปลูกทั่วทุกภาค ไม่พบในป่าธรรมชาติ บางครั้งอาจพบขึ้นเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ป่าที่เคยมีการทำสัมปทานไม้ในอดีต เช่น พื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติคลองพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี สันนิษฐานว่าหลงเหลือจากการนำไผ่ตงไปปลูกเพื่อใช้สอยในค่ายที่พักของคนงานที่เข้าไปทำไม้ในอดีต
ประโยชน์
แก้- ลำ ใช้ในการก่อสร้าง เป็นวัสดุในการทำเฟอร์นิเจอร์และเครื่องจักสาน
- ลำต้นของไผ่ตงที่แก่จัดๆสามารถนำมาเหลาทำผืนระนาดเอก-ระนาดทุ้มได้
- หน่อ นิยมนำมาบริโภคเป็นอาหาร
ชนิด
แก้ชนิดพืชในสกุลไผ่ตงและแหล่งที่พบมีดังนี้[1][3]
- Dendrocalamus asper - จีนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนุทวีปอินเดีย
- Dendrocalamus bambusoides - ยูนนาน
- Dendrocalamus barbatus - ยูนนาน
- Dendrocalamus bengkalisensis - หมู่เกาะเรียว
- Dendrocalamus birmanicus - ยูนนาน, พม่า
- Dendrocalamus brandisii - ยูนนาน , อินโดจีน, หมู่เกาะอันดามัน
- Dendrocalamus buar - เกาะสุมาตรา
- Dendrocalamus calostachyus - รัฐอรุณาจัลประเทศ, ภูฏาน, ยูนนาน, พม่า
- Dendrocalamus cinctus - ศรีลังกา
- Dendrocalamus collettianus - พม่า
- Dendrocalamus detinens - พม่า
- Dendrocalamus dumosus - ไทย, มาเลเซียแผ่นดินใหญ่
- Dendrocalamus elegans - ไทย, มาเลเซียแผ่นดินใหญ่
- Dendrocalamus exauritus - กวางสี
- Dendrocalamus farinosus - กวางสี, กุ้ยโจว, เสฉวน, ยูนนาน, เวียดนาม
- Dendrocalamus fugongensis - ยูนนาน
- Dendrocalamus giganteus - ยูนนาน, อัสสัม, เบงกอลตะวันตก, ลาว, พม่า; มาดากัสการ์, มอริเชียส, เซเชลส์, ศรีลังกา, บังกลาเทศ, เนปาล, กัมพูชา, ไทย, เอกวาดอร์, เกาะตรินิแดด, เปอร์โตริโก
- Dendrocalamus hait - สุมาตรา
- Dendrocalamus hamiltonii - ยูนนาน, เนปาล, หิมาลัยตะวันออก, อินโดจีนเหนือ
- Dendrocalamus hirtellus - มาเลเซียแผ่นดินใหญ่
- Dendrocalamus hookeri - หิมาลัยตะวันออก, พม่า
- Dendrocalamus jianshuiensis - ยูนนาน
- Dendrocalamus khoonmengii - ไทย
- Dendrocalamus latiflorus - จีนใต้, อินโดจีนเหนือ; หมู่เกาะรีวกีว, หมู่เกาะโอะงะซะวะระ, คิวบา, บราซิล
- Dendrocalamus liboensis - กุ้ยโจว
- Dendrocalamus longispathus - อินโดจีน, รัฐอัสสัม, บังกลาเทศ
- Dendrocalamus macroculmis - เวียดนาม
- Dendrocalamus manipureanus - มณีปุระ
- Dendrocalamus membranaceus - อินโดจีน, ยูนนาน, บังกลาเทศ
- Dendrocalamus menglongensis - กวางตุ้ง
- Dendrocalamus merrillianus - ฟิลิปปินส์
- Dendrocalamus messeri - พม่า
- Dendrocalamus minor - กวางตุ้ง, กวางสี, กุ้ยโจว
- Dendrocalamus nudus - ไทย
- Dendrocalamus pachystachys - ยูนนาน
- Dendrocalamus parishii - หิมาลัยตะวันตก
- Dendrocalamus parvigemma - เวียดนาม
- Dendrocalamus peculiaris - ยูนนาน
- Dendrocalamus pendulus - มาเลเซียแผ่นดินใหญ่
- Dendrocalamus poilanei - เวียดนาม
- Dendrocalamus pulverulentus - กวางตุ้ง
- Dendrocalamus sahnii - อรุณาจัลประเทศ
- Dendrocalamus semiscandens - ยูนนาน
- Dendrocalamus sericeus - รัฐพิหาร, ลาว, เวียดนาม
- Dendrocalamus sikkimensis - รัฐสิกขิม, ภูฏาน, อรุณาจัลประเทศ, ยูนนาน
- Dendrocalamus sinicus - ยูนนาน, ลาว
- Dendrocalamus sinuatus - มาเลเซียแผ่นดินใหญ่, ลาว, เวียดนาม
- Dendrocalamus somdevae - รัฐอุตตราขัณฑ์
- Dendrocalamus strictus - อินเดีย, อินโดจีน; แคริบเบียน, เกาะชวา, มาเลเซีย, เกาะบางแห่งในมหาสมุทรอินเดีย
- Dendrocalamus suberosus - กวางตุ้ง
- Dendrocalamus tibeticus - Tibet, ยูนนาน
- Dendrocalamus tomentosus - ยูนนาน
- Dendrocalamus triamus - กวางตุ้ง
- Dendrocalamus tsiangii - เสฉวน, กวางสี, กุ้ยโจว
- Dendrocalamus wabo - พม่า
- Dendrocalamus xishuangbannaensis - ยูนนาน, เวียดนาม
- Dendrocalamus yunnanicus
ประเทศไทย
แก้ในประเทศไทยพบไผ่ตง 4 ชนิด[4] ดังนี้
- ไผ่ตงหนู บางครั้งเรียกไผ่ตงเล็ก เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางลำประมาณ 3-6 เซนติเมตร ส่วนใหญ่แล้วมีความนิยมในการปลูกน้อยเนื่องจากให้ผลผลิตที่ต่ำกว่าสายพันธุ์อื่น แต่ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดลำปางและเชียงใหม่ จะให้ผลผลิตค่อนข้างดี
- ไผ่ตงเขียว เป็นไผ่ตงที่มีลำต้นขนาดเล็กและสั้น ลำต้นมีสีเขียวตามชื่อแต่มีเนื้อไม้ที่บาง เส้นผ่านศูนย์กลางลำประมาณ 5-12 เซนติเมตร ใบบางสีเขียวเข้ม มีขนาดปานกลางไม่สากมือ ส่วนหน่อของสายพันธุ์นี้จะมีเนื้อสีขาวแกมเหลือง รสชาติหวานอมขมเล็กน้อย สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดีจึงเป็นที่นิยมปลูกกันมาก[5]ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- ไผ่ตงดำ หรือตงหวาน มีลำต้นสีเขียวอมดำตามชื่อเรียก สายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่รองลงมาจากไผ่ตงหม้อแต่มีลำต้นที่เตี้ยและสั้นกว่า เส้นผ่านศูนย์กลางลำประมาณ 9-12 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวเข้มหนาและมีขนาดใหญ่สังเกตเห็นร่องใบได้ชัดเจน ไผ่ตงดำได้ชื่อว่าเป็นไผ่ตงที่เป็นหนึ่งในเรื่องหน่อไม้เพราะหน่อของสายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่ไม่มีเสี้ยน รสชาติหวาน เนื้อกรอบและขาวละเอียด ดังนั้นหน่อไม้ของสายพันธุ์นี้จึงเป็นที่นิยมในการปลูกและนำมาบริโภคหรือค้าขายค่อนข้างมาก
- ไผ่ตงหม้อ หรือตงใหญ่ ไผ่ตงสายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่ที่สุดจากทั้งหมด 4 สายพันธุ์ มีลำต้นที่ยาวและสูง เส้นผ่านศูนย์กลางลำประมาณ 12-18 เซนติเมตร ส่วนใบมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ลำต้นสูงโปร่งเนื่องแตกกิ่งน้อย หน่อมีขนาดใหญ่มากมีสีน้ำตาลอมดำหรือน้ำตาลอมม่วง น้ำหนักหน่อประมาณ 5 กิโลกรัมขี้นไป เนื้อหน่อจะหยาบ แข็ง และมีสีขาว หน่อจะออกมากในช่วงฤดูฝน
การขยายพันธุ์
แก้การเพาะเมล็ด
แก้ไผ่ตงที่เจริญเติบโตเต็มที่จะออกดอกและตายในที่สุด ตามปกติแล้วไผ่ตงจะออกดอกในช่วงประมาณเดือน พฤศจิกายน-มกราคม และเมล็ดจะร่วงหล่นประมาณเดือน มีนาคม-เมษายน เราสามารถใช้เมล็ดที่หล่นนี้มาเพาะเป็นต้นกล้าใหม่ได้โดยมีวิธีการคือ[6]
- เก็บเมล็ดพันธุ์ไผ่ตงที่ร่วงหล่นตามพื้นมาทำความสะอาดและทำการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์โดยการใช้กระด้งฝัด จากนั้นเอาเปลือกนอกของเมล็ดพันธุ์ออกโดยใช้รองเท้าแตะที่เป็นยางนวดขัดเมล็ดพันธุ์กับกระด้งเพื่อให้เปลือกหลุดออก จากนั้นฝัดด้วยกระด้งอีกครั้งเพื่อให้เปลือกที่หลุดปลิวหล่นไป นำเมล็ดที่ได้ไปพึ่งแดดประมาณ 1 แดด เพื่อช่วยป้องกันแมลง
- เพาะกล้าไผ่ตง โดยนำเมล็ดที่ได้จากการพึ่งแดดมาแช่น้ำประมาณ 2 คืน หรืออาจใช้วิธีแช่ในน้ำอุ่น 2 ชั่วโมง แล้วแช่ในน้ำปกติอีก 1 วันก็ได้เช่นกัน เมื่อครบกำหนดนำเมล็กขึ้นจากน้ำแล้วห่อหุ้มด้วยผ้าที่เปียกชื้นอีกประมาณ 2 คืน เพื่อเร่งการงอกของราก
- นำเมล็ดที่งอกแล้วไปเพาะปลูกลงแปลงขี้เถ้าแกลบผสมดินเล็กน้อยตามสัดส่วนที่เหมาะสม อาจใช้หญ้าหรือฟางที่แห้งคลุมหน้าดินเพื่อไม่ให้โดดแดดมากเกินไป รดน้ำให้ชุ่มพอเหมาะ
- ภายหลังการเพาะลงแปลง 15 วัน หรือประมาณ 2 สัปดาห์ จะได้ต้นกล้าไผ่ตงที่สูงประมาณ 2-3 นิ้ว ให้ทำการย้ายต้นกล้าไปปลูกลงถุงเพาะชำเพื่อนำไปปลูกเป็นต้นขนาดใหญ่ตามความต้องการ
การแยกเหง้า
แก้- เลือกก่อไผ่ที่มีอายุ 1-2 ปี เพื่อใช้ในการขุดเหง้า จากนั้นตัดลำที่ต้องการขุดให้สูงประมาณ 1 เมตร
- ขุดเหง้าตรงลำที่ตัดไว้โดยให้ลึกลงไปประมาณ 20-50 เซนติเมตรหรือตามความลึกของเหง้า
- ระวังอย่าให้ส่วนเหง้าที่ขุดขาดหรือลำไผ่ฉีกโดยเฉพาะส่วนที่เป็นตาเหง้าเพราะอาจทำให้ไผ่ฟื้นตัวหรือแตกกิ่งไม่ได้
- นำเหง้าที่ขุดได้ไปปลูกลงดินและลดน้ำให้ชุ่มพอเหมาะ การขยายพันธุ์โดยวิธีนี้จะมีโอกาสรอดตายค่อนข้างสูงแต่ต้องใช้แรงและเวลามากในการขุด
เกร็ด
แก้ปัจจุบันมีหลายพันธุ์ปลูก (cultivar) เช่น ไผ่ตงดำ ไผ่ตงหม้อ สองพันธุ์นี้ส่วนมากปลูกเพื่อตัดลำต้นไปใช้ประโยชน์เนื่องจากมีลำสูง ส่วนไผ่ตงเขียวและไผ่ตงหนูเป็นพันธุ์ปลูกที่ให้หน่อดก ขนาดกอไม่สูงมาก นิยมปลูกเพื่อตัดหน่อขาย กล่าวกันว่าไผ่ตงเขียวแท้ ๆ สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว จาก เอกสารการปลูกสร้างและบำรุงรักษาสวนไผ่ (รุ่งนภา พัฒนพิบูลย์ และคณะ,2545) รายงานว่าราวปี พ.ศ. 2477 มีการนำท่อนพันธุ์ไผ่ตงเขียวจากประเทศจีนมาปลูกในไทยครั้งแรกบริเวณพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาไผ่ตงเขียวได้รับความนิยมและปลูกกันทั่วประเทศโดยขยายพันธุ์จากต้นตอต้นแม่เดียวกัน จนในปี พ.ศ. 2537–2539 ไผ่ตงเขียวออกดอกและตายพร้อมกันเกือบทั่วประเทศ ต้นลูกที่ได้จากเมล็ดไผ่ตงเขียวที่ออกดอกส่วนใหญ่เป็นต้นลูกที่ลักษณะไม่สมบูรณ์ แต่หลังจากการคัดเลือกต้นและปรับปรุงพันธุ์ปลูกของต้นลูกไผ่ตงเขียว จนในที่สุดได้พันธุ์ปลูกที่มีลักษณะดีเท่าไผ่ตงเขียวเดิม ไผ่ที่เกิดจากการปรับปรุงต้นรุ่นลูกไผ่ตงเขียวนี้เดิมมีชื่อว่า "เพชรประจันตคาม" ซึ่งต่อมาภายหลังมีชื่อใหม่ว่า "ศรีปราจีน" นิยมปลูกเพื่อบริโภคหน่อกันทั่วประเทศ