Location via proxy:   [ UP ]  
[Report a bug]   [Manage cookies]                
ข้ามไปเนื้อหา

ความถี่สูงยิ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ความถี่สูงยิ่ง
ความถี่สูงยิ่ง (ITU)
ช่วงความถี่
300 MHz ถึง 3 GHz
ช่วงความยาวคลื่น
1 ม. ถึง 1 ดม.
ย่านความถี่ที่เกี่ยวข้อง
ความถี่สูงยิ่ง (IEEE)
ช่วงความถี่
300 MHz ถึง 1 GHz
ช่วงความยาวคลื่น
1 ม. ถึง 3 ดม.
ย่านความถี่ที่เกี่ยวข้อง
สายอากาศรับสัญญาณโทรทัศน์แบบยากิ สำหรับสัญญาณภาพโทรทัศน์ในระบบยูเอชเอฟ

ความถี่สูงยิ่ง (อังกฤษ: Ultra high frequency: UHF) ย่อว่า ยูเอชเอฟ ซึ่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศกำหนดไว้สำหรับคลื่นวิทยุในช่วงระหว่าง 300 เมกะเฮิรตซ์ และ 3 กิกะเฮิรตซ์ หรือที่เรียกว่า ย่านเดซิเมตร (อังกฤษ: Decimetre band) เนื่องจากมีความยาวคลื่นตั้งแต่ 1 เมตร ถึง 0.1 เมตร (1 เดซิเมตร) ส่วนคลื่นวิทยุที่มีความถี่สูงกว่ายูเอชเอฟจะเป็นย่านความถี่สูงยิ่งยวด (อังกฤษ: Super-High Frequency; SHF) หรือไม่ก็ย่านความถี่สูงสุด (อังกฤษ: Extremedy High Frequency; EHF) หรือไม่ก็กลายเป็นคลื่นไมโครเวฟไป ส่วนคลื่นวิทยุที่มีความถี่ต่ำกว่ายูเอชเอฟจะเป็นย่านความถี่สูงมากหรือวีเอชเอฟ (อังกฤษ: Very-High Frequency; VHF) หรือไม่ก็ย่านความถี่ที่ต่ำกว่า ยูเอชเอฟมักส่งไปแบบคลื่นตรงเป็นหลัก ซึ่งมักจะโดนปิดกั้นด้วยเนินเขาและอาคารขนาดใหญ่แม้ว่าการส่งผ่านกำแพงอาคารจะมีความแข็งแรงเพียงพอสำหรับการรับสัญญาณในร่มก็ตาม ยูเอชเอฟใช้สำหรับการออกอากาศโทรทัศน์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ การสื่อสารผ่านดาวเทียม ซึ่งรวมถึงจีพีเอส บริการวิทยุส่วนบุคคล รวมถึงไวไฟและบลูทูธ เครื่องส่งรับวิทยุ โทรศัพท์ไร้สาย และแอปพลิเคชันอื่น ๆ อีกมากมาย

สถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (IEEE) กำหนดแถบเรดาร์ของยูเอชเอฟให้อยู่ในช่วงความถี่ระหว่าง 300 เมกะเฮิรตซ์ถึง 1 กิกะเฮิรตซ์[1] และมีแถบเรดาร์อีก 2 วงทับซ้อนกับแถบยูเอชเอฟที่กำหนดโดย ITU คือแถบ L ระหว่าง 1 - 2 กิกะเฮิรตซ์ และแถบ S ระหว่าง 2 - 3 กิกะเฮิรตซ์

ยูเอชเอฟในการสื่อสาร

[แก้]

ย่านความถี่ 70 เซนติเมตร

[แก้]

ความถี่ย่าน 70 เซนติเมตร เป็นส่วนหนึ่งของแถบความถี่ UHF ซึ่งถูกจัดสรรให้กับกิจการวิทยุสมัครเล่น

ระบบทรังค์เรดิโอ

[แก้]

วิทยุสื่อสารระบบทรังค์ (Trunked Radio) คือระบบวิทยุสื่อสารที่มีหลักการทำงานคล้ายกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีสถานีกลาง (System Control) คอยจัดช่องสัญญาณในการติดต่อสื่อสารกับลูกข่าย มีสถานีทวนสัญญาณเชื่อมโยงโครงข่ายให้ครอบคลุม และสามารถเลือกที่จะสื่อสารแบบเฉพาะเจาะจงได้ รวมถึงเชื่อมต่อกับระบบสื่อสารรูปแบบอื่นได้ ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นระบบดิจิทัล ทำให้ข้อมูลในการมีความปลอดภัยสูง และเพิ่มคุณสมบัติในการรับส่งข้อมูลหลากหลายมากขึ้น นิยมใช้งานในหน่วยงานรัฐและเอกชน[2]

ในประเทศไทย กสทช. ได้กำหนดคลื่นความถี่ในช่วง UHF สำหรับในการใช้งานสื่อสารด้วยระบบทรังค์เรดิโอประกอบไปด้วย

ทรังค์เรดิโอ

[แก้]
  • ความถี่ย่าน 806 - 814 MHz และ 851 - 859 MHz ในลักษณะแบบเป็นคู่[3]
    • ความถี่ย่าน 806.00 - 814.00 MHz เป็นความถี่รับ
    • ความถี่ย่าน 851.00 - 859.00 MHz เป็นความถี่ส่ง

ดิจิทัลทรังค์เรดิโอ

[แก้]
  • ความถี่ย่าน 380 - 399.9 MHz ในลักษณะแบบเป็นคู่[4]
    • ความถี่ย่าน 380.00 - 389.99 MHz เป็นความถี่รับของสถานีแม่ข่าย
    • ความถี่ย่าน 390.00 - 399.99 MHz เป็นความถี่ส่งของสถานีแม่ข่าย
  • เตรียมพร้อมเพื่อรองรับการใช้งาน
    • ความถี่ย่าน 410.00 - 430.00 MHz[5]

ยูเอชเอฟในวิทยุโทรทัศน์

[แก้]

ยูเอชเอฟเริ่มนำมาใช้ในการส่งโทรทัศน์เป็นครั้งแรกที่สหรัฐในปี พ.ศ. 2491 เป็นคลื่นความถี่ที่ใช้คู่ขนานกับระบบวีเอชเอฟของเครื่องส่งและเสาส่งสำหรับโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก และอาจจะเป็นคลื่นความถี่ที่ถูกบังคับสำหรับการส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ซึ่งคาดว่าทั่วโลกจะต้องเปลี่ยนผ่านให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2558

ในการออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟมีช่วงเลขประจำช่องระหว่างช่อง 14 - 83 (470-890 MHz)

ส่วนในประเทศไทย มีช่องสัญญาณอยู่ที่ช่อง 21 - 69 แต่ในกรณีช่อง 21 - 25 และ 61 - 69 กรมไปรษณีย์โทรเลข (ปัจจุบันถูกเปลี่ยนมาเป็นสำนักงาน กสทช.) ได้สงวนช่องสัญญาณไว้ดังกล่าว เพื่อใช้ในระบบการสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือแบบรวงผึ้ง จึงทำให้ประเทศไทย สามารถใช้ช่องสัญญาณเพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ได้ตั้งแต่ช่องที่ 26 - 60 เท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา สำนักงาน กสทช. ได้ปรับเปลี่ยนการใช้งานระบบยูเอชเอฟสำหรับออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล โดยให้ดำเนินการออกอากาศโดยปรับลดไปยังช่องความถี่ที่ต่ำลงกว่าเดิม คือช่องที่ 21 - 48 ทั้งนี้ เนื่องจากจะต้องนำคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ขึ้นไป ไปจัดสรรและมอบให้แก่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายต่าง ๆ เพื่อให้นำไปใช้และให้บริการเครือข่ายการสื่อสารระบบ 5 จี ซึ่งจะเริ่มทดลองและให้บริการจริงตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2563

ตัวอย่างการใช้ระบบยูเอชเอฟในประเทศไทย

[แก้]

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เริ่มดำเนินโครงการ สถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟเมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยมีการเปิดประมูลรับสัมปทาน เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2538 โดย กลุ่มสยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่น (แปรรูปเป็น บริษัท สยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด เมื่อได้รับอนุมัติสัมปทานแล้ว และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541) เป็นผู้ได้รับอนุมัติสัมปทานดังกล่าว โดยใช้ชื่อสถานีว่า สถานีโทรทัศน์ไอทีวี นับเป็นสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟแห่งแรกของประเทศไทย ออกอากาศทางช่อง 26 และเปลี่ยนมาเป็นช่อง 29 ในภายหลัง โดยเริ่มต้นออกอากาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 และได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550 และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551

ราวปลายปี พ.ศ. 2546 คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ในขณะนั้น อนุมัติให้จัดสรรคลื่นความถี่ในระบบยูเอชเอฟแก่สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เพื่อใช้ออกอากาศทดแทนคลื่นความถี่เดิม (วีเอชเอฟย่านความถี่ต่ำ ทางช่องสัญญาณที่ 3) เป็นจำนวน 5 ช่องสัญญาณ เพื่อแก้ปัญหาการส่งสัญญาณไม่ได้จากการถูกตึกสูงบดบัง โดยช่อง 3 ได้ทำการออกอากาศในระบบยูเอชเอฟทางช่อง 32 ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548 เวลา 09:39 น. โดยได้ยุติการออกอากาศในระบบวีเอชเอฟความถี่ต่ำเป็นการถาวรในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 จากนั้นหลังจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกเมื่อเวลา 00:01 น. ของวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ช่อง 3 ก็กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ช่องเดียวที่ออกอากาศในระบบยูเอชเอฟจนกระทั่งยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 00:01 น.

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "IEEE 521-2002 - IEEE Standard Letter Designations for Radar-Frequency Bands". Standards.ieee.org. สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2017.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. ""วิทยุสื่อสาร ระบบ ทรั้งค์แบบ ดิจิทัล" โทรคมนาคมที่มีอนาคตดีอีกระบบหนึ่ง". m.mgronline.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. สำนักงาน กสชท. ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบก ระบบ Trunked Radio ย่านความถี่ ๘๐๖ - ๘๑๔ เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ ๘๕๑ - ๘๕๙ เมกะเฮิรตซ์ (MHz) (nbtc.go.th)
  4. สำนักงาน กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบก ระบบ Digital Trunked Radio ย่านความถี่ 380 - 399.9 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) (nbtc.go.th)
  5. สำนักงาน กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ย่านความถี่ 380 - 510 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)[ลิงก์เสีย] (nbtc.go.th)