Location via proxy:   [ UP ]  
[Report a bug]   [Manage cookies]                
ข้ามไปเนื้อหา

คำประกาศพิลนิทซ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การประชุมที่ปราสาทพิลนิทซ์ใน ค.ศ. 1791. ภาพวาดสีน้ำมันโดย J. H. Schmidt, ค.ศ. 1791.

คำประกาศพิลนิทซ์ (อังกฤษ: Declaration of Pillnitz) เป็นคำแถลงการณ์ห้าประโยค[1] ซึ่งพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย และจักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จากราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค ผู้เป็นพระเชษฐาของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ทรงออกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1791 ณ ปราสาทพิลนิทซ์ ใกล้เมืองเดรสเดิน (แซกโซนี)[2] โดยประกาศว่า ปรัสเซียกับจักรวรรดิโรมันจะร่วมกันสนับสนุนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส ต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศส[3]

ภูมิหลัง

[แก้]

ตั้งแต่เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 เป็นต้นมา จักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 ทรงเป็นกังวลขึ้นเรื่อย ๆ ถึงความปลอดภัยของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ผู้เป็นพระขนิษฐา รวมถึงครอบครัวของพระนาง แต่ก็ทรงรู้สึกว่า การเข้าแทรกแซงอย่างใด ๆ ในกิจการของประเทศฝรั่งเศสนั้น มีแต่จะทำให้พวกเขาเป็นอันตรายมากขึ้น[4] ขณะเดียวกัน ชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศสหลายคนก็พากันหลบหนีออกจากประเทศไปอาศัยอยู่ในเพื่อนบ้าน แพร่กระจายความหวาดกลัวการปฏิวัติไปทั่ว และปลุกเร้าให้ต่างชาติช่วยกันหนุนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16[5] ครั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชวงศ์เสด็จหนีจากปารีสเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1791 โดยหวังจะไปยุยงให้เกิดการต่อต้านการปฏิวัติ (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า การเสด็จหนีไปวาแรน) แล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ทรงถูกจับกลับมาปารีส และทรงถูกกักขังไว้ภายใต้ความควบคุมของกองกำลังติดอาวุธ กระทั่งวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1791 จักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 ก็ทรงออกหนังสือเวียนปาโดวา (Padua Circular) เชิญชวนให้กษัตริย์ในยุโรปมาร่วมกันเรียกร้องให้ปล่อยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นอิสระ[6]

วัตถุประสงค์

[แก้]

คำประกาศนี้เชิญชวนให้มหาอำนาจยุโรปเข้าแทรกแซงหากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกคุมคาม โดยมุ่งหมายจะให้เป็นคำเตือนต่อคณะปฏิวัติฝรั่งเศสว่า ให้เลิกละเมิดพระราชอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และยอมให้พระองค์กลับคืนสู่อำนาจ[7]

คำประกาศนี้ว่า ถ้าบรรดามหาอำนาจอื่น ๆ ในยุโรปจะเปิดสงครามกับฝรั่งเศสแล้ว ออสเตรียก็จะร่วมด้วย จักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 ทรงเลือกใช้ถ้อยคำเช่นนี้เพื่อที่ว่า พระองค์จะไม่ต้องทรงถูกบีบให้เข้าสู่สงคราม พระองค์ทรงรู้ดีว่า วิลเลียม พิตต์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ไม่สนับสนุนการทำสงครามกับฝรั่งเศส แต่ก็ทรงออกคำประกาศนี้เพื่อให้เป็นที่พอใจของเหล่าชาวฝรั่งเศสผู้ลี้ภัยมาในประเทศของพระองค์และเรียกร้องให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงบ้านเกิดเมืองนอนของพวกตน[ต้องการอ้างอิง]

(ส่วนการประชุมพิลนิทซ์เองมีเนื้อหาหลัก ๆ ว่าด้วยปัญหาโปแลนด์และสงครามระหว่างออสเตรียกับจักรวรรดิออตโตมัน)

เนื้อความ

[แก้]

"โดยที่ได้ทรงทราบถึงความปรารถนาของพระองค์ท่านและของท่านเคานต์แห่งอาร์ตัวแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งปรัสเซียจึงขอร่วมกันประกาศว่า จะทรงถือว่า สถานการณ์ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ของพระราชาธิบดีแห่งฝรั่งเศสนั้นเป็นเรื่องผลประโยชน์ร่วมกันของบรรดาพระมหากษัตริย์ยุโรป ทรงหวังว่า มหาอำนาจทั้งหลายที่ได้รับคำร้องขอให้ช่วยเหลือนั้นจะไม่เพิกเฉยต่อผลประโยชน์นี้เสีย และฉะนั้น มหาอำนาจเหล่านี้ พร้อมด้วยสมเด็จทั้งสองดังกล่าว จะไม่ปฏิเสธการดำเนินวิธีการที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในกองทัพของพวกตน เพื่อดลให้พระราชาธิบดีแห่งฝรั่งเศสทรงอยู่ในสถานะที่จะเสริมสร้างรากฐานการปกครองในระบอบกษัตริย์อันเหมาะสมกับพระราชสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์และสวัสดิภาพของชาวฝรั่งเศสได้อย่างเต็มตามพระทัยปรารถนา ฉะนั้น และในการนี้ สมเด็จทั้งสองดังกล่าว คือ พระจักรพรรดิและพระราชาธิบดีแห่งปรัสเซียนั้น จึงมั่นพระทัยแล้วว่า จะทรงดำเนินการโดยพลันและโดยสอดคล้องต้องกัน ด้วยการใช้กองทัพตามที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังที่เสนอร่วมกันไว้ ในระหว่างนั้น ทั้งสองพระองค์จะมีพระบัญชาตามความเหมาะสมไปยังกองทหารของพระองค์ให้เตรียมพร้อมเริ่มปฏิบัติการ"[8]

ผลพวง

[แก้]

สมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสตีความว่า ประกาศนี้หมายความว่า ออสเตรียกับปรัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อการปฏิวัติ ส่งผลให้คณะปฏิวัติเกิดแนวคิดถอนรากถอนโคน และทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้น[9] ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1791 สมัชชาแห่งชาติลงมติให้ผนวกพื้นที่กงตาเวอแนแซ็ง ซึ่งรวมถึงอาวีญง เข้ากับฝรั่งเศส โดยแยกออกมาจากรัฐสันตะปาปา[10] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 ออสเตรียกับปรัสเซียจึงตกลงเป็นพันธมิตรกันเพื่อเตรียมตั้งรับ[11] ชาวฝรั่งเศสหัวรุนแรงซึ่งเรียกร้องให้เปิดสงคราม ดังเช่นฌัก ปีแยร์ บรีโซนั้น อาศัยคำประกาศฉบับนี้เป็นข้ออ้างเพื่อเพิ่มพูนอิทธิพลและประกาศสงครามในวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1792 ซึ่งต่อมาก่อให้เกิดการทัพ ค.ศ. 1792 ในสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Amy Tikkanen, Thinley Kalsang Bhutia (20 August 2021). "Declaration of Pillnitz". Encyclopaedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 20 February 2022.
  2. Schama, S. Citizens p.586 penguin 1989
  3. Chronicle of the French Revolution p.232 Longman Group 1989
  4. Schama S. Citizens p.590 Penguin 1989
  5. Schama, S. Citizens p.586 Penguin 1989
  6. Chronicle of the French Revolution p.225 Longman Group 1989
  7. Karl Otmar von Aretin: Vom Deutschen Reich zum Deutschen Bund. Vandenhoeck & Ruprecht, 1993, ISBN 978-3-525-33583-3, p. 24. (ในภาษาเยอรมัน)
  8. Translation of the text as given in the French Wikipedia, fr:Déclaration de Pillnitz, section La conference
  9. Amy Tikkanen, Thinley Kalsang Bhutia (20 August 2021). "Declaration of Pillnitz". Encyclopaedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 20 February 2022.
  10. Amy Tikkanen, Thinley Kalsang Bhutia (20 August 2021). "Declaration of Pillnitz". Encyclopaedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 20 February 2022.
  11. Amy Tikkanen, Thinley Kalsang Bhutia (20 August 2021). "Declaration of Pillnitz". Encyclopaedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 20 February 2022.
  12. Thomas Lalevée, "National Pride and Republican grandezza: Brissot’s New Language for International Politics in the French Revolution", French History and Civilisation (Vol. 6), 2015, pp. 66-82.