ถนนสี่พระยา
สี่พระยา | |
---|---|
จุดเริ่มต้นของถนนอยู่ใกล้กับท่าเรือสี่พระยามองไปทางแยกสี่พระยา ซึ่งเป็นจุดที่พบกับถนนเจริญกรุง | |
ข้อมูลของเส้นทาง | |
ความยาว | 1.645 กิโลเมตร (1.022 ไมล์) |
ประวัติ | |
ทางแยกที่สำคัญ | |
ปลายทางทิศตะวันตก | ซอยกัปตันบุช ในเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร |
| |
ปลายทางทิศตะวันออก | ถนนพระรามที่ 4 / ถนนพญาไท ในเขตบางรัก / เขตปทุมวันกรุงเทพมหานคร |
ถนนสี่พระยา (อักษรโรมัน: Thanon Si Phraya) ถนนสายหนึ่งในพื้นที่เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ถือเป็นถนนสายรองของพื้นที่ เป็นถนนเชื่อมระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนพระรามที่ 4 ความยาวทั้งหมด 1,645 เมตร มีจุดเริ่มต้นที่แขวงบางรัก ที่ด้านหน้าโรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน ใกล้กับศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ จนกระทั่งไปสิ้นสุดที่แยกสามย่านอันเป็นจุดตัดระหว่างถนนพระรามที่ 4 กับถนนพญาไท โดยทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างแขวงสี่พระยากับแขวงมหาพฤฒาราม
ประวัติ
[แก้]ชื่อถนนสี่พระยามีที่มาจากการที่ขุนนางซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา 4 คน ได้แก่ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์), พระยาพิพัฒโกษา (เซเรสติโน ซาเวียร์), พระยานรฤทธิ์ราชหัช (ทองดี โชติกเสถียร) และพระยานรนารถภักดี (สุด บุนนาค) รวมถึงหลวงมนัศมานิต (เถียน โชติกเสถียร) ได้ร่วมกันซื้อที่ดินระหว่างถนนสุรวงศ์กับคลองผดุงกรุงเกษมและสร้างผ่านที่ดินเชื่อมต่อกับถนนเจริญกรุง คือ วัดหัวลำโพงไปตกท่าน้ำ คือ ท่าน้ำสี่พระยา พระยาทั้ง 4 คนได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "ถนนสี่พระยา" เมื่อ พ.ศ. 2449 ตามที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ทรงกราบบังคมทูลถวายความเห็น แต่มีพระราชกระแสว่า ถนนสี่พระยานี้เจ้าของมิได้ตัดเพื่อสาธารณประโยชน์ แต่ทำเพื่อผลประโยชน์ โดยทรงเทียบว่าไม่เหมือนกับวัดสามพระยา แต่ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามดังกล่าว และเสด็จพระราชดำเนินเปิดถนนสี่พระยาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน
แนวเส้นทาง
[แก้]ถนนสี่พระยาเป็นถนนขนาด 3 ช่องจราจร ในช่วงแรกจะจัดการจราจรแบบทิศทางเดียว เริ่มจากตรอกกัปตันบุช (ซอยเจริญกรุง 30) ซึ่งอยู่ระหว่างตรอกฮ่องกงกับที่ทำการไปรษณีย์กลางบางรัก ถึงแยกนเรศ จากนั้นจะจัดการจราจรแบบสองทิศทาง ไปจนถึงแยกสามย่าน โดยมีทิศทางมุ่งหน้าแยกสามย่าน 2 ช่องจราจร และมุ่งหน้าแยกนเรศ 1 ช่องจราจร พื้นที่บริเวณนี้ในอดีตเป็นแหล่งการค้าขายสำคัญที่ต่อเนื่องมาจากย่านเยาวราช, สำเพ็ง และตลาดน้อย ในเขตสัมพันธวงศ์ เป็นที่ตั้งของบริษัทห้างร้านใหญ่ ๆ หลายแห่ง เช่น ห้างเซ็นทรัลสาขาแรก (บริเวณปากตรอก), โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ (โรงพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย), สถานทูตโปรตุเกส (สถานทูตแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร ตัวอาคารสถานทูตเป็นสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม), อาคารศุลกสถาน (โรงภาษีที่เก็บภาษีจากเรือสินค้าต่างชาติ ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบปัลลาดีโอ), ที่ทำการหอการค้าไทย (แรกเริ่มก่อตั้ง คือ บริษัทเอ็กซอนโมบิล) เป็นต้น และยังมีบ้านเรือนของชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวตะวันตกอีกมากด้วย ปัจจุบันหลายหลังก็ยังปรากฏอยู่[1]
รายชื่อทางแยก
[แก้]จังหวัด | กม.ที่ | ชื่อจุดตัด | ซ้าย | ขวา | |
---|---|---|---|---|---|
ซอยกัปตันบุช – สามย่าน (ถนนสี่พระยา) | |||||
กรุงเทพมหานคร | 0+000 | ซอยกัปตันบุช | เชื่อมต่อจาก: ซอยกัปตันบุช | ||
0+200 | แยกสี่พระยา | ถนนเจริญกรุง ไป | ไม่มี | ||
0+470 | แยกสี่พระยา-มหานคร | ถนนมหานคร ไปถนนพระรามที่ 4 | ถนนมหาเศรษฐ์ ไปถนนสุรวงศ์ | ||
1+100 | แยกนเรศ | ไม่มี | ถนนนเรศ ไปถนนสุรวงศ์ | ||
1+400 | แยกทรัพย์ | ไม่มี | ถนนทรัพย์ ไปถนนสุรวงศ์ | ||
1+645 | แยกสามย่าน | ถนนพระรามที่ 4 ไปหัวลำโพง | ถนนพระรามที่ 4 ไปศาลาแดง | ||
ตรงไป: ถนนพญาไท ไปปทุมวัน | |||||
สะพาน กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ อรณี แน่นหนา. นามนี้มีที่มา. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น, 2545. 216 หน้า. หน้า 52–53. ISBN 9789742308483
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ถนนสี่พระยา
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์