ปิอาสเตอร์
ปิอาสเตอร์ (ภาษาอังกฤษ: Piastre หรือ Piaster) เป็นสกุลเงินตราของหลายประเทศในอดีต คำว่าปิอาสเตอร์มีที่มาจากคำในภาษาอิตาลีที่แปลว่า "แผ่นเงินบาง ๆ" เดิมทีเป็นชื่อที่พ่อค้าชาวเวนิสในตะวันออกกลางในศตวรรษที่ 16 ใช้เรียกขานสกุลเงินเปโซของสเปน หรือเปโซของอาณานิคมสเปนในทวีปอเมริกา
ในศตวรรษที่ 16 ถือว่าสกุลเงินเปโซเป็นสกุลเงินที่มีการผลิตใช้อย่างต่อเนื่องแพร่หลายมายาวนานหลายศตวรรษและได้รับการยอมรับจากพ่อค้าในหลายภูมิภาคของโลก ต่อมาภายหลังจากที่ประเทศในละตินอเมริกาได้รับเอกราช เงินเปโซของเม็กซิโกก็เริ่มหลั่งไหลไปตามเส้นทางการค้าต่าง ๆ และกลายเป็นสกุลเงินหลักในภูมิภาคตะวันออกไกล โดยเข้ามาแทนที่สกุลเงินเปโซของสเปนซึ่งมีใช้มาก่อนโดยชาวสเปนในมะนิลาและชาวโปรตุเกสในดินแดนมะละกา เมื่อภูมิภาคอินโดจีนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส รัฐบาลฝรั่งเศสจึงประกาศใช้สกุลเงินใหม่เรียกว่าสกุลเงินปิอาสเตอร์อินโดจีนของฝรั่งเศส (piastre de commerce) ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับสกุลเงินเปโซของสเปนและเปโซของเม็กซิโกซึ่งมีใช้มาก่อน
ในจักรวรรดิออตโตมัน คำว่าปิอาสเตอร์เป็นชื่ออย่างลำลองที่ชาวยุโรปใช้เรียกสกุลเงิน กุรุส ของจักรวรรดิออตโตมัน การปฏิรูปสกุลเงินอย่างต่อเนื่องช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ได้ลดมูลค่าของปิอาสเตอร์ออตโตมันลง จนมีมูลค่าเหลือเพียงประมาณสองเพนนี (2d) ของสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิง ดังนั้นชื่อสกุลเงิน ปิอาสเตอร์ จึงมีความหมายถึงสกุลเงินสองสกุลที่แตกต่างกันและใช้อยู่ในสองภูมิภาคที่ห่างไกลกันอย่างสิ้นเชิง แต่กระนั้นทั้งสองสกุลเงินก็มีที่มาจากสกุลเงินเปโซของสเปน
เนื่องจากมูลค่าของค่าเงินปิอาสเตอร์ในตะวันออกกลางตกต่ำลง ปิอาสเตอร์เหล่านี้จึงกลายเป็นหน่วยย่อยสำหรับสกุลเงินปอนด์ในตุรกี เลบานอน ไซปรัส และ อียิปต์ [1] ในขณะเดียวกัน ในอินโดจีน สกุลเงินปิอาสเตอร์ยังมีการใช้ต่อไปจนถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสกุลเงินเรียลของกัมพูชา, สกุลเงินกีบของลาว, และสกุลเงินดองของเวียดนาม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Thimm, Carl Albert. "Egyptian Money". Egyptian Self-Taught. William Brown & Co., Ltd., St. Mary Axe, London, E.C.