Location via proxy:   [ UP ]  
[Report a bug]   [Manage cookies]                
ข้ามไปเนื้อหา

รัฐประหารเดือนพฤษภาคม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การโค่นอำนาจเดือนพฤษภาคม
ภาพประกอบเหตุการณ์การโค่นล้มอำนาจเดือนพฤษภาคม ตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1903 ในหนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศส เลอ พีตี ปารีเชียง (Le Petit Parisien)
วันที่28 พฤษภาคม - 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1903
(ตามปฏิทินจูเลียน)
10 มิถุนายน - 11 มิถุนายน ค.ศ. 1903
(ตามปฏิทินเกรโกเรียน)
ที่ตั้งเซอร์เบีย
ชื่ออื่นรัฐประหารเดือนพฤษภาคม
ผู้เข้าร่วมกลุ่มทหารนำโดยดรากูทิน ดิมิทรีเจวิก เอพิส
ผลราชวงศ์โอเบรโนวิชถูกโค่นล้มและแทนที่ด้วยราชวงศ์คาราจอร์เจวิช

การโค่นล้มอำนาจเดือนพฤษภาคม หรือ รัฐประหารเดือนพฤษภาคม (อังกฤษ: May Overthrow; May Coup; เซอร์เบีย: Мајски преврат, Majski prevrat) เป็นเหตุการณ์รัฐประหารในเซอร์เบีย ที่ซึ่งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 โอเบรโนวิชและสมเด็จพระราชินีดรากาถูกลอบปลงพระชนม์ภายในพระราชวังหลวง กรุงเบลเกรด ในกลางดึกของวันที่ 28 - 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1903 ตามปฏิทินจูเลียน (วันที่ 10 -11 มิถุนายน ตามปฏิทินเกรโกเรียน) เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการสิ้นสุดของราชวงศ์โอเบรโนวิชซึ่งปกครองเซอร์เบียมาตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 การลอบปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีได้กระทำขึ้นโดยกลุ่มที่นำโดยนายทหาร ดรากูทิน ดิมิทรีเจวิก เอพิส หลังเหตุการณ์การโค่นล้มอำนาจเดือนพฤษภาคม ราชบัลลังก์ได้ถูกส่งผ่านไปยังศัตรูของราชวงศ์โอเบรโนวิชซึ่งก็คือ ราชวงศ์คาราจอร์เจวิช รัฐประหารได้สร้างอิทธิพลที่สำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเซอร์เบียกับมหาอำนาจยุโรป ซึ่งราชวงศ์โอเบรโนวิชเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในขณะที่ราชวงศ์คาราจอร์เจวิชมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทั้งจักรวรรดิรัสเซีย[1] และฝรั่งเศส ราชวงศ์ทั้งสองได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากผู้สนับสนุนต่างชาติที่เป็นมหาอำนาจ[2]

ไม่เพียงแต่พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีที่ถูกปลงพระชนม์ กลุ่มผู้ก่อการได้สังหารนายกรัฐมนตรี ดิมิทรีเย ซินซา-มาร์โกวิก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มิโลวาน ปาฟโลวิกด้วย

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

[แก้]
พระเจ้ามิลานที่ 1 แห่งเซอร์เบีย

ในช่วงที่เซอร์เบียได้รับการปลดปล่อยออกจากจักรวรรดิออตโตมันในการปฏิวัติเซอร์เบียปีค.ศ. 1804 - 1835 ทำให้กลายเป็นราชรัฐอิสระที่ปกครองโดยฝ่ายต่าง ๆ แวดล้อมด้วยราชวงศ์โอเบรโนวิชและคาราจอร์เจวิช ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากออสเตรีย-ฮังการีและคู่แข่งอย่างรัสเซีย[3] ราชตระกูลโอเบรโนวิชสนับสนุนออสเตรียในขณะที่ศัตรูอย่างราชตระกูลคาราจอร์เจวิชสนับสนุนรัสเซีย แต่ละราชตระกูลต่างมีมหาอำนาจคอยให้การสนับสนุนด้านการเงิน

หลังจากการลอบปลงพระชนม์เจ้าชายมิไฮโล โอเบรโนวิชที่ 3 ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1868 (ปฏิทินเก่า) พระญาติของพระองค์คือ เจ้าชายมิลาน โอเบรโนวิชที่ 4 ได้รับเลือกเป็นองค์อธิปัตย์แห่งเซอร์เบียพระองค์ต่อไป เจ้าชายมิลานทรงอภิเษกสมรสกับนาตาลี เคสโก ธิดาของขุนนางโบยาร์จากมอลเดเวีย เจ้าชายมิลานเป็นพระประมุขเผด็จการและไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน ในระหว่างรัชกาลของพระองค์ เซอร์เบียกลายเป็นประเทศเอกราชและได้รับดินแดนในปีค.ศ. 1878 จากการประชุมใหญ่ที่เบอร์ลิน นับตั้งแต่รัสเซียได้พยายามสนับสนุนบัลแกเรียตามสนธิสัญญาซานสเตฟาโน เจ้าชายมิลานทรงอาศัยกำลังของออสเตรีย-ฮังการีในฐานะพันธมิตร เจ้าชายมิลานทรงสถาปนาพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ พระนาม พระเจ้ามิลานที่ 1 แห่งเซอร์เบีย พระชายาได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชินีนาตาลียา ในปีค.ศ. 1882 กองทัพของพระองค์พ่ายแพ้ในสงครามเซอร์เบีย-บัลแกเรียและกบฏติม็อคที่นำโดยกลุ่มของพรรคปฏิกิริยาประชาชน เหตุการณ์เหล่านี้ได้ทำลายความนิยมในพระเจ้ามิลาน

สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้นแม้กระทั่งพระชนม์ชีพส่วนพระองค์ หลังจากอภิเษกสมรสเป็นเวลา 10 ปี พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีทรงทะเลาะกันรุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น พระเจ้ามิลานเป็นพระสาวมีที่ไม่ซื่อสัตย์และสมเด็จพระราชินีนาตาลียาทรงได้รับอิทธิพลอย่างมากต่อรัสเซีย ในปีค.ศ. 1886 ทั้งสองพระองค์ที่ไม่ทรงเข้ากันได้ทั้งเรื่องส่วนพระองคืและทัศนคติทางการเมืองก็ตัดสินพระทัยแยกกันประทับ สมเด็จพระราชินีนาตาลียาเสด็จออกจากราชอาณาจักรโดยทรงพาเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ (ต่อมาคือพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1) พระโอรสพระชนมายุ 10 พรรษาไปกับพระนางด้วย ขณะที่สมเด็จพระราชินีประทับอยู่ที่วีสบาเดินในปีค.ศ. 1888 พระเจ้ามิลานทรงประสบความสำเร็จในการนำมกุฎราชกุมารคืนมาจากสมเด็จพระราชินี และพระองค์ทรงทำหน้าที่ให้การศึกษาพระโอรส ในขณะทรงตอบกลับการประท้วงของสมเด็จพระราชินี พระเจ้ามิลานทรงกดดันสังฆราชแห่งเบลเกรดและทรงได้รับการหย่าร้างกับสมเด็จพระราชินีซึ่งต่อมามีการประกาศว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

สมเด็จพระราชินีนาตาลียาแห่งเซอร์เบีย

ในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1889 พระเจ้ามิลานทรงประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่ารัฐธรรมนูญปีค.ศ. 1869 สองเดือนถัดมา ในวันที่ 6 มีนาคม พระเจ้ามิลานทรงสละราชบัลลังก์แก่พระโอรสอย่างกะทันหัน โดยไม่ทรงมีเหตุผลเป็นที่น่าพอใจในการกระทำครั้งนี้ หลังจากสละราชบัลลังก์ อดีตพระเจ้ามิลานทรงแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ พระราชโอรส และเสด็จออกจากประเทศไปประทับที่ปารีสอย่างสามัญชน สมาชิกในคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินประกอบด้วย โจวาน ริสติก, นายพลคอสตา โพรติกและนายพลโจวาน เบลิมาร์โควิก ฝ่ายปฏิกิริยาได้รับการพระราชทานอภัยโทษและกลับเข้าสู่การเมือง ฝ่ายปฏิกิริยาคือ ซาวา กรูจิกได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งต่อจากนั้นคือรัฐบาลของนิโกลา พาสิก หัวหน้าพรรคปฏิกิริยา หลังจากนโยบายสนับสนุนออสเตรียของพระเจ้ามิลาน ฝ่ายปฏิกิริยามีนโยบายใกล้ชิดกับรัสเซีย ในฤดูร้อน ค.ศ. 1891 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์และพาสิกได้เข้าพบพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย พระองค์สัญญาว่าจะไม่ให้ออสเตรีย-ฮังการีผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาและรัสเซียจะสนับสนุนผลประโยชน์ของเซอร์เบียในดินแดนเซอร์เบียเก่าและภูมิภาคมาซิโดเนีย

อดีตสมเด็จพระราชินีนาตาลียา พระมารดาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ในขณะที่จะมีการหย่าขาดกับพระเจ้ามิลาน พระนางทรงถูกเนรเทศออกจากเบลเกรดตามคำของของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เนื่องจากพระนางทรงขัดแย้งกับคณะผู้สำเร็จราชการ พระนางเสด็จไปประทับที่ชายฝั่งฝรั่งเศสที่เมืองบีอาร์ริตซ์พร้อมกับนางสนองพระโอษฐ์ของพระนางคือ ดรากา มาซิน

หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของโพรติก ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1892 ได้เกิดความขัดแยังระหว่างนิโกลา พาสิก ซึ่งต้องการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เอง กับผู้สำเร็จราชการอีกคนหนึ่งคือ ริสติก ซึ่งไม่ชอบพาสิก ในปีค.ศ. 1892 ริสติกได้ถ่ายโอนอำนาจรัฐฐาลแก่พรรคเสรีนิยม ซึ่งเป็นพรรคที่เขาเกี่ยวข้องด้วย และได้แต่งตั้งโจวาน อะวาคูโมวิกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ การกระทำเช่นนี้และการดำเนินการของพรรคเสรีนิยมทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรงในประเทศ ในวันที่ 1 (วันที่ 13) เมษายน ค.ศ. 1893 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงมีอุบายที่ประสบความสำเร็จโดยมีพระบัญชาให้ขังคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระราชวัง และทรงประกาศพระองค์เองว่าทรงบรรลุนิติภาวะ พระองค์ทรงเรียกฝ่ายปฏิกิริยามาเข้าเฝ้า มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีอย่างรวดเร็วตั้งแต่ ลาซาร์ โดกิก, ซาวา กรูจิก, จอร์เจ ซีมิกและสเวโตซาร์ นิโกลาเจวิก หนึ่งในทหารที่ช่วยให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จับกุมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือผู้ซึ่งต่อมาเป็นพันเอก ลาซา เปโทรวิก

ในช่วงต้นรัชกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงถูกกำหนดบทบาทโดยรัฐบาลทั้งในเรื่องการทหาร เศรษฐกิจและชีวิตทางการเงินของรัฐ พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง และเพื่อยับยั้งฝ่ายปฏิกิริยา ในวันที่ 9 มกราคม พระองค์ทูลเชิญให้พระราชบิดาเสด็จกลับเซอร์เบีย รัฐบาลฝ่ายปฏิกิริยาได้ประกาศลาออกโดยทันทีและย้ายไปเป็นฝ่ายค้าน อทธิพลของอดีตพระเจ้ามิลานอาจจะสามารถเห็นได้ในทันทีหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับเซอร์เบีย

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงพยายามรักษานโยบายความเป็นกลางของรัฐบาลแต่พระองค์ก็ไม่ทรงประสบความสำเร็จมากนัก ดังนั้นในวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1894 พระองค์ก็ทรงก่อการรัฐประหารอีกครั้ง ทรงประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญปีค.ศ. 1888 และประกาศบังคบใช้รัฐธรรมนูญเก่าคือ ฉบับปีค.ศ. 1869 อดีตพระเจ้ามิลานเสด็จกลับเซอร์เบียได้ไม่นานเนื่องจากทรงมีความขัดแย้งกับพระราชโอรสอย่างรวดเร็ว หนึ่งสัปดาห์หลังจากอดีตพระเจ้ามิลานออกเดินทาง อดีตสมเด็จพระราชินีนาตาลียาก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เสด็จกลับเซอร์เบีย[4] พระนางนาตาลียาทูลเชิญให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เสด็จมาเยี่ยมที่บีอาร์ริตซ์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อทรงเยี่ยมพระราชมานดา พระองค์ทรงพบกับดรากา ผู้ซึ่งมีอายุมากกว่าพระองค์ถึง 12 ปี พระองค์ทรงตกหลุมรักดรากาในทันที อดีตสมเด็จพระราชินีนาตาลียาทรงทราบถึงเรื่องราวนี้แต่พระองค์ก็ไม่สนพระทัยมากนัก ด้วยทรงเชื่อว่าเป็นความสัมพันธ์เพียงระยะสั้น ๆ

ในขณะเดียวกัน พรรคก้าวหน้าเซอร์เบียนำโดยสโตยัน โนวาโควิกได้จัดตั้งรัฐบาล ด้วยพระบัญชาของพระราชบิดา พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้เสด็จเยือนเวียนนา และทรงลงพระนามในสนธิสัญญาพันธไมตรีระหว่างเซอร์เบียกับออสเตรีย พระองค์ทรงปูนบำเหน็จแก่เบนี คัลเลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของออสเตรียและรัฐมนตรีประจำบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา การที่ทรงทำเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อเซอร์เบียเพราะได้สร้างแนวโน้มให้ออสเตรีย-ฮังการีผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา[4] เกิดเป็น "วิกฤตการณ์บอสเนีย"

การอภิเษกสมรสกับดรากา มาซิน ลุนเยวิกา

[แก้]
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 และสมเด็จพระราชินีดรากา

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทูลเชิญให้พระราชบิดาเสด็จกลับมาอีกครั้ง เมื่ออดีตพระเจ้ามิลานเสด็จมาถึงในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1897 รัฐบาลใหม่ได้ถูกจัดตั้งโดย วลาดัน จอร์เจวิก ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อดีจพระเจ้ามิลานทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพที่ปฏิบัติหน้าที่แห่งราชอาณาจักรเซอร์เบีย พร้อม ๆ กันกับรัฐบาลใหม่ อดีตพระเจ้ามิลานทรงคัดเลือกเจ้าหญิงจากประเทศตะวันตกที่เหมาะสมพอจะเป็นพระชายาในพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ แต่พระองค์ไม่ทรงรู้ว่าพระโอรสทรงคบหาอยู่กับดรากา

เนื่องจากอดีตพระเจ้ามิลานทรงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นทุกวัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของพระองค์ทรงต่อต้านฝ่ายปฏิกิริยาอย่างรุนแรง กลุ่มแรงงานที่ว่างงานได้พยายามลอบปลงพระชนม์อดีตพระเจ้ามิลานใน "เหตุการณ์อิวานดัน" ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1899 เพราะว่าพระองค์ทรงแก้แค้นฝ่ายปฏิกิริยาในทุกทาง แต่การลอบปลงพระชนม์ล้มเหลว อย่างไรก็ตามพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงจำต้องพยายามกำจัดพระราชบิดาของพระองค์ไปให้พ้นทางเพื่อพระองค์จะได้อภิเษกสมรสกับดรากา พระองค์ทรงตัดสินพระทัยให้พระราชบิดาและนายกรัฐมนตรีจอร์เจวิกออกไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ โดยมีข้ออ้างคือเพื่อให้ไปเจรจาตกลงเรื่องการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งชอมบวร์ก-ลิปป์ เจ้าหญิงเยอรมัน พระธิดาในเจ้าชายวิลเลียมแห่งชอมบวร์ก-ลิปป์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงส่งพระราชบิดาไปยังคาร์ลส์บัด และให้นายกรัฐมนตรีจอร์เจวิกไปยังมาเรียนบัดเพื่อลงนามในสนธิสัญญากับออสเตรีย-ฮังการี[4] ทันทีที่ทรงขับไล่ฝ่ายตรงข้ามของพระองค์ออกไป พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงประกาศหมั้นกับดรากา มาซิน

ความนิยมในพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ลดลงอย่างมากหลังจากทรงอภิเษกสมรสกับดรากา มาซิน ลุนเยวิกา อดีตนางสนองพระโอษฐ์ใน สมเด็จพระราชินีนาตาลียา พระราชมารดาของพระองค์ และดรากา มาซินเคยสมรสมาก่อนกับวิศวกรชื่อ สเวโตซาร์ มาซิน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ดรากามีอายุมากกว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ถึง 12 ปี ช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องที่ผิดปกติมากที่พระมหากษัตริย์หรือองค์รัชทายาทอภิเษกสมรสกับสตรีที่ไม่ได้มาจากชนชั้นขุนนาง อดีตพระเจ้ามิลาน พระราชบิดาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไม่ทรงเห็นด้วยกับการอภิเษกสมรสครั้งนี้และทรงปฏิเสธที่จะกลับเซอร์เบีย พระองค์เสด็จสวรรคตในกรุงเวียนนา ปีค.ศ. 1901 ฝ่ายที่ต่อต้านการอภิเษกสมรสนี้อีกกลุ่มคือ สมเด็จพระพันปีหลวงนาตาลียา พระนางทรงเขียนจดหมายถึงพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทั้งหมดเป็นเรื่องข่าวลือที่น่ารังเกียจที่สุดในตัวของดรากาที่แพร่หลายในรัสเซีย อันดรา จอร์เจวิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ไปยังสังฆมณฑลแห่งเบลเกรดเพื่อขอให้พวกเขาปฏิเสธที่จะให้พรแก่ทั้งสองพระองค์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้เสด็จไปยังสังฆมณฑลเช่นกันและทรงขู่ว่าจะสละราชบัลลังก์ถ้าไม่ประทานพรให้ รัฐบาลของจอร์เจวิกได้ลาออกทั้งคณธ ถือเป็นสัญญาณของการต่อต้าน ผู้ต่อต้านการอภิเษกสมรสอย่างดุเดือดคือ จอร์เจ เกนซิก รัฐมนตรีว่าการกิจการภายในในรัฐบาลของวลาดัน จอร์เจวิก เนื่องจากเขาได้ออกมาคัดค้านอย่างเปิดเผย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มีพระบัญชาให้จับกุมเขาขังคุกเป็นเวลา 7 ปี สถานการณ์ได้คลี่คลายเมื่อพระเจ้าซาร์นีโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียทรงตกลงที่จะเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ในการอภิเษกสมรสครั้งนี้

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งเซอร์เบีย(กลาง) ภาพถ่ายก่อนปีค.ศ. 1903

การอภิเษกสมรสจัดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1900 หนึ่งในทหารที่อยู่ในพระราชพิธีคือ ดรากูทิน ดิมิทรีเจวิก เอพิส ได้เกิดความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับโลกภายนอกจากการอภิเษกสมรสที่ไม่เป็นที่นิยมนี้ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศมายังรัสเซีย พระมหากษัตริย์ทรงปล่อยฝ่ายปฏิกิริยาออกจากคุกซึ่งถูกจับในเหตุการณ์อิวาดันที่พยายามลอบปลงพระชนม์อดีตพระเจ้ามิลาน

หลังจากการสวรรคตของอดีตพระเจ้ามิลาน พระราชบิดาของพระองค์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีเนื่องจากการทรงพระครรภ์ของสมเด็จพระราชินีได้ถูกกล่าวหา (มีความลับที่แพร่หลายในสาธารณะและเชื่อว่าเป็นจริงคือ สมเด็จพระราชินีทรงเป็นหมันตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จากอุบัติเหตุ ซึ่งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไม่ทรงเชื่อเรื่องนี้) พระองค์พระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษทางการเมืองทุกคน รวมทั้งจอร์เจ เกนซิกและฝ่ายปฏิกิริยาที่ยังหลงเหลืออยู่ วันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1901 พระองค์ทรงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งนำโดย มิไฮโล วูจิก แห่งฝ่ายปฏิกิริยา รัฐบาลมีการรวมทั้งพรรคปฏิกิริยาประชาชนและพรรคก้าวหน้าเซอร์เบีย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเนื้อหาหลักคือกำหนดระบบสองสภาแบ่งเป็น วุฒิสภา (สภาสูง) และสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ให้พระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ที่จะมาปกป้องผลประโยชน์ของพระองค์

สภาพพระครรภ์ที่ผิดพลาดของสมเด็จพระราชินีดรากาได้สร้างปัญหาใหญ่แก่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ปฏิกิริยาแรกมาจากพระเจ้าซาร์นีโคลัสที่ 2แห่งรัสเซีย พระองค์ไม่ทรงต้องการที่จะรับพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีหลังจากทรงมีแผนจะเสด็จเยือนรัสเซีย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงตำหนิฝ่ายปฏิกิริยา พระองค์ทรงก่อการรัฐประหารครั้งใหม่และจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของนายพล ดิมิทรีเจ ซินซา-มาร์โกวิชในวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1902[4]

เนื่องจากมีการขับไล่จากราชสำนักรัสเซียมากขึ้น พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงลองเข้าหาออสเตรียอีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1902 โดยทรงดำเนินการก่อนหน้านี้แล้วในเดือนมกราคม ค.ศ. 1902 ทรงส่งราชเลขาธิการส่วนพระองค์ไปยังกรุงเวียนนา ด้วยการให้สัญญาว่าจะแก้ปัญหาทายาทในข้อตกลงกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อนบ้านโดยการเลือกสายราชสันตติวงศ์จากเชื้อพระวงศ์โอเบรโนวิชฝ่ายหญิง ที่ประทับในออสเตรีย-ฮังการี[4] ในทางกลับกัน สมเด็จพระราชินีดรากาทรงเชื่อว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์จะทรงรับพระเชษฐาของพระนางคือ นิโกดิเย ลุนเยวิกา ให้เป็นผู้สืบราชบัลลังก์องค์ถัดไป

ดีมิทรีเย ทูโควิกได้จัดการชุมนุมประท้วงของเหล่ากรรมกรและนักศึกษาที่ไม่พอใจในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1903 ซึ่งได้ทำให้เกิดความขัดแย้งและเผชิญหน้ากับตำรวจและกองทัพเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน โดยเขารู้ว่าเขาไม่สามารถชนะในการเลือกตั้งครั้งใหม่ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงก่อการรัฐประหารทั้งสองครั้งในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง ในรัฐประหารครั้งแรก พระเจ้าอเล็๋กซานเดอร์ทรงมีพระราชโองการยกเลิกรัฐธรรมนูญของพระองค์และยุบวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา, สามาชิกสภาแห่งรัฐและคณะตุลาการขึ้นมาใหม่ ในรัฐประหารครั้งที่สอง พระมหากษัตริย์ทรงประกาศฟื้นฟูรัฐธรรมนูญที่พระองค์ทรงยกเลิกไปในไม่กี่ชั่วโมงที่แล้ว[4] ตามมาด้วย รัฐบาลมีการดำเนินการเลือกตั้งในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1903 (31 พฤษภาคม ตามปฏิทินเกรกอเรียน) ซึ่งรัฐบาลได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง นี้ถือเป็นชัยชนะทางการเมืองครั้งสุดท้ายของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1

กลุ่มทหารผู้ก่อการ

[แก้]
ดรากูทิน ดิมิทรีเจวิก หนึ่งในคณะผู้ก่อการ

กลุ่มนายทหารชั้นผู้น้อยได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าการที่สมเด็จพระราชินีไม่สามารถทรงพระครรภ์ได้ ทำให้ชื่อเสียงของเซอร์เบียลดลงมาในระดับนานาชาติ พวกเขาไม่พอใจอารมณ์ที่เกรี้นวกราดของพระเชษฐาของสมเด็จพระราชินีคือ นิโกลา ลุนเยวิกา ซึ่งเป็นทหารชั้นผู้น้อยที่ครั้งหนึ่งได้ฆ่าตำรวจนายหนึ่งเพราะว่าเมา นิโกลาเป็นพระเทวัน (พี่เขย) ในพระมหากษัตริย์ได้สั่งการให้นายทหารอาวุโสต้องมารายงานตัวและต้องคำนับเขา

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1901 ร้อยโททหารม้า อันโตนิเย อันติก (หลานชายของเกนซิก) กัปตัน ราโดมีร์ อรันเจโลวิกและมิลาน เปโทรวิก และร้อยโทดรากูทิน ดิมิทรีเจวิก และดรากูทิน ดูลิก ได้วางแผนลอบปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินี

การประชุมครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1901 ในอพาร์ตเมนท์ของอันติก จากนั้นร้อยโทมิลาน มารินโกวิกและร้อยโทนิโกดิเย โปโปวิก ได้เข้าร่วมการก่อการ ตามแผนเดิมคือพระเจ้าอเล้กซานเดอร์และสมเด็จพระราชินีดรากาจะต้องทรงถูกแทงด้วยมีดอาบโพแทสเซียมไซยาไนด์ในงานเลี้ยงที่ อาคารการกุศลโกลารัค เนื่องในวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระราชินีวันที่ 11 กันยายน แม่แผนล้มเหลวเพราะทั้งสองพระองค์ไม่เสด็จมา หลังจากนั้นหลายละเอียดของแผนการจะถูกวางตามตำแหน่งทางทหาร ผู้ก่อการจึงทำการตีสนิทกับนักการเมืองและประชาชนด้วยความตั้งใจ แผนการถูกเสนอครั้งแรกโดยจอร์เจ เกนซิก เกนซิกพูดเกี่ยวกับความคิดนี้กับตัวแทนต่างประเทศในเบลเกรดและยังเดินทางไปยังต่างประเทศเพื่อหาวิธีในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราชบัลลังก์เซอร์เบียหากพระมหากษัตริย์สวรรคตโดยปราศจากทายาท กลับกลายเป็นว่าออสเตรีย-ฮังการีไม่ได้ตั้งใจเสนอรายพระนามเจ้าชายพระองค์ใดและอุปสรรคจะมุ่งไปที่รัสเซีย รัสเซียก็เหตุผลเดียวกันกลัวการต่อต้านจากเวียนนาก็ไม่เสนอเจ้าชายพระองค์ใด ท่ามกลางผู้ก่อการมีทั้ง อเล็กซานดาร์ มาซิน พันเอกผู้เกษียณอายุราชการและเป็นพี่ชายในพระสวามีคนแรกของสมเด็จพระราชินีดรากา

วอจิสลาฟ ทันโกซิก ผู้สั่งการให้ยิงสังหาร พระเชษฐาของสมเด็จพระราชินีดรากา คือ นิโกลา และ นิโกดิเย ลุนเยวิกา

เจ้าชายมีร์โกแห่งมอนเตเนโกรทรงเป็นหนึ่งในตัวเลือกในราชบัลลังก์เซอร์เบีย แต่อย่างไรก็ตามมีการเปิดเผยการเสนอตัวในการขึ้นครองราชบัลลังก์โดยปีเตอร์ คาราจอร์เจวิช ซึ่งมีญานะเป็นพลเมืองสามัญในเจนีวา ซึ่งไม่มีอุปสรรคใดๆ ดังนั้น นิโกลา ฮัดซี โทมา พ่อค้าจากเบลเกรด ได้เข้าร่วมแผนการและถูกส่งไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อไปเขาพบปีเตอร์และชักชวนให้พระองค์ร่วมแผนการ ปีเตอร์ไม่ทรงอยากเอาพระองค์เองไปร่วมแผนการปลงพระชนม์ขึ้นอยู่กับพระอารมณ์ของพระองค์ กลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิดฝ่ายอาวุโส ที่ซึ่งนำโดยนายพล โจวาน อะทานักโกวิก พยายามเสนอความคิดให้ใช้กำลังบีบบังคับให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์สละราชบัลลังก์และเนรเทศออกนอกประเทศ แต่ความคิดนี้จะเป็นทางออกที่เลวร้ายที่สุดและอาจก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองได้ ซึ่งแผนการได้ถูกทำให้เร็วยิ่งขึ้นโดยร้อยโทดรากูทิน ดิมิทรีเจวิกได้รับการยอมรับ ดังนั้นจึงมีการตัดสินใจกันว่าพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีต้องถูกปลงพระชนม์

หลังจากมีความพยายามที่ต้องการปลงพระชนม์ทั้งสองพระองค์อีกครั้งในงานเฉลิมฉลองสมาคมนักร้องเพลงประสานเสียงเบลเกรดครบรอบ 15 ปี คณะผู้ก่อการจึงตัดสินใจที่จะปฏิบัติการปลงพระชนม์ภายในพระราชวัง พวกเขาตัดสินใจจ้างทหารจากทหารรักษาพระองค์ ผู้พัน มิไฮโล เนามูวิก เป็นหลานชาย นอม ผู้เป็นในองครักษ์ของคาราจอร์เจ ซึ่งได้ถูกสังหารพร้อมคาราจอร์เจที่ราโดวันจสกี ลัก ในปีค.ศ. 1817 โดยคำสั่งของมิโลส โอเบรโนวิก และทำให้มีความเห็นใจในราชตระกูลคาราจอร์เจวิก จึงเข้าร่วมแผนการนี้ด้วย

ข่าวลือของแผนการได้รั่วไหลสู่สาธารณะแต่ในตอนแรกพระมหากษัตริย์ไม่ทรงสนพระทัยและทรงคิดว่าเป็นเรื่องเท็จและเป็นการสร้างข่าวลือของใครบางคน ในที่สุดเหล่าทหารไม่กี่คนถูกจับขึ้นศาลทหาร แต่พวกเขาก็พ้นผิดเนื่องจากขาดหลักฐาน ด้วยความกลัวว่าแผนการจะถูกเปิดเผย ผู้ก่อการจึงตัดสินใจปฏิบัติการ ในช่วงที่อยู่ในความดูแลของเนามูวิก ในช่วงกลางคืนของวันที่ 28 - 29 พฤษภาคม (ตามปฏิทินฉบับเก่า)

การลอบปลงพระชนม์

[แก้]
พระราชวังเก่า กรุงเบลเกรด ที่ซึ่งคณะรัฐประหารได้ก่อการขึ้น

การลอบปลงพระชนม์ทั้งสองพระองค์นั้นได้ดำเนินการโดยผู้ก่อการที่เป็นทหารทั้งหมด ซึ่งนำโดยร้อยเอกดรากูทิน ดิมิทรีเจวิก เอพิส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียและเป็นผู้นำของสมาคมลับ Ujedinjenje ili Smrt (สหภาพหรือความตาย) มักจะนิยมเรียกว่า องค์กรแบล็กแฮนด์ ซึ่งสนับสนุนแผนการนี้[5][6] การปลงพระชนม์ได้ถูกกำหนดไว้ในตอนกลางคืนระหว่างวันที่ 28 และ 29 พฤษภาคม (ตามปฏิทินเก่าที่ใช้อยู่ในเซอร์เบียตอนนั้น)

คณะผู้ก่อการจากภายในได้มาถึงเบลเกรดก่อนวันก่อการตามคำกล่าวอ้างต่างๆ โดนมาร่วมกับสหายในเบลเกรด พวกเขาได้แบ่งออกเป็นห้ากลุ่มและใช้เวลาในผับต่างๆในเมือง ในคืนนั้น พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงร่วมรับประทานพระกระยาหารค่ำกับคณะรัฐมนตรีของพระองค์และครอบครัวของสมเด็จพระราชินี เนามูวิกได้ส่งสัญญาณให้คณะผู้ก่อการขณะที่ทั้งสองพระองค์ทรงเข้าบรรทมโดยเสัญญาณคือเขาได้สั่งให้ลูกน้องกลับไปเอาผ้าคลุมยาวของเขาจากบ้านมาให้ หลังจากเที่ยงคืน ร้อยเอกดรากูทิน ดิมิทรีเจวิก เอพิสได้สั่งออกเดินทางไปยังพระราชวัง ในเวลาเดียวกัน พันเอกอเล็กซานดาร์ มาซินได้ไปยังกองทหารราบที่ 12 เพื่อสั่งการ พันโทเปตาร์ มีซิก ได้เตรียมการเดินทางไปยังกองทหารราบที่ 11 เพื่อมุ่งหน้าไปยังราชสำนัก

กลุ่มผู้ก่อการหลายหน่วยได้เจ้าไปล้อมที่พำนักของนายกรัฐมนตรีดิมิทรีเย ซินซา-มาร์โกวิกและข้าราชการอาวุโสที่จงรักภักดีต่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ร้อยโทเปตาร์ ซิฟโกวิกได้ปฏิบัติหน้าที่ในตอนกลางคืนได้ปลดล็อกประตูในเวลา 2 นาฬิกาการค้นหาทั้งสองพระองค์ไม่ประสบผบสำเร็จจนกระทั่งเวลาผ่านไปเกือบจะ 2 ชั่วโมง ในช่วงนี้ร้อยเอกโจวาน มิลิจโกวิก ซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยกับคณะผู้ก่อการแต่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม และมิไฮโล เนามูวิก(ซึ่งฝ่ายผู้ก่อการไม่ทราบว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน)ได้ถูกสังหารไปด้วย ประตูห้องบรรทมของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ถูกทำลายด้วยระเบิด แต่ไม่มีใครอยู่ที่แท่นบรรทม ด้วยการที่ไม่รู้จักกัยคนอื่นๆ เอพิสเห็นใครบางคนหนีลงจากบันไดไปที่ลานพระราชวัง เขาคิดว่าเป็นพระมหากษัตริย์และวิ่งไล่ตามไป ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในทหารรักษาพระองค์ที่จงรักภักดีและได้มีการดวลปืนกันขึ้น เอพิสได้รับบาดเจ็บจากกระสุนสามนัดที่ฝังบนหน้าอกของเขา ซึ่งเขาเอาชีวิตรอดมาได้เนื่องจากสุขภาพที่แข็งแรงของเขา

ด้วยความกังวลจากการค้นหาองค์พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีไม่พบ อีกทั้งใกล้ฟ้าสาง และการหายตัวไปของเอพิส ซึ่งนอนบาดเจ็บอยู่ที่ชั้นล่างของพระราชวัง ผู้ก่อการคิดว่าแผนการล้มเหลวแล้ว พวกเขาได้นำตัวนายทหารราชองครักษ์คนสนิทมา ซึ่งก็คือนายพลลาซาร์ เปโทรวิก ซึ่งถูกผู้ก่อการเข้าจับกุมทันทีที่เข้ามาในลานพระราชวัง เขาถูกบังคบให้บอกว่ามีห้องลับหรือทางเดินลับที่ไหน โดยขู่ว่าจะฆ่าเขาภายในสิบนาทีถ้าไม่ทำตามต้องการ เปโทรวิกได้บอกและรอจนถึงเวลาตายอย่างสงบ ซึ่งไม่มีการรายงานเหตุการณ์ต่อมาที่เกิดขึ้นกับเขาอย่างละเอียด

เหตุการณ์การปลงพระชนม์ จากภาพกลุ่มผู้ก่อการกำลังใช้ดาบเข้าสับร่างของสมเด็จพระราชินีดรากา

อีกเวอร์ชันหนึ่งคือ กลุ่มนายทหารได้เข้ามายังห้องบรรทมอีกครั้งซึ่งร้อยโททหารม้า เวลีมีร์ เวมิก ได้สังเกตที่กำแพงผนังซึ่งดูเหมือนเป็นรูกุญแจของประตูลับ พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีทรงซ่อนพระองค์อยู่ในนั้น อีกเวอร์ชันหนึ่งซึ่งได้รับการยอมรับในบางส่วนคือเวอร์ชันที่มาจากละครโทรทัศน์เรื่อง อวสานราชวงศ์โอเบรโนวิก ที่กล่าวว่า พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีทรงซ่อนพระองค์อยู่หลังกระจกในห้องบรรทม ซึ่งเป็นห้องเล็กๆใช้สำหรับเป็นตู้ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระราชินี ตู้ได้ปิดหลุมบนพื้นที่เป็นทางเข้าลับ (ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นทางเดินลับไปยังสถานทูตรัสเซียที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามของพระราชวัง)

เมื่อผู้ก่อการเรียกให้ทั้งสองพระองค์ทรงพระดำเนินออกมา พระเจ้าอล็กซานเดอร์ทรงเรียกร้องผู้ก่อการให้ไว้ชีวิตซึ่งผู้ก่อการได้ให้สัตย์สาบาน อีกเวอร์ชันหนึ่งพวกเขาได้ขู่ว่าจะระเบิดพระราชวังถ้าหากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไม่เปิดเส้นทางลับ หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ และสมเด็จพระราชินีดรากาทรงพระดำเนินออกมา ร้อยเอกปืนใหญ่ มิฮัจโล ริสติก ได้ยิงกระสุนทั้งหมดในปืนของเขาเข้าใส่ทั้งสองพระองค์ ตามมาด้วยปืนของเวมิกและร้อยเอกอิลิยา ราดิโวเยวิก พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตในทันทีจากการยิงนัดแรก สมเด็จพระราชินีพยายามจะรักษาพระชนม์ชีพของพระสวามีด้วยการเอาพระวรกายของพระนางเองเข้าบังกระสุนที่ยิงเข้าใส่พระสวามี นายพลเปโทรวิกถูกสังหารในทันทีหลังจากนั้นและพระศพของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีได่ถูกโยนลงมาจากหน้าต่างพระราชวัง

สิ่งที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแน่นอนคือเหตุการณ์ในคืนนั้นที่พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีทรงถูกพบเข้าในที่สุดหลังจากซ่อนในตู้ฉลองพระองค์และทั้งสองพระองค์ถูกปลงพระชนม์อย่างทารุณ พระศพของทั้งสองพระองค์ถูกทำลายและหลังจากนั้นก็ถูกโยนลงจากชั้นสองของพระราชวังลงบนกองปุ๋ยคอก[2] ผู้สื่อข่าวการทูต นักประวัติศาสตร์ และนักเขียน ซี.แอล.ซูลส์เบอร์เกอร์ ได้รับรายงานที่เกี่ยวข้องจากเพื่อนของเขา ที่มีส่วนร่วมในการลอบสังหารภายใต้การนำของเอพิส ได้เขียนว่า คณะผู้ปลงพระชนม์ได้ "ระเบิดพระราชวังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและพบพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีทรงตื่นกลัวอยู่ในตู้เสื้อผ้า (ทั้งสองฉลองพระองค์ด้วยชุดนอนผ้าไหม) ได้แทงทั้งสองพระองค์และทิ้งร่างออกไปนอกหน้าต่างลงบนกองปุ๋ยคอกในสวน นิ้วของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ถูกตัดออกเมื่อทรงพยายามยึดคว้าธรณีประตูไว้"[2] ในรายงานนี้ระบุว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคตหลังจากถูกโยนออกจากพระราชวัง การลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เป็นเวลาใกล้เคียงกับการครบรอบ 35 ปีการลองปลงพระชนม์บรรพบุรุษของพระองค์คือ เจ้าชายมิไฮโล พระบรมศพของทั้งสองพระองค์ได้ถูกฝังในโบสถ์เซนต์มาร์ค

ในคืนเดียวกัน พระเชษฐาของสมเด็จพระราชินีคือ นิโกดิเยและนิโกลา ลุนเยวิกาได้ถูกสังหารโดยอาวุธปืนจากคำสั่งของร้อยโทวอจิสลาฟ ทันโกซิก นายกรัฐมนตรีนายพลดิมิทรีเย ซินซา-มาร์โกวิกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มิโลวาน ปาฟโลวิกถูกสังหารในที่พำนัก สมาชิกคนที่สามในรัฐบาลของซินซา-มาร์โกวิกคือ รัฐมนตรีว่าการกิจการภายใน เวลิมีร์ โทโดโรวิก ผู้ซึ่งเป็นเป้าหมายในการสังหาร ได้รับบาดเจ็บสาหัสแต่หลังจากนั้นก็มีชีวิตอยู่จนค.ศ. 1922

ผลที่ตามมา

[แก้]
ปีเตอร์ คาราจอร์เจวิกทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในฐานะพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 แห่งเซอร์เบีย ในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1904

สมาชิกของรัฐบาลใหม่ได้รวมตัวกันภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานคณะรัฐมนตรีของโจวาน อะวาคูโมวิก อเล็กซานดาร์ มาซินได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวิศวกรรมโยธา โจวาน อะทานักโกวิกได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะที่จอร์เจ เกนซิก ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ นอกจากนี้คณะผู้ก่อการได้เป็นสมาชิกในรัฐบาลใหม่ได้แก่ ฝ่ายปฏิกิริยา สโตจัน โปรติก, ฝ่ายเสรีนิยม วอจิสลาฟ เวลจโกวิก หัวหน้าพรรคปฏิกิริยาอิสรภาพเซอร์เบีย ลจูโบมีร์ สโตจาโนวิกและลจูโบมีร์ ซิฟโกวิก และฝ่ายก้าวหน้า ลจูโบมีร์ คัลเจวิก, นิโกลา พาสิก, สโตจัน ริบารัค และโจวาน ซูโจวิก คนเหล่านี้ถือเป็นสมาชิกของรัฐบาลใหม่แต่ไม่ได้อยู่ในเบลเกรดในช่วงเหตุการณ์การโค่นล้มอำนาจเดือนพฤษภาคม

รัฐสภาได้มีการเปิดสมัยประชุมในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1903 ได้เลือกปีเตอร์ คาราจอร์เจวิกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเซอร์เบีย และได้มีคำสั่งไปยังเจนีวาเพื่อทูลเชิญให้พระองค์เสด็จกลับเซอร์เบียสืบราชบัลลังก์ในฐานะ พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 แห่งเซอร์เบีย

ข่าวรัฐประหารได้สร้างความรู้สึกหลากหลายในหมู่ชาวเซิร์บ หลายคนที่ตำหนิการกระทำของพระมหากษัตริย์ก็พึงพอใจในสถานการณ์นี้ในขณะที่ผู้สนับสนุนพระองค์ก็ต้องผิดหวัง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาที่จัดขึ้นไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร ตัวแทนของพระมหากษัตริย์ได้รับเสียงข้างมากทั้งหมดในสภา ทำให้กองทัพที่โกรธแค้นได้ก่อการจลาจลที่เมืองนีสในปีค.ศ. 1904 ในการควบคุมเมืองนีสทำให้การสนับสนุนพระมหากษัตริย์ได้ลดลง และทำให้กลุ่มมือสังหารสามารถก่ออาชญากรรมได้ จุดมุ่งหมายของพวกเขายังแสดงให้เห็นว่ากองทัพทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบรัฐประหารเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ. 1903 ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนราชวงศ์โอเบรโนวิก ซิวิจิน มีซิก (ซึ่งต่อมาในอนาคตจะได้รับตำแหน่งจอมพล) ได้ถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งทางกองทัพในปีค.ศ. 1904

ความตกตะลึงของประเทศต่างๆในการทำรัฐประหารได้มีขึ้นอย่างรวดเร็ว รัสเซียและออสเตรีย-ฮังการีได้ประณามการลอบปลงพระชนม์ที่โหดเหี้ยมนี้อย่างรุนแรง สหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ได้มีคำสั่งให้เอกอัครราชทูตออกจากเซอร์เบีย ดังนั้นความสัมพันธ์ทางการทูตจึงเหมือนกับถูกแช่แข็งไว้และถูกคว่ำบาตรซึ่งไม่ได้รับการยกเลิกจนกระทั่งปีค.ศ. 1905 นายกรัฐมนตรีอังกฤษ อาเธอร์ บัลโฟร์ได้ประณามการลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้สี่วันหลังจากกล่าวสุนทรพจน์ในสภาสามัญชนซึ่งกล่าวว่าเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเซอร์เบียเซอร์ จอร์จ บอนแฮมได้รับรองต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับเซอร์เบียต้องถูกยกเลิก บอนแฮมออกจากเซอร์เบียในวันที่ 21 มิถุนายน รัฐบาลอังกฤษเรียกร้องให้ลงโทษผู้ก่อการเพื่อเป็นสัญญาณของการขอโทษ อย่างไรก็ตามผู้ก่อการได้มีอำนาจมากซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลเซอร์เบียจะทำตามข้อเรียกร้องของอังกฤษ

หนังสือพิมพ์รายงานข่าวพระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1

เอกอัครราชทูตออสเตรีย คอนสแตนติน ดัมบาได้โน้มน้าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรีย อเกนอร์ มาเรีย โกลูโชว์สกีให้ร่วมมือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย วลาดิมีร์ ลัมสดอร์ฟเพื่อดำเนินการคว่ำบาตรเซอร์เบียจนกว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในรัฐประหารอย่างเป็นทางการจะถูกปลดออกจากตำแหน่งที่มีอิทธิพลในกองทัพ การคว่ำบาตรครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1904 มีแต่เพียงเอกอัครราชทูตกรีซและจักรวรรดิออตโตมันเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในเซอร์เบีย

เป็นเหตุให้ พระเจ้าปีเตอร์ตัดสินพระทัยปลดทหารราชองครักษ์ที่มีส่วนร่วมในรัฐประหารออกไปจากราชสำนัก ในขณะที่เวลาเดียวกันทรงส่งเสริมให้พวกเขามีตำแหน่งสูงขึ้นในกองทัพ อเล็กซานดาร์ มาซินได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาราชการแทนผู้บัญชาการทหารบก ในขณะที่พันเอก เซโดมิลจ์ โปโปวิกได้กลายเป็นผู้บัญชาการกองทัพดานูบ การกระทำครั้งนี้ทำให้รัสเซียพึงพอใจ และได้ส่งคณะทูตกลับมา ตามมาด้วยรัฐอื่นๆ เหลือแต่เพียงสหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ที่ยังคงคว่ำบาตรรัฐบาลใหม่ของเซอร์เบียอยู่

ในช่วงนี้ รัฐบุรุษของเซอร์เบียได้มีความกังวลมากขึ้นเนื่องจากสหราชอาณาจักร (ซึ่งเป็นจักรวรรดิชั้นนำของโลก) ได้ปฏิเสธที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์การลุกฮืออิลินเดน-พรีบราซีนีซึ่งทำให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นในมาซิโดเนีย รัฐบาลของลจูโบมีร์ สโตจาโนวิกเตรียมพร้อมที่จะทำตามข้อเรียกร้องของอังกฤษแต่ในที่สุดก็เริ่มทำในรัฐบาลของนิโกลา พาสิก คณะผู้ก่อการถูกนำตัวไปเข้ารับการพิจารณาคดีซึ่งถูกบังคับให้เกษียณอายุก่อนกำหนด กลุ่มคณะผู้ก่อการชั้นผู้น้อยไม่เคยถูกลงโทษในการลอบปลงพระชนม์เลย ดิมิทรีเจวิกซึ่งต่อมาได้รับการเลื่อนยศเป็นพันเอกและทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของกองทัพเซอร์เบีย ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและเซอร์เบียได้ฟื้นฟูอีกครั้งในสัญญาที่ลงพระปรมาภิไธยโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักรเป็นเวลาสามปีหลังจากเหตุการณ์การโค่นล้มอำนาจเดือนพฤษภาคม[7] หลังจากรัฐประหาร วิถีชีวิตของประชาชนในเซอร์เบียก็ดำเนินต่อไปเหมือนที่เคยเป็นมาก่อน อย่างไรก็ตามตอนนี้พระเจ้าปีเตอร์ทรงพยายามเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองให้น้อยที่สุด เนื่องจากไม่ทรงอยากเผชิญหน้ากับกลุ่มแบล็กแฮนด์ที่มีอำนาจมากขึ้น การตอบสนองต่อนโยบายภายนอกระหว่างออสเตรีย-ฮังการีและเซอร์เบียนำไปสู่สงครามหมูซึ่งเซอร์เบียได้รับชัยชนะ ด้วยผู้ก่อการระดับอาวุโสได้ถูกบังคับให้เกษียณอายุราชการ ดิมิทรีเจวิกจึงได้เป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการโดยพฤตินัย ในปีค.ศ. 1914 องค์กรแบล็กแฮนด์ได้ก่อการลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันด์แห่งออสเตรียที่ซาราเยโวซึ่งนำโดยกลุ่มบอสเนียหนุ่มนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ดิมิทรีเจวิชและกลุ่มแบล็กแฮนด์ยังมีส่วนร่วมในเหตุการณ์อื่นๆอีก นิโกลา พาสิกตัดสินใจที่จะจัดการกับสมาชิกที่โดดเด่นในการเคลื่อนไหวของกลุ่มแบล็กแฮนด์ ซึ่งจากนั้นองค์กรนี้ได้ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการ ดิมิทรีเจวิกและคณะผู้ก่อการได้ถูกจับกุมจากการพยายามลอบปลงพระชนม์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ คาราจอร์เจวิช พระโอรสในพระเจ้าปีเตอร์ ซึ่งต่อมาคือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งยูโกสลาเวีย ในวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 ถูกเรียกว่า "การพิจารณาคดีซาโลนิกา" พันเอกดิมิทรีเจวิก, พันตรี ลจูโบมีร์ วูโลวิก และราเด มาโลบาบิก ถูกตัดสินว่ามีความผิดด้วยข้อหาการกระทำเป็นทุรยศปละถูกตัดสินประหารชีวิต หนึ่งเดือนถัดมา ในวันที่ 11 24 หรือ 27 มิถุนายน พวกเขาถูกประหารด้วยการยิงเป้า หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง เอพิสและผู้ร่วมมือกับเขาได้รับการกอบกู้ชื่อเสียงคืน

ผู้เสียชีวิตที่สำคัญ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. C. L. Sulzberger, The Fall of Eagles, p.202
  2. 2.0 2.1 2.2 Sulzberger, p.202
  3. Sulzberger, p.201
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 Corovic, Vladimir (1997) Istorija srpskog naroda[ลิงก์เสีย]
  5. Sulzberger, pp.202, 221
  6. หมายเหตุ:แม้ว่าผู้สื่อข่าวต่างประเทศและนักประวติศาสตร์ ซี.เอล. ซูลส์เบอร์เกอร์ ได้กล่าวถึงในหนังสือของเขาชื่อการล่มลายของอินทรี ซึ่งกล่าวว่าองค์กรแบล็กแฮนด์ได้ถูกจัดตั้งขึนในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1903 แต่นักเขียน ไมเคิล ชัคเคลฟอร์ดได้อ้างว่าสมาคมลับที่มีชื่อว่า "องค์กรแบล็กแฮนด์" ได้มีขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1911
  7. Slobodan G. Marković. "Kriza u odnosima Kraljevine Srbije i Velike Britanije". NIN. สืบค้นเมื่อ 20 July 2010.

อ้างอิง

[แก้]
  • C. L. Sulzberger The Fall of Eagles, Crown Publishers, Inc., New York, 1977