Location via proxy:   [ UP ]  
[Report a bug]   [Manage cookies]                
ข้ามไปเนื้อหา

ลิคี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลิคี (ลฺหวี ข่าย)
呂凱
รูปปั้นลิคีที่ศาลจูกัดเหลียงในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน
เจ้าเมืองยูนนาน (雲南太守 ยฺหวินหนานไท่โฉฺ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 225 (225) – ค.ศ. 225 (225)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครเป่าชาน มณฑลยูนนาน
เสียชีวิตค.ศ. 225
มณฑลยูนนาน
บุตรลฺหวี่ เสียง
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองจี้ผิง (季平)
บรรดาศักดิ์หยางเชียนถิงโหว
(陽遷亭侯)

ลิคี (เสียชีวิต ค.ศ. 225) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ลฺหวี ข่าย (จีน: 呂凱; พินอิน: Lǚ Kǎi) ชื่อรอง จี้ผิง (จีน: 季平; พินอิน: Jìpíng) เป็นขุนนางของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน[1]

ภูมิหลัง

[แก้]
รูปลิคีจากเกม Romance Of The Three Kingdoms XI

ลิคีเป็นชาวอำเภอปู้เหวย์ (不韋縣 ปู้เหว่ย์เซี่ยน) เมืองเองเฉียง (永昌郡 หย่งชางจฺวิ้น) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครเป่าชาน มณฑลยูนนานในปัจจุบัน[2] กล่าวกันว่าลิคีมาจากตระกูลเดียวกันกับลฺหวี่ ปู้เหวย์ (呂不韋) หรือลิปุดอุย รัฐบุรุษแห่งรัฐจิ๋น (秦 ฉิน) ในยุครณรัฐที่ถูกเนรเทศไปยังภูมิภาคจ๊ก (ปัจจุบันคือมณฑลเสฉวน) หลังจากที่สิ้นอำนาจ[a]

รับราชการในจ๊กก๊ก

[แก้]

ลิคีเริ่มรับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปกครองหรือกงโจ (功曹 กงเฉา)[1] ในที่ว่าการของเมืองเองเฉียง[4]

หลังเล่าปี่จักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐจ๊กก๊กสวรรคตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 223[5] ยงคี (雍闓 ยง ข่าย) ผู้นำชนเผ่าในภูมิภาคหนานจง (ครอบคลุมบางส่วนของมณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว และทางใต้ของมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ทางใต้ของจ๊กก๊ก เริ่มก่อกบฏต่อรัฐจ๊กก๊ก[6] ในช่วงเวลานั้น ลิเงียมขุนพลจ๊กก๊กเขียนจดหมายทั้งหมด 6 ฉบับไปถึงยงคีเพื่อห้ามไม่ให้ยงคีก่อกบฏ แต่ยงคีตอบปฏิเสธกลับด้วยความหยิ่งยโส[7] ยงตียังได้สวามิภักดิ์ต่อรัฐง่อก๊กรัฐพันธมิตรที่เวลานั้นกลับเป็นรัฐอริต่อรัฐจ๊กก๊ก ซุนกวนผู้ปกครองง่อก๊กจึงแต่งตั้งให้ยงคีเป็นเจ้าเมืองเองเฉียง (永昌郡 หย่งชางจฺวิ้น; ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนทางตะวันตกของมณฑลยูนนานในปัจจุบัน) แม้ว่าเวลานั้นเมืองเองเฉียงจะอยู่ภายใต้การปกครองของจ๊กก๊กก็ตาม[8]

เมืองเองเฉียงตั้งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของจ๊กก๊กและค่อนข้างจะแแยกขาดจากเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก เนื่องจากถนนที่เชื่อมระหว่างเซงโต๋และเมืองเองเฉียงนั้นใช้เดินทางได้ลำบากหรือแทบจะใช้สัญจรไม่ได้เลย[9] เมื่อยงคีมาถึงเมืองเองเฉียงจะมาครองเมือง ลิคีและเพื่อนขุนนางชื่ออ้องค้าง (王伉 หวาง ค่าง) ปฏิเสธที่จะยอมรับความชอบธรรมของยงคีในการครองเมือง ทั้งคู่นำข้าราชการและราษฎรในท้องถิ่นต่อต้านยงคีและป้องกันไม่ให้ยงคีเข้าเมืองเองเฉียง[10][1]

ยงคีเขียนคำประกาศเข้าไปในเมืองเองเฉียงหลายครั้ง พยายามโน้มน้าวคนในเมืองทุกคนว่าตนเป็นเจ้าเมืองเองเฉียงอย่างถูกต้อง[11] ลิคีเขียนจดหมายตอบยงคีไปว่า:

"สวรรค์นำหายนะและความวุ่นวายมาให้ ขุนศึกลุกขึ้นสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจ ทั่วทั้งแผ่นดินรู้สึกขุ่นเคืองและเศร้าสลด ทุกคนไม่ว่าอยู่ในสถานะใดต่างพยายามอย่างสุดกำลังเพื่อช่วยเหลือแผ่นดินและเตรียมสละชีพเมื่อถึงคราว ท่านขุนพลและครอบครัวได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากราชวงศ์ฮั่นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านควรรวบรวมผู้ติดตามและเป็นผู้นำในการกระทำอันเป็นการตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของจักรพรรดิ หากทำเช่นนั้นก็ไม่ทำให้บรรพบุรุษของท่านอับอาย และยังเหลือชื่อเสียงอันดีไว้ในประวัติศาสตร์ แต่ท่านกลับไปสวามิภักดิ์ต่อง่อและทรยศต่อรากเหง้าของท่านเอง ในอดีต พระเจ้าซุนเต้ (舜 ชุ่น) ทรงงานหนักเพื่อราษฎรและสวรรคตที่ชางอู๋ (蒼梧) ประวัติศาสตร์จดจำพระองค์ในเรื่องพระราชกรณีกิจอันยิ่งใหญ่ พระศพของพระองค์ฝังที่เจียงผู่ (江浦) ช่างน่าเสียดาย! พระเจ้าจิวบุนอ๋อง (文 เหวิน) และพระเจ้าจิวบูอ๋อง (武 อู่) ได้รับอาณัติสวรรค์ แต่แผ่นดินมาสงบในสมัยของเฉิงหวาง (成王) จักรพรรดิองค์ก่อน (เล่าปี่) เถลิงราชย์ ทรงได้รับการสนับสนุนจากทัวแผ่นดินและทรงมีข้าราชบริพารที่เก่งกาจและชาญฉลาดถวายงานรับใช้ เป็นสัญญาณว่าสวรรค์ประทานความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองแก่แผ่นดินของพระองค์ ท่านขุนพลไม่เรียนรู้อุทาหรณ์จากประวัติศาสตร์จึงมองไม่เห็นหายนะที่จะเกิดต่อท่านในภายหน้า โปรดลองนึกถึงไฟป่าที่เผาผลาญทุ่งหญ้าหรือผู้คนที่ข้ามแม่น้ำที่เยือกแข็ง เมื่อไฟมอดลงและน้ำแข็งละลาย จะพึ่งพาสิ่งใดได้ ยงโหว[b] (雍侯) บรรพบุรษของท่านเคยเป็นศัตรูของราชวงศ์ฮั่น แต่ราชวงศ์ฮั่นก็ยังตั้งให้มีบรรดาศักดิ์โหว โตฺ้ว หรง (竇融) รู้ว่าราชวงศ์ฮั่นตะวันออกจะขึ้นมารุ่งเรือง จึงสวามิภักด์ต่อชื่อจู่[c] (世祖) และเหลือชื่อเสียงอันดีงามไว้ในประวัติศาสตร์ คนรุ่นหลังล้วนแซ่ซ้องสรรเสริญ บัดนี้ท่านอัครมหาเสนาบดีจูกัดเป็นผู้มีความสามารถและมีสติปัญญาอย่างสูง นับแต่จักรพรรดิองค์ก่อนทรงฝากฝังให้ดูแลฝ่าบาท (เล่าเสี้ยน) ก็นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่รัฐได้เป็นอย่างดี ท่านอัครมหาเสนาบดีไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเมื่อเกิดการวิวาทระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชา และยกย่องส่งเสริมผู้คนด้วยน้ำใจกว้างขวางไม่ว่าคนผู้นั้นจะเคยทำผิดใดมาก่อนก็ตาม หากท่านขุนพลตระหนักถึงความผิดพลาดของตนและต้องการที่จะกลับใจ ข้าพเจ้าเห็นว่าคงไม่ยากเกินสำหรับท่านที่จะฝากชื่อเสียงอันดีงามในประวัติศาสตร์เฉกเช่นมหาบุรุษในกาลก่อน หากเป็นเช่นนั้นท่านยังต้องการปกครองเมืองเล็ก ๆ อย่างเองเฉียงอยู่อีกหรือ ข้าพเจ้าได้ยินมาว่ารัฐฌ้อ (楚 ฉู่) ไม่แสดงความเคารพต่อราชวงศ์จิว (周 โจฺว) เจ๋ฮวนก๋ง (齊桓公 ฉีหฺวันกง) จึงตำหนิรัฐฌ้อเรื่องความไม่เหมาะสมนี้ เมื่อฟูไช (夫差) พยายามขึ้นเป็นเจ้าอธิราช รัฐจิ้น (晋) ก็เข้าขัดขวาง นายที่ท่านรับใช้อยู่บัดนี้ไม่ใช่นายที่ดี เหตุใดราษฎรจึงอยากจะยอมรับท่านเล่า ข้าพเจ้าระลึกถึงคำสอนของคนโบราณอยู่เสมอ และเตือนตนเองว่าข้าพเจ้าผู้เป็นข้าราชบริพารของรัฐไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับคนทรยศเช่นท่าน นั่นคือเหตุผลที่ข้าพเจ้าไม่ตอบกลับการติดต่อของท่านก่อนหน้านี้ แต่หลังจากข้าพเจ้าได้รับประกาศของท่านแล้ว ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจที่จะบอกเสี้ยวหนึ่งของความคิดข้าพเจ้า หวังว่าท่านขุนพลจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ"[12]

เนื่องจากราษฎรในเมืองเองเฉียงนับถือและเชื่อมั่นในลิคีอย่างสูง ลิคีจึงสามารถควบคุมรักษาเมิืองเองเฉียงได้อย่างมั่นคงและยังแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีในฐานะข้าราชการของจ๊กก๊ก[13]

ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 225 จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กนำทัพบุกลงใต้ไปยังภูมิภาคหนานจงเพื่อปราบปรามกบฏและรับมือการรุกรานของชนเผ่าลำมัน (南蠻 หนานหมาน)[5] ขณะที่ทัพจ๊กก๊กกำลังยกมา ยงคีก็ถูกสังหารโดยผู้ใต้บังคับบัญชาของโกเตง (高定 เกา ติ้ง) ผู้นำกบฏอีกคนหนึ่ง[14]

เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 225 จูกัดเหลียงสยบภูมิภาคหนานจงได้อย่างสมบูรณ์และฟื้นฟูความสงบสุขในพื้นที่[5] จึงเขียนฎีกาถวายเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กว่า "ลิคี อ้องค้าง และข้าราชการคนอื่น ๆ ในเมืองเองเฉียงยังคงจงรักภักดีต่อรัฐแม้ว่าจะติดอยู่ในสถานที่ที่ห่างไกลสิบกว่าปี เมื่อยงคีและโกเตงเริ่มก่อกบฏทางตะวันออกเฉียงเหนือ ลิคียืนหยัดด้วยความจงรักภักดีต่อรัฐ ปฏิเสธที่จะมีการติดต่อใด ๆ กับพวกกบฏ กระหม่อมหลากใจที่ยังมีกระแสแห่งความภักดีและเที่ยงธรรมเช่นนี้ในเองเฉียง"[15]

ภายหลังลิคีได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองยูนนาน (雲南郡 ยฺหวินหนานจฺวิ้น; ครอบคลุมบางส่วนของเขตปกครองตนเองชนชาติอี๋ ฉู่สฺยง, เขตปกครองตนเองชนชาติไป๋ ต้าหลี่ และนครลี่เจียงในมณฑลยูนนานในปัจจุบัน) และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหยางเชียนถิงโหว (陽遷亭侯)[16][1] อ้องค้างเพื่อนขุนนางของลิคีภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเองเฉียงและได้รับบรรดาศักดิ์ระดับถิงโหว[17]

เสียชีวิตและทายาท

[แก้]

ลิคีถูกสังหารโดยกลุ่มผู้ก่อจลาจลในเมืองยูนนาน ลฺหวี่ เสียง (呂祥) บุตรชายของลิคีสืบทอดบรรดาศักดิ์หยางเชียนถิงโหวของลิคี[18][1] ลฺหวี่ เสียงรับราชการเป็นขุนนางของราชวงศ์จิ้นหลังสิ้นสุดยุคสามก๊ก และดำรงตำแหน่งเป็นนายกองอนารยชนภาคใต้ (南夷校尉 หนานอี๋เซี่ยวเว่ย์) บุตรชายและทายาทลำดับถัด ๆ มาของลฺหวี่ เสียงรับราชการเป็นเจ้าเมืองเองเฉียงจากรุ่นสู่รุ่น[19]

ในศตวรรษที่ 4 เมื่อหลี่ สฺยง (李雄) ผู้ก่อตั้งรัฐเฉิงฮั่น (成漢) นำกองกำลังบุกมณฑลหนิงโจฺว (寧州; ครอบคลุมมณฑลยูนนานและมณฑลกุ้ยโจวในปัจจุบัน) ทายาทของลิคีปฏิเสธที่จะยอมจำนนและนำราษฎรของเมืองเองเฉียงต่อต้านผู้รุกราน[20]

คำวิจารณ์

[แก้]

ตันซิ่วผู้เขียนชีวประวัติลิคีในจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) วิจารณ์ลิคีไว้ว่า " ลิคีไม่เคยออกนอกวิถีแห่งความจงรักภักดี... ร่วมกับอุยก๋วน ลิอิ๋น ม้าตง อองเป๋ง เตียวหงี ด้วยความสามารถของพวกเขาเหล่านี้จึงมีชื่อเสียงไปทั่วแผ่นดินและได้โอกาสให้เหลือสิ่งตกทอด"[21]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก จักรวรรดิฮั่นขยายดินแดนไปทางใต้ และจัดตั้งเมืองและอำเภอในบริเวณที่เป็นมณฑลเสฉวนและมณฑลยูนนานในปัจจุบัน ในเวลานั้น ราชสำนักฮั่นได้โยกย้ายทายาทของลฺหวี่ ปู้เหวย์ไปยังพื้นที่ที่กลายเป็นอำเภอปู้เหวย์ ซึ่งตั้งชื่ออำเภอตามชื่อของบรรพบุรุษ[3]
  2. หมายถึงยง ฉื่อ (雍齒) บรรพบุรุษของยงคี
  3. นามวัดของพระเจ้าฮั่นกองบู๊ (漢光武帝 ฮั่นกวังอู่ตี้) จักรพรรดิผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 de Crespigny (2007), p. 627.
  2. (呂凱字季平、永昌不韋人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  3. (孫盛蜀世譜曰:初,秦徙呂不韋子弟宗族於蜀漢。漢武帝時,開西南夷,置郡縣,徙呂氏以充之,因曰不韋縣。) อรรถาธิบายจากฉู่ชื่อผู่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  4. (仕郡五官掾功曹。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  5. 5.0 5.1 5.2 Sima (1084), vol. 70.
  6. (時雍闓等聞先主薨於永安,驕黠滋甚。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  7. (都護李嚴與闓書六紙,解喻利害,闓但荅一紙曰:「蓋聞天無二日,土無二王,今天下鼎立,正朔有三,是以遠人惶惑,不知所歸也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  8. (闓又降於吳,吳遙署闓為永昌太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  9. (永昌旣在益州郡之西,道路壅塞,與蜀隔絕, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  10. (... 而郡太守改易,凱與府丞蜀郡王伉帥厲吏民,閉境拒闓。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  11. (闓數移檄永昌,稱說云云。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  12. (凱荅檄曰:「天降喪亂,姧雄乘釁,天下切齒,萬國悲悼,臣妾大小,莫不思竭筋力,肝腦塗地,以除國難。伏惟將軍世受漢恩,以為當躬聚黨衆,率先啟行,上以報國家,下不負先人,書功竹帛,遺名千載。何期臣僕吳越,背本就末乎?昔舜勤民事,隕于蒼梧,書籍嘉之,流聲無窮。崩于江浦,何足可悲!文、武受命,成王乃平。先帝龍興,海內望風,宰臣聦睿,自天降康。而將軍不覩盛衰之紀,成敗之符,譬如野火在原,蹈履河冰,火滅冰泮,將何所依附?曩者將軍先君雍侯,造怨而封,竇融知興,歸志世祖,皆流名後葉,世歌其美。今諸葛丞相英才挺出,深覩未萌,受遺託孤,翊贊季興,與衆無忌,錄功忘瑕。將軍若能翻然改圖,易跡更步,古人不難追,鄙土何足宰哉!蓋聞楚國不恭,齊桓是責,夫差僭號,晉人不長,況臣於非主,誰肯歸之邪?竊惟古義,臣無越境之交,是以前後有來無往。重承告示,發憤忘食,故略陳所懷,惟將軍察焉。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  13. (凱威恩內著,為郡中所信,故能全其節。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  14. (及丞相亮南征討闓,旣發在道,而闓已為高定部曲所殺。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  15. (亮至南,上表曰:「永昌郡吏呂凱、府丞王伉等,執忠絕域,十有餘年,雍闓、高定偪其東北,而凱等守義不與交通。臣不意永昌風俗敦直乃爾!」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  16. (以凱為雲南太守,封陽遷亭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  17. (而王伉亦封亭侯,為永昌太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  18. (會為叛夷所害,子祥嗣。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  19. (蜀世譜曰:呂祥後為晉南夷校尉,祥子及孫世為永昌太守。) อรรถาธิบายจากฉู่ชื่อผู่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  20. (李雄破寧州,諸呂不肯附,舉郡固守。王伉等亦守正節。) อรรถาธิบายจากฉู่ชื่อผู่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  21. (評曰:...呂凱守節不回,...咸以所長,顯名發跡,遇其時也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
  • เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
  • ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
  • de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.