สมเด็จพระราชาธิบดีอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์
อิซมาอิล นาซีรุดดิน إسماعيل ناصرالدين | |
---|---|
พระบรมฉายาลักษณ์อย่างเป็นทางการ ช่วง ค.ศ. 1965
-1970 | |
ยังดีเปอร์ตวนอากง | |
ครองราชย์ | 21 กันยายน พ.ศ. 2508 – 20 กันยายน พ.ศ. 2513 |
ราชาภิเษก | 11 เมษายน พ.ศ. 2509 |
ก่อนหน้า | รายาปูตราแห่งปะลิส |
ถัดไป | สุลต่านอับดุล ฮาลิมแห่งเกอดะฮ์ |
นายกรัฐมนตรี | ตุนกู อับดุล ระฮ์มัน |
สุลต่านแห่งรัฐตรังกานู | |
ครองราชย์ | 16 ธันวาคม พ.ศ. 2488 – 20 กันยายน พ.ศ. 2522 |
ราชาภิเษก | 6 มิถุนายน พ.ศ. 2492 |
ก่อนหน้า | สุลต่านอาลี ชะฮ์ |
ถัดไป | สุลต่านมะฮ์มุด |
พระราชสมภพ | 27 มกราคม พ.ศ. 2450 กัวลาเตอเริงกานู บริติชมาลายา |
สวรรคต | 20 กันยายน พ.ศ. 2522 (72 พรรษา) กัวลาเตอเริงกานู รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย |
พระอัครมเหสี | เติงกูอินตัน ซาฮาระฮ์ (พ.ศ. 2487–2522) |
ราชวงศ์ | เบินดาฮารา |
พระราชบิดา | สุลต่านไซนัล อาบีดินที่ 3 |
พระราชมารดา | จิกไมนูนะฮ์ บินตี อับดุลละฮ์ |
ศาสนา | อิสลาม |
สุลต่านอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์ (มลายู: Sultan Ismail Nasiruddin Shah, ยาวี: إسماعيل ناصرالدين; 27 มกราคม พ.ศ. 2450 – 20 กันยายน พ.ศ. 2522) เป็นยังดีเปอร์ตวนอากงพระองค์ที่ 4 ของประเทศมาเลเซีย และเป็นสุลต่านพระองค์ที่ 16 ของรัฐตรังกานู
พระราชประวัติ
[แก้]พระชนม์ชีพช่วงต้น
[แก้]บางแหล่งข้อมูลระบุวันเสด็จพระราชสมภพของสุลต่านอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์ไว้หลายทาง แห่งหนึ่งว่าพระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2449[1] อีกแห่งหนึ่งว่า 24 มกราคม พ.ศ. 2450[2] ซึ่งอย่างหลังปรากฏอยู่แพร่หลายกว่า เป็นพระราชบุตรพระองค์ที่ห้าและเป็นพระราชบุตรหนึ่งในสามพระองค์ที่ยังมีพระชนม์ชีพของสุลต่านไซนัล อาบีดินที่ 3 กับจิกไมมูนะฮ์ บินตี อับดุลละฮ์ (เสียชีวิต พ.ศ. 2461) สุภาพสตรีชาวสยามที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม[3]
หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมลายูกัวลาเตอเริงกานูแล้ว ทรงศึกษาต่อที่วิทยาลัยมลายูกัวลากังซาร์[4]
สุลต่านอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์ถวายตัวเข้าเป็นราชองครักษ์ของสุลต่านซูไลมัน พระเชษฐาต่างพระชนนี และได้เข้าร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 ต่อมาใน พ.ศ. 2482 พระองค์เป็นนายทะเบียนของศาลสูงและศาลอุทธรณ์ นอกจากนี้ยังทรงปฏิบัติงานเป็นนายทะเบียนศาลที่ดิน ในปีถัดมาพระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็น เติงกู ซรี ปาดูกา ราจา ครั้น พ.ศ. 2484 พระองค์ขึ้นเป็นผู้พิพากษารัฐตรังกานู และได้รับการแต่งตั้งเป็นราชเลขาธิการของรัฐตรังกานู[5]
วิกฤตราชบัลลังก์
[แก้]สุลต่านซูไลมันเสด็จสวรรคตด้วยพระโลหิตเป็นพิษเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2485 หน่วยงานฝ่ายบริหารของทหารญี่ปุ่นซึ่งครอบครองมาลายาในขณะนั้น ได้ประกาศให้เติงกูอาลี พระราชโอรสของสุลต่านซูไลมันขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นสุลต่านแห่งตรังกานูพระองค์ที่ 15 และเมื่อรัฐบาลไทย นำโดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้รับดินแดนสี่รัฐมาลัยจากจักรวรรดิญี่ปุ่นเรียบร้อยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ก็ได้รับรองสถานภาพการเป็นสุลต่านของอาลีต่อไป[6]
มาลายากลับสู่การปกครองของสหราชอาณาจักรอีกครั้งหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายสหราชอาณาจักรไม่ยอมรับสุลต่านอาลี เพราะพระองค์มีหนี้สินล้นพ้นตัว และทรงสนิทสนมกับฝ่ายญี่ปุ่นมากเกินไปในช่วงที่ตกอยู่ในการปกครองของญี่ปุ่น[7] สอดคล้องกับที่สุลต่านอาลีทรงตรัสว่าหน่วยงานฝ่ายบริหารการทหารสหราชอาณาจักรต้องการปลดพระองค์ออก เพราะพระองค์ปฏิเสธที่จะลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญาสหภาพมาลายา[8] หน่วยงานฝ่ายบริหารการทหารสหราชอาณาจักรไม่ชอบพอในพระราชอัชฌาสัยส่วนพระองค์ ในกรณีที่พระองค์ปฏิเสธเติงกู เซอรี นีลา อูตามา พระราชธิดาของสุลต่านอาบู บาการ์แห่งปะหัง ซึ่งเป็นพระมเหสีอย่างเป็นทางการ แต่กลับไปอภิเษกสมรสใหม่กับนางบาทบริจาริกาที่เป็นอดีตหญิงนครโสเภณี[9]
วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 สภารัฐตรังกานูที่ประกอบไปด้วยสมาชิก 13 คน ประกาศถอดถอนสุลต่านอาลีออกจากตำแหน่ง และสถาปนาเติงกูอิซมาอิล ขึ้นเป็นสุลต่านแห่งตรังกานูแทนที่ และจัดพระราชพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2492 ณ พระราชวังมาซียะฮ์ กรุงกัวลาเตอเริงกานู[10] หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผู้สืบสันดานของสุลต่านอิซมาอิลก็ได้สืบราชสมบัติต่อมาตั้งแต่นั้น ส่วนอดีตสุลต่านอาลียังคงโต้แย้งการถูกถอดจากราชสมบัติของเขาเรื่อยมาจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2539[11]
สวรรคต
[แก้]สุลต่านอิซมาอิลเสด็จสวรรคตที่พระราชวังบาดารียะฮ์ ปาดังเซอรีเนอการา กรุงกัวลาเตอเริงกานู รัฐตรังกานู เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2522 หลังมีพระอาการประชวรด้วยพระหทัยพิการ พระศพถูกฝังไว้ ณ สุสานหลวงมัสยิดอาบีดิน กรุงกัวลาเตอเริงกานู[12] สุลต่านมะฮ์มุด พระราชโอรส ขึ้นเสวยราชสมบัติตรังกานูสืบมา
ชีวิตส่วนพระองค์
[แก้]สุลต่านอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์ อภิเษกสมรสสี่ครั้ง ดังนี้
- เจวันอามีนะฮ์ บินตี เจวันจิก (Che Wan Aminah binti Che Wan Chik) มีพระราชธิดาสองพระองค์
- เติงกูเตองะฮ์ ซาฮาระฮ์ บินตี เติงกูเซอตียาราจาปาฮัง เติงกูอูมาร์ (Tengku Tengah Zaharah binti Tengku Setia Raja Pahang Tengku Umar) มีพระราชบุตรด้วยกันแปดพระองค์ ภายหลังทรงหย่า
- เติงกูอินตัน ซาฮาระฮ์ บินตี เติงกูเซอตียาราจาเตอเริงกานู เติงกูฮีตัม อูมาร์ (Tengku Intan Zaharah binti Tengku Setia Raja Terengganu Tengku Hitam Umar) ไม่มีพระราชบุตรด้วยกัน[13]
- เจจาระฮ์ บินตี อับดุลละฮ์ (Che Jarah binti Abdullah) มีพระราชธิดาหนึ่งพระองค์
สุลต่านอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์เป็นช่างภาพสมัครเล่น[14] ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2466 ถึง 2522 ราจา โมฮามัด ไซนล อิฮ์ซัน ชะฮ์ พระราชนัดดา ตีพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับชีวิตส่วนพระองค์ในฐานะช่างภาพถูกตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2556[15]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Finestone, Jeffrey and Shaharil Talib (1994) The Royal Families of South-East Asia Shahindera Sdn Bhd
- ↑ Buyong Adil (1974) Sejarah Terengganu p 205 DBP
- ↑ Buyong Adil (1974) p 140
- ↑ mir.com.my
- ↑ Buyong Adil (1974) p. 205
- ↑ Willan, HC (1945) Interviews with the Malay rulers CAB101/69, CAB/HIST/B/4/7
- ↑ Willan (1945)
- ↑ Wan Ramli Wan Mohamad (1993) Pengakuan Tengku Ali Mengapa Saya Diturunkan Dari Takhta Terengganu Fajar Bakti, Kuala Lumpur
- ↑ Willan (1945)
- ↑ Buyong Adil (1974) p. 205
- ↑ Wan Ramli Wan Mohamad (1993)
- ↑ (22 September 1979) New Straits Times
- ↑ Finestone, Jeffrey and Shaharil Talib (1994)
- ↑ "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 October 2012. สืบค้นเมื่อ 27 January 2020.
{{cite web}}
: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์) - ↑ HRH Sultan Ismail Nasiruddin Shah: Pioneering Malaysian Photography 1923-71 (ISBN 978-967-11726-0-5)
ก่อนหน้า | สมเด็จพระราชาธิบดีอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
รายาปูตราแห่งปะลิส | ยังดีเปอร์ตวนอากง (21 กันยายน พ.ศ. 2508 – 20 กันยายน พ.ศ. 2513) |
สุลต่านอับดุล ฮาลิมแห่งเกอดะฮ์ | ||
สุลต่านอาลี ชะฮ์ | สุลต่านแห่งรัฐตรังกานู (16 ธันวาคม พ.ศ. 2488 – 20 กันยายน พ.ศ. 2522) |
สุลต่านมะฮ์มุด |