หลุยส์ วิตตอง (นักออกแบบ)
หลุยส์ วิตตอง | |
---|---|
เกิด | 4 สิงหาคม ค.ศ. 1821 |
เสียชีวิต | 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1892 | (70 ปี)
อาชีพ | นักธุรกิจ |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้ก่อตั้ง หลุยส์ วิตตอง |
ผู้สืบตำแหน่ง | จอร์จ เฟอร์โรล วิตตอง |
หลุยส์ วิตตอง (ฝรั่งเศส: Louis Vuitton; 4 สิงหาคม 1821 - 27 กุมภาพันธ์ 1892)[1] เป็นแฟชั่นดีไซเนอร์และนักธุรกิจชาวฝรั่งเศส เขาเป็นผู้ก่อตั้งหลุยส์ วิตตอง แบรนด์เครื่องหนัง ที่ในปัจจุบันมีเจ้าของคือแอลวีเอ็มเอช ก่อนหน้านี้เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นช่างทำหีบใส่ฉลองพระองค์ให้กับจักรพรรดินีเออเฌนี เดอ มอนตีโค จักรพรรดินีของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3[2]
ประวัติ
[แก้]วิตตองเกิดในตระกูลช่างไม้ เมื่ออายุได้ 10 ขวบ แม่ของเขาซึ่งเป็นช่างทำหมวกได้เสียชีวิต และพ่อของเขาก็เสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน เขาได้อาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงแต่ก็มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับแม่เลี้ยงมากนัก วิตตองได้หนีออกจากบ้านของเขาในฟร็องเช-ก็อมเต ในปี ค.ศ. 1835 เมื่ออายุ 13 ปี วิตตองได้ทำงานตลอดการเดินทางประมาณ 292 ไมล์ (470 กม.) ไปยังปารีส เมื่อเขามาถึงในปี ค.ศ. 1837 ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม เขาได้ฝึกงานกับนายมาเรชาล ซึ่งเป็นช่างทำกระเป๋า ภายในเวลาไม่กี่ปีวิตตองได้รับชื่อเสียงในหมู่ชนชั้นสูงของปารีสในฐานะหนึ่งในช่างทำกระเป๋าที่มีชื่อเสียงของเมือง
หลังจากการสถาปนาจักรวรรดิฝรั่งเศสขึ้นใหม่ภายใต้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 วิตตองได้รับการว่าจ้างให้เป็นช่างทำหีบใส่ฉลองพระองค์สำหรับจักรพรรดินีแห่งฝรั่งเศส
ในปี ค.ศ. 1854 เมื่ออายุได้ 33 ปี วิตตองได้แต่งงานกับ คลีเมนซ์-เอมิลี ปาร์ริอ วัย 17 ปี และไม่นานหลังจากนั้นเขาได้ออกจากร้านของ มาเรชาล และเปิดร้านและโรงงานทำกระเป๋าของตนเองในปารีส [3] วิตตองได้ปฏิวัติวงการด้วยการเปิดตัวกระเป๋าผ้าแคนวาสทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสุดล้ำสมัยในช่วงเวลาที่ตลาดมีเพียงกระเป๋าหนังโค้งมนเท่านั้น ความต้องการกระเป๋าที่มีมากขึ้นทำให้เขาขยายโรงงานให้ใหญ่ขึ้น
วิตตองยังออกแบบระบบล็อกแบบกันการกระแทกเป็นครั้งแรกของโลก รูปแบบการล็อกทั้งหมดถูกเก็บไว้เป็นความลับที่ห้องทำงานของเขา และลงทะเบียนลิขสิทธิ์ด้วยชื่อของเขาเอง
ในปี ค.ศ. 1871 ได้เกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ทำให้โรงงานของวิตตองเกิดความวุ่นวายขึ้น เครื่องมือหลายอย่างของเขาถูกขโมย ทำให้วิตตองต้องสร้างร้านใหม่ทันทีในย่านใจกลางกรุงปารีส ในปี ค.ศ. 1872 วิตตองเปิดตัวไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยมีการออกแบบสีเบจโมโนแกรมพร้อมแถบสีแดงที่เป็นสัญลักษณ์แบรนด์ของเขา ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1892[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Timeline". Louis Vuitton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 December 2008. สืบค้นเมื่อ 3 March 2008.
- ↑ De Luna, Alexis (1995). Contemporary fashion. London: St. James Press. p. 750. ISBN 1-55862-173-3.
- ↑ "Louis Vuitton". Vogue. UK. 20 June 2012.
- ↑ "Diamond Portraits: Louis Vuitton". Ehud Laniado. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-08. สืบค้นเมื่อ 2021-08-06.