อำเภอจอมทอง
อำเภอจอมทอง | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Chom Thong |
พระเจดีย์คู่บนยอดดอยอินทนนท์ | |
คำขวัญ: อินทนนท์สูงเด่น ร่มเย็นองค์พระธาตุ น้ำตกสวยสะอาด เชิดชูศาสน์ไม้ค้ำโพธิ์ | |
แผนที่จังหวัดเชียงใหม่ เน้นอำเภอจอมทอง | |
พิกัด: 18°25′2″N 98°40′33″E / 18.41722°N 98.67583°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 712.297 ตร.กม. (275.019 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 65,811 คน |
• ความหนาแน่น | 92.39 คน/ตร.กม. (239.3 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 50160 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 5002 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอจอมทอง เลขที่ 156 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
จอมทอง (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นอำเภอขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 120 ปี มีศักยภาพในการพัฒนาสูง มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์สวยงาม มีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม จึงทำให้อำเภอจอมทองเป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเกือบ 2 ล้านคน ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญเมืองหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงคือ ดอยอินทนนท์
อำเภอจอมทองเป็นอำเภอที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูง มีภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยในการรองรับความเจริญจากจังหวัดเชียงใหม่ สามารถเดินทางติดต่อกับอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงได้สะดวก มีการขยายตัวทางการศึกษา การก่อสร้างห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจด้านสินเชื่อ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต หอพักและบ้านจัดสรรขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2551 เป็นต้นมา ปัจจุบันจึงเป็นศูนย์กลางความเจริญทุกๆ ด้านของทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ทางตอนใต้ของจังหวัดลำพูน และทางตอนใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในด้านการศึกษา มีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยของรัฐ 3 แห่ง วิทยาลัยการอาชีพ 1 แห่ง มีโรงเรียนมัธยมศึกษา และโรงเรียนประถมศึกษาที่มีชื่อเสียง และใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ตอนใต้ ในด้านการสาธารณสุข มีโรงพยาบาลจอมทอง โรงพยาบาลที่กำลังพัฒนาเทียบเท่าโรงพยาบาลระดับจังหวัด รองรับการรักษาผู้ป่วยในเขตพื้นที่อำเภอจอมทองและพื้นที่กลุ่มอำเภอทางเชียงใหม่ตอนใต้ ด้านการท่องเที่ยว มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียง ได้แก่ ยอดดอยอินทนนท์ และน้ำตกในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าแสงดาที่บ้านไร่ไผ่งาม แหล่งผ้าฝ้ายทอมือในเขตตำบลสบเตี๊ยะ อุทยานแห่งชาติออบหลวง รวมถึงประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ในช่วงสงกรานต์ เป็นต้น
ประวัติ
[แก้]ยุคก่อนประวัติศาสตร์
[แก้]จากการสำรวจทางโบราณคดีในพื้นที่อำเภอจอมทอง เมื่อปี พ.ศ. 2474 โดย ศาสตราจารย์ฟริทซ์ สารสิน นักโบราณคดีชาวสวิสเซอร์แลนด์ ได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ ได้แก่ เครื่องมือหินกระเทาะ และภาชนะดินเผาทั้งที่ไม่มีลวดลายและมีลวดลายเชือกทาบ รวมถึงเครื่องมือที่ทำจากกระดูกและเปลือกหอย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชุมชนโบราณที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่ โดยมีการล่าสัตว์และเก็บของป่า ตลอดจนเริ่มมีการสร้างเครื่องใช้จากดินเผา[1]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) โดยกรมศิลปากร ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่โบราณคดีในอำเภอจอมทอง และค้นพบภาพเขียนสีโบราณที่บริเวณผาคันนา หน้าผาชั้นบนของน้ำตกแม่กลาง โดยหน้าผามีความยาว 31 เมตร และสูง 12 เมตร ภาพเขียนสีที่พบมีเพียงสีแดง ประกอบด้วยภาพบุคคลยกมือทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งถือเครื่องมือคล้ายธนู รวมถึงภาพสัตว์ลักษณะคล้ายช้างและลายเรขาคณิต เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงถึงการอยู่อาศัยของชุมชนโบราณในพื้นที่ดังกล่าว[2]
นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติออบหลวงยังเป็นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยในปี พ.ศ. 2527 มีการค้นพบหลุมฝังศพมนุษย์โบราณและโครงกระดูกของมนุษย์ในยุคสังคมเกษตรสมัยสำริด ณ บริเวณผาช้าง ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง อีกทั้งยังมีการค้นพบสะเก็ดหินที่ใช้ในการทำเครื่องมือ และภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผา บริเวณใกล้เคียงกันยังพบภาชนะดินเผาจำนวนมากที่มีลวดลายเชือกทาบ และเครื่องมือหินขัดทั้งที่สมบูรณ์และแตกหัก
ยุคประวัติศาสตร์
[แก้]"กำลังทำการรวบรวมข้อมูล"
อำเภอจอมทอง มีประวัติความเป็นมาสืบเนื่องเกี่ยวกับตำนานวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร โดยในปี พ.ศ. 2443 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองขึ้นใหม่ ในช่วงที่นครเชียงใหม่ว่างเจ้าผู้ครองนครอันเนื่องจากการถึงแก่พิราลัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ในกลุ่มหัวเมืองย่อยทางใต้ของนครเชียงใหม่ ได้มีการจัดตั้งที่ว่าการอำเภอเพื่อเป็นศูนย์กลางปกครองขึ้น ณ บริเวณบ้านท่าศาลา ริมแม่น้ำปิงทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอจอมทอง ซึ่งปัจจุบันคือบ้านท่าศาลา หมู่ที่ 3 ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง [3] โดยมีเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ (ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนคร) เป็นผู้คุมการก่อสร้างด้วยตนเองและตั้งได้ชื่อตามชื่อวัดพระธาตุจอมทองว่า “อำเภอจอมทอง”
- วันที่ 12 กรกฎาคม 2451 แยกพื้นที่ตำบลแม่ทับ (ปัจจุบันคือตำบลบ้านทับ) ตำบลท่าผา ตำบลช่างเคิ่ง และตำบลแม่ศึก ของอำเภอจอมทอง ไปจัดตั้งตั้งเป็น อำเภอเมืองแจ่ม[4] ขึ้นนครเชียงใหม่
- วันที่ 12 กันยายน 2481 ยุบอำเภอช่างเคิ่ง ลงเป็น กิ่งอำเภอช่างเคิ่ง และให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอจอมทอง[5]
- วันที่ 17 เมษายน 2482 เปลี่ยนแปลงชื่อกิ่งอำเภอช่างเคิ่ง อำเภอจอมทอง เป็น กิ่งอำเภอแม่แจ่ม[6] อำเภอจอมทอง
- วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลท่าผา แยกออกจากตำบลช่างเคิ่ง[7]
- วันที่ 30 พฤษภาคม 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลบ้านหลวง ในท้องที่บางส่วนของตำบลบ้านหลวง[8]
- วันที่ 5 มิถุนายน 2499 ยกฐานะกิ่งอำเภอแม่แจ่ม อำเภอจอมทอง เป็น อำเภอแม่แจ่ม[9]
- วันที่ 7 กรกฎาคม 2513 ตั้งตำบลข่วงเปา แยกออกจากตำบลบ้านหลวง[10][11]
- วันที่ 24 ตุลาคม 2521 ตั้งตำบลดอยแก้ว แยกออกจากตำบลบ้านหลวง[12][13]
- วันที่ 16 สิงหาคม 2522 ตั้งตำบลสามหลัง แยกออกจากตำบลสองแคว[14]
- วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2524 เปลี่ยนแปลงชื่อตำบลสามหลัง อำเภอจองทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็น ตำบลสองแคว และเปลี่ยนแปลงชื่อตำบลสองแคว อำเภอจองทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็น ตำบลดอยหล่อ[15]
- วันที่ 23 พฤษภาคม 2534 ตั้งตำบลสันติสุข แยกออกจากตำบลยางคราม[16]
- วันที่ 22 มีนาคม 2538 แยกพื้นที่ตำบลดอยหล่อ ตำบลสองแคว ตำบลยางคราม และตำบลสันติสุข ของอำเภอจอมทอง ไปจัดตั้งเป็น กิ่งอำเภอดอยหล่อ[17] และให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอจอมทอง
- วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลบ้านหลวง เป็นเทศบาลตำบลบ้านหลวง[18] ด้วยผลของกฎหมาย
- วันที่ 11 กันยายน 2543 เปลี่ยนแปลงชื่อเทศบาลตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง เป็น เทศบาลตำบลจอมทอง[19]
- วันที่ 8 กันยายน 2550 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง เป็น อำเภอดอยหล่อ[20]
ทำเนียบนายอำเภอ
[แก้]ปัจจุบันอำเภอจอมทอง มีนายแขวงหรือนายอำเภอรวมทั้งสิ้น 42 ท่าน ดังนี้
รายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ | ||
ลำดับ | ชื่อ | วาระ |
---|---|---|
1 | นายเวส | พ.ศ. 2443 - 2448 |
2 | หลวงฤทธิ์ภิญโญยศ | พ.ศ. 2450 - 2452 |
3 | ขุนจอมจารุบาล | พ.ศ. 2452 - 2454 |
4 | เจ้าทักษิณเกษตร | พ.ศ. 2455 - 2456 |
5 | หลวงพิทักษ์นรการ | พ.ศ. 2456 - 2459 |
6 | เจ้าประพันธ์พงษ์ | พ.ศ. 2459 - 2459 |
7 | หลวงพิศาลมรรคา | พ.ศ. 2460 - 2462 |
8 | ขุนศักดิ์ประชาบาล | พ.ศ. 2463 - 2464 |
9 | นายแสง สุวรรณทัต | พ.ศ. 2464 - 2466 |
10 | พระประธานธุรการ | พ.ศ. 2467 - 2469 |
11 | นายถนอม บริจินดา | พ.ศ. 2470 - 2472 |
12 | พระศรีพัฒราษฎร์ | พ.ศ. 2473 - 2476 |
13 | ขุนวินิจธุรการ | พ.ศ. 2477 - 2480 |
14 | ขุนประสานนรกรรม | พ.ศ. 2480 - 2480 |
15 | นายประเสริฐ เจริญโต | พ.ศ. 2481 - 2484 |
16 | นายอรรถ วิสูตรโยธาภิบาล | พ.ศ. 2484 - 2490 |
17 | นายศิริ ผลารักษ์ | พ.ศ. 2490 - 2492 |
18 | นายสมาส อมาตยกุล | พ.ศ. 2492 - 2496 |
19 | นายทองสุก สุวัตถี | พ.ศ. 2496 - พ.ศ. 2497 |
20 | นายชื่น บุญยจันทรานนท์ | พ.ศ. 2497 - พ.ศ. 2498 |
21 | นายฐิติศักดิ์ ศศภูริ | พ.ศ. 2498 - พ.ศ. 2499 |
22 | นายเหรียญ เสาวธีระ | พ.ศ. 2499 - 2506 |
23 | นายสุรจิตต์ จันทรศัพท์ | พ.ศ. 2506 - 2513 |
24 | นายทอง จิตรัตน์ | พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2516 |
25 | นายสุเทพ โพธิสุวรรณ | พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2518 |
26 | ร.อ.ประจักษ์ มาสุวัตร | พ.ศ. 2518 - 2519 |
27 | นายปรีชา ศรีนาราง | พ.ศ. 2519 - 2527 |
28 | นายทวี ทวีพูล | พ.ศ. 2521 - 2522 |
29 | นายประภัศร์ แก้วโพธิ์ | พ.ศ. 2522 - 2523 |
30 | นายประสาท พงษ์ศิวาภัย | พ.ศ. 2523 - 2527 |
31 | นายทวี แก้วเรือน | พ.ศ. 2527 - 2530 |
32 | นายสวัสดิ์ ศรีสุวรรณดี | พ.ศ. 2530 - 2530 |
33 | ร.ต.บุญนพ ถปะติวงศ์ | พ.ศ. 2530 - 2533 |
34 | นายบำรุง วอนเพียร | พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2534 |
35 | นายเฉลิมชัย วรวุฒิพุทธพงษ์ | พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2538 |
36 | นายสุรงค์ ปราบโรค | พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2540 |
37 | นายไพบูลย์ บุญธรรมช่วย | พ.ศ. 2540 - 2542 |
38 | นายอนุวัตร์ เดชนันทรัตย์ | พ.ศ. 2542 - 2543 |
39 | นายกฤษดาภรณ์ เสียมภักดี | พ.ศ. 2543 - 2543 |
40 | นายเติมศักดิ์ จันทรประยูร | พ.ศ. 2543 - 2545 |
41 | นายพรศักดิ์ สงวนผล | พ.ศ. 2545 - 2550 |
42 | ร.ต.ชยันต์ อยู่สวัสดิ์ | พ.ศ. 2550 - 2550 |
43 | นายสุพจน์ หอมชื่น | พ.ศ. 2550 - |
คำขวัญ
[แก้]- อินทนนท์สูงเด่น ดอยอินทนนท์เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดของประเทศไทย สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,565 เมตร ปัจจุบันเป็นสถานที่สำคัญของประเทศ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มาเที่ยวปีละหลายล้านคน เป็นสถานที่ที่งดงาม มีถ้ำ น้ำตก ภูเขา ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว อาทิ เช่น น้ำตกแม่กลาง น้ำตกแม่ยะ น้ำตกสิริภูมิ น้ำตกวชิรธาร ถ้าบริจินดา ดอยหัวเสือ กิ่วแม่ปาน เป็นต้น
- ร่มเย็นองค์พระธาตุ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวจอมทอง นับจากตำนานนายสอย นางเม็งเมื่อปี พ.ศ. 1994 จนถึงปัจจุบันนับได้ 561 ปี เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เคยมีพระพรหมมงคล (ทอง สิริมงฺคโล) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส[21] ซึ่งท่านเป็นพระอาจารย์สายวิปัสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพอย่างสูงจากพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทำให้วัดพระธาตุศรีจอมทองเป็นจุดที่พุทธศาสนิกชนเดินทางมาเคารพสักการะกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ท่านเจ้าคุณเป็นจำนวนมากมายในแต่ละปี
- น้ำตกสวยสะอาด จอมทองถือว่าเป็นอำเภอที่มีน้ำตกมากที่สุดอำเภอหนึ่งของประเทศ มีน้ำตกน้อยใหญ่ทางทิศตะวันตก ที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และอุทยานแห่งชาติออบหลวง อาทิ เช่น น้ำตกแม่ยะ น้ำตกแม่กลาง น้ำตกแม่เตี๊ยะ น้ำตกวชิรธาร น้ำตกสิริภูมิ น้ำตกสิริธาร น้ำตกแม่ปาน เป็นต้น
- เชิดชูศาสน์แห่ไม้ค้ำโพธิ์ อำเภอจอมทองมีประเพณีที่สำคัญ คือประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ ที่ชาวจอมทองปฏิบัติสืบทอดมายาวนาน นิยมแห่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ ถือเป็นต้นแบบของการแห่ไม้ค้ำสะหลีของคนภาคเหนือ เริ่มถือปฏิบัติขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง ปัจจุบันกลายเป็นประเพณีที่แพร่หลายไปหลายพื้นที่ในอำเภอใกล้เคียงกับอำเภอจอมทองและจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอจอมทองมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอแม่วางและอำเภอดอยหล่อ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเวียงหนองล่องและอำเภอบ้านโฮ่ง (จังหวัดลำพูน)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอฮอด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอแม่แจ่ม
ลักษณะทางภูมิประเทศ
[แก้]ลักษณะพื้นที่อำเภอจอมทอง ส่วนใหญ่เป็นที่ราบกว้าง ระหว่างริมฝั่งแม่น้ำปิง และน้ำแม่กลาง ซึ่งเป็นชุมชนหนาแน่นกระจายในพื้นที่ดังกล่าว พื้นที่หุบเขาเชิงเขาทางทิศตะวันตก ซึ่งใช้ประโยชน์ในการทำนา ทำสวน ทำไร่ ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ลำไย สำหรับบริเวณภูเขาเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัย
สภาพพื้นที่ พื้นที่สูงทางตอนกลาง ที่ราบลุ่มทางทิศเหนือ และพื้นที่ภูเขาทางทิศตะวันตกของอำเภอ
ภูเขา ด้านตะวันตกมีเทือกเขาอินทนนท์ ซึ่งมียอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,565.3341 เมตร กั้นเขตแดนระหว่างอำเภอจอมทองและอำเภอแม่แจ่มโดยตลอด
แม่น้ำ มีลำน้ำสำคัญ ได้แก่ ลำน้ำปิง ลำน้ำแม่กลาง ลำน้ำแม่แจ่ม ลำน้ำแม่เตี๊ยะ ลำน้ำแม่แต๊ะ และลำน้ำแม่สอย
ลักษณะภูมิอากาศ
[แก้]ภูมิอากาศพื้นที่อำเภอจอมทอง แบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู ได้แก่ - ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนตุลาคม โดยได้รับอิทธิพลจาก ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ - ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพลจาก ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดพาเอาความหนาวเย็นจากประเทศจีนลงมาปกคลุม ประเทศไทยตอนบน - ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมฝ่ายใต้ สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป อากาศมรสุมเมืองร้อน ช่วง พฤษภาคม - กันยายน มีฝนตกชุก ช่วงเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ มีอากาศหนาวและแห้งแล้ง อุณหภูมิประมาณ 9.7 องศา สูงสุดประมาณ 39.6 องศา [22][23]
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอจอมทองแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 6 ตำบล 103 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับที่ | อักษรไทย | ตัวเมือง | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | ประชากรทั้งหมด (พ.ศ. 2566) [24] |
ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น (พ.ศ. 2566) [24] | |
---|---|---|---|---|---|---|---|
1. | บ้านหลวง | Ban Luang | 23 | 16,737 | 3,049 13,688 |
(ทต. จอมทอง) (ทต. บ้านหลวง) | |
2. | ข่วงเปา | Khuang Pao | 15 | 10,525 | 4,560 5,965 |
(ทต. จอมทอง) (อบต. ข่วงเปา) | |
3. | สบเตี๊ยะ | Sop Tia | 21 | 11,653 | 11,653 | (ทต. สบเตี๊ยะ) | |
4. | บ้านแปะ | Ban Pae | 20 | 12,072 | 12,072 | (ทต. บ้านแปะ) | |
5. | ดอยแก้ว | Doi Kaeo | 9 | 5,578 | 1,388 4,190 |
(ทต. จอมทอง) (ทต. ดอยแก้ว) | |
6. | แม่สอย | Mae Soi | 15 | 9,246 | 9,246 | (ทต. แม่สอย) | |
รวม | 103 | 65,811 | 59,846 (เทศบาล) 5,965 (อบต.) |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอจอมทองประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลจอมทอง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านหลวง ตำบลข่วงเปา และตำบลดอยแก้ว
- เทศบาลตำบลบ้านหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านหลวง (นอกเขตเทศบาลตำบลจอมทอง)
- เทศบาลตำบลบ้านแปะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแปะทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลดอยแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอยแก้ว (นอกเขตเทศบาลตำบลจอมทอง)
- เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสบเตี๊ยะทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลแม่สอย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่สอยทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลข่วงเปา (นอกเขตเทศบาลตำบลจอมทอง)
สถานศึกษา
[แก้]- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ (จอมทอง)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย วิทยาเขตจอมทอง
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาเขตจอมทอง (อยู่ในระหว่างการดำเนินการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเพื่อเปิดเป็นวิทยาเขต)
- วิทยาลัยการอาชีพจอมทอง
- โรงเรียนจอมทอง
- โรงเรียนชุมชนศรีจอมทอง
- โรงเรียนณัทชวิทย์ (โรงเรียนเอกชน)
- โรงเรียนสุทธิวงค์ดำรงวิทย์ (โรงเรียนเอกชน)
- โรงเรียนพุทธนิมิตรวิทยา (โรงเรียนนักธรรม เปิดสอนระดับ ม.1-ม.6)
- โรงเรียนอนุบาลสวนแก้ว (โรงเรียนเอกชน)
- โรงเรียนบ้านสบเตี๊ยะ
- โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 79
- โรงเรียนชุนชนบ้านข่วงเปาเหนือ
- โรงเรียนบ้านปากทางท่าลี่
- โรงเรียนบ้านแปะ
- โรงเรียนขุนกลาง
- โรงเรียนบ้านวังน้ำหยาด
- โรงเรียนบ้านโรงวัว
- โรงเรียนบ้านห้วยน้ำดิบ
- โรงเรียนบ้านดงหาดนาค
- โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยทราย
- โรงเรียนชุมชนบ้านท่าข้าม
- โรงเรียนบ้านใหม่สารภี
ห้างสรรพสินค้า
[แก้]- โลตัส สาขาจอมทอง
- แม็คโคร สาขาจอมทอง
- สยามทีวี ดิจิต้อลสโตร์ สาขาจอมทอง
- ห้างเสรีภู่สิฐ (วัสดุก่อสร้าง)
- แจ่มฟ้า เซฟมาร์ท สาขาจอมทอง
- โลตัสโกเฟรช สาขาสี่แยกน้อย (ข่วงเปา)
- โลตัสโกเฟรช สาขาสบเตี๊ยะ (จอมทอง เชียงใหม่)
ตลาดที่สำคัญ
[แก้]- ตลาดสดเทศบาลตำบลจอมทอง
- ตลาดสี่แยกน้อย-ข่วงเปา (กาดแลงหน้อย)
- ตลาดเช้าน้อย (กาดเจ๊าหน้อย)
- ตลาดโชคเจริญ
- ตลาดแม่ดวงดีสามแยกขึ้นดอยอินทนนท์
- ตลาดจำหน่ายดอกไม้ พืชผัก ผลไม้เมืองหนาว ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกของหมู่บ้านม้งขุนกลาง หลัก ก.ม.ที่ 31 ถ.จอมทอง - อินทนนท์
ตลาดนัด
- ตลาดวันอังคาร ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอจอมทอง บริเวณศูนย์การค้าสมายเพลส จอมทอง
- ตลาดวันพุธ บ้านหนองอาบช้างและบ้านห้วยน้ำดิบ
- ตลาดวันพฤหัส บ้านสบเตี๊ยะและบ้านสบแจ่มฝั่งซ้าย
- ตลาดวันศุกร์ หน้าที่ว่าการอำเภอจอมทองและบริเวณหน้าเทศบาลตำบลบ้านแปะ
- ตลาดวันเสาร์ บริเวณบ้านสบเตี๊ยะและบ้านดงหาดนาค และบริเวณศูนย์การค้าสมายเพลส จอมทอง
การคมนาคม
[แก้]อำเภอจอมทองตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ บนถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ระยะทางห่างจากเชียงใหม่ 58 กิโลเมตร[25] เส้นทางเชื่อมต่ออำเภอจอมทอง
- ทางหลวงแผ่นดิน
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 จากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านเขตอำเภอจอมทองไปจนสุดเขตที่สะพานท่าข้าม ระยะทาง 88 กิโลเมตร
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 จากสามแยกขึ้นดอยอินทนนท์ (จอมทอง) – แม่กลาง ระยะทาง 7.705 กิโลเมตร
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 0202 จากแม่กลาง – ดอยอินทนนท์ ระยะทาง 38.995 กิโลเมตร
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1010 จากท่าลี่ – ป่าซาง ระยะทาง 30 กิโลเมตร
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1085 จากขุนกลาง – ขุนวาง ระยะทาง 25 กิโลเมตร
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1088 จากด่านตรวจที่ 2 อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ – แม่แจ่ม ระยะทาง 19 กิโลเมตร
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1103 จากบุ้งฮวด (จอมทอง) – เวียงหนองล่อง ระยะทาง 5 กิโลเมตร
- ทางหลวงชนบท
- ทางหลวงชนบท บ้านหนองล่อง – ท่าศาลา
- ทางหลวงชนบท บ้านทุ่งปูน – ท่ามณี
- ทางหลวงชนบท แยกทางหมายเลข 1009 – บ้านเมืองกลาง
- ทางหลวงชนบท บ้านแท่นดอกไม้ – บ้านดงหาดนาค
- ทางหลวงชนบท บ้านสบเตี๊ยะ - บ้านแพะดินแดง
- ทางหลวงชนบท บ้านวังน้ำหยาด - บ้านแม่สอย
- ทางหลวงชนบท บ้านสบแปะ - ถ้ำตอง
- ทางหลวงชนบท บ้านทุ่งปูน-บ้านแม่เตี๊ยะ
- ทางหลวงชนบท บ้านแม่สอย-บ้านสบแจ่มฝั่งซ้าย
- ทางหลวงชนบท บ้านแม่กลางบ้านลุ่ม-ดอยแก้ว
- ทางหลวงชนบท บ้านสบแปะ-ขุนแปะ
- ทางหลวงชนบท บ้านบนพัฒนา-บ้านป่ากล้วยพัฒนา
- ทางหลวงชนบท บ้านท่าศาลา-บ้านดงหลวง
- ทางหลวงชนบท บ้านเมืองกลาง-บ้านป่ะหัวเสือ
- ทางหลวงชนบท บ้านน้ำลัด-น้ำตกแม่ยะ
สถานที่ท่องเที่ยว
[แก้]วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
[แก้]วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ถนนเชียงใหม่ - ฮอด ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่มีความสำคัญคู่กับเมืองเชียงใหม่มายาวนาน เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุสำคัญของล้านนา ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุที่พุทธศาสนิกชนชาวล้านนามากราบไหว้บูชาและสรงน้ำพระธาตุในวันสำคัญต่าง ๆ สำหรับการประดิษฐานพระบรมธาตุวัดพระธาตุศรีจอมทองฯ นี้มีความแตกต่างจากการประดิษฐานพระบรมธาตุในที่อื่นที่มักประดิษฐานภายในพระธาตุเจดีย์ จากบันทึกทางประวัติศาสตร์นับตั้งแต่เมื่อแรกสร้างวัดระบุว่า วัดมีอายุกว่า 500 ปีโดยสร้างวิหารเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุวัดพระธาตุศรีจอมทองฯ ยังเป็นวัดที่มีการก่อสร้างรวมถึงการอุปถัมภ์ด้วยกษัตริย์และเจ้านายอยู่เสมอ ซึ่งส่งผลให้พระวิหารที่ปรากฏในปัจจุบันผ่านการบูรณะมาหลายครั้ง จนรูปแบบสถาปัตยกรรมพระวิหารโดยรวมกลายเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมวิหารล้านนาในยุคฟื้นฟูเชียงใหม่ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 - 25[26]
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
[แก้]อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่ อยู่ท้องที่อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างเส้นรุ้งที่ 18° 24' ถึง 18° 40' เหนือ และเส้นแวงที่ 98° 24' ถึง 98° 42' ตะวันออกครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 301,500 ไร่ หรือประมาณ 482 ตารางกิโลเมตร สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกโดยใช้เส้นทางสาย เชียงใหม่ - ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) ไปยังอำเภอจอมทอง ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามถนนสาย จอมทอง - ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009) ประมาณ 8 กิโลเมตรก็จะเริ่มเข้าเขตอุทยานแห่งชาติที่บริเวณน้ำตกแม่กลาง และตัดขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์เป็นระยะทางทั้งหมด 49.8 กิโลเมตร ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ จะตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 31 พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติ จะอยู่ในเขตอำเภอจอมทอง[27]
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์นับได้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบตามหลักการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติสากล ทั้งในด้านขนาดของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ความโดดเด่นของลักษณะทางกายภาพและชีวภาพของพื้นที่ สภาพทางภูมิทัศน์ คุณค่าทางประวัติศาสตร์และคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่ ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จัดได้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาตี่มีผู้เข้าเยี่ยมชมมากที่สุดอุทยานหนึ่งของประเทศไทย จากความหลากหลายของสภาพภูมิประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็น จุดสูงสุดของประเทศไทย ทำให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีสภาพเป็นหุบเขา หน้าผา ลำห้วย โตรกธารและน้ำตกต่าง ๆ และสภาพป่าชนิดต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ทำให้อุทยานแห่งชาติมีศักยภาพที่สูงมากสำหรับการที่จะใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเพื่อการศึกษาทางด้านธรรมชาติวิทยา และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้แก่
จุดสูงสุดแดนสยาม
[แก้]ยอดดอยอินทนนท์ คือ จุดสิ้นสุดของทางหลวงหมายเลขแผ่นดิน 1009 เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย (2,565 เมตร) มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปีเป็นที่ตั้งสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศไทยและเป็นที่ประดิษฐานสถูปเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้ายซึ่งเล็งเห็น ความสําคัญของป่าไม้และหวงแหนดอยหลวงเป็นอย่างมากต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้จนชั่วลูกชั่ว หลาน ท่านผูกพันกับที่นี่มากจึงสั่งว่าหากสิ้นพระชนม์ไปแล้วให้แบ่งเอาอัฐิส่วนหนึ่งมาไว้ที่นี่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวอยู่บริเวณใกล้กับยอดดอย แสดงนิทรรศการเรื่องราวของดอยอินทนนท์จากอดีตถึงปัจจุบัน ให้ความรู้ทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ ทางชีววิทยา ป่าไม้สิ่งมีชีวิต ซึ่งบาง ชนิดหาดูได้ที่นี่แห่งเดียวในเมืองไทยผู้มาเยือนจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย
พระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ
[แก้]พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดลและพระมหาธาตุเจดียน์ภพลภูมิสิริ ประดิษฐานอยู่บนที่สูงสุดในราชอาณาจักรไทย ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ถูกสร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทย โดยพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดลสร้างถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบเมื่อปี พ.ศ. 2530 และพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ สร้างถวาย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบเมื่อปี พ.ศ. 2535[28]
น้ำตกสิริภูมิ
[แก้]น้ำตกสิริภูมิ ไหลมาจากหน้าผาสูงชัน เป็นทางยาวสวยงามมาก สามารถมองเห็นได้จาก บริเวณที่ทําการอุทยานฯ เป็นสายน้ําตกแฝดไหลลงมาคู้กันแต่เดิมเรียกว่า เลาลึ ตามชื่อของ หัวหน้าหมู่บ้านม้งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ น้ําตกสิริภูมิตั้งอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงแผนดินหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร แต่รถไม่สามารถเข้าไปใกล้ตัวน้ําตกได้ นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าเข้าไปบริเวณด้านล่างของน้ำตก
น้ำตกวชิรธาร
[แก้]น้ำตกวชิรธาร เป็นน้ำตกขนาดใหญ้ เดิมชื่อ ตาดฆ้องโยง น้ำจะดิ่งจากผาด้านบนตก ลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ในช่วงที่มีน้ำมากละอองน้ำจะสาดกระเซ็นไปทั่วบริเวณรู้สึกได้ถึงความเย็น และชุ่มชื้น และสะพานไม้ที่ทอดยาวเข้าไปหาหน้าผานั้นจะเปียกลื่นอยู่ตลอดเวลา แต่หากเดินเข้า ไปจนสุดจะได้สัมผัสกับความงามของน้ำตกมากที่สุด จากเชิงดอยอินทนนท์ขึ้นไปถึงกิโลเมตร ที่ 21 จะเห็นป้ายบอกทางแยกขวาเข้าน้ำตกลงไป 500 เมตรถนนจะถึงที่ตัวน้ำตก อีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งเป็นเส้นทางเดิมอยู่เลยจากทางแยกแรกไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามป่ายและเดินจาก ลานจอดรถลงไปอีก 351 เมตร หากใช้เส้นทางนี้จะได้สัมผัสกับความงามของธรรมชาติรอบด้าน ตลอดทางเดิน
น้ำตกแม่กลาง
[แก้]น้ำตกแม่กลาง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ชั้นเดียว สูงประมาณ 100 เมตร ต้นน้ำอยู่บนดอยอินทนนท์มีน้ำไหลตลอดปีมีความสวยงามตามธรรมชาติการเดินทางจากทางแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 ไปอีก 8 กิโลเมตรแยกซ้าย 500 เมตรเป็นทางลาดยางตลอดเส้นทาง
น้ำตกแม่ยะ
[แก้]น้ำตกแม่ยะ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงามมากแห่งหนึ่ง เพราะน้ำซึ่งไหลลงมาจาก หน้าผาที่สูงชัน 280 เมตรลงมากระทบโขดหินเป็นชั้น ๆ เหมือนม้าน แล้วลงไปรวมกันที่แอ่งน้ำ เบื้องล่าง น้ำใสเย็นเหมาะสําหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอีกทั้งบริเวณรอบ ๆ น้ำตกเป็นป่าเขาอัน สงบเงียบ และมีศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวตั้งอยู่ด้วย บริเวณน้ําตกสะอาดและจัดการพื้นที่ได้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไป 14 กิโลเมตรและต้องเดินเท้าเข้าไปอีก 200 เมตร
น้ำตกสิริธาร
[แก้]น้ำตกสิริธาร เดิมน้ำตกแห่งนี้มีชื่อว่า น้ำตกป่าคา ซึ่งเป็นน้ำตกที่ไหลมาจากลำน้ำแม่กลาง บริเวณเทือกเขาดอยอินทนนท์ และไหลลงสู่น้ำแม่ปิงที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2545 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทอดพระเนตร ทรงพระราชทานนามน้ำตกว่า น้ำตกสิริธาร น้ำตกนี้อยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 22 เป็นน้ำตกที่ไหลลงมาจากผาหินขนาดใหญ่มีความสูงของน้ำตกประมาณ 50 เมตรจากฐานไหลลดหลั่นกันลงมาเป็น 2 ชั้นต่อกันอย่างสวยงามมาก และมีปริมาณน้ำมากและไหลแรงตลอดทั้งปี สามารถได้ยินเสียงของน้ำตกในระยะไกล ความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ประมาณ 870 เมตร และเปิดเป็นนักท่องเที่ยวใหม่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2545 ลำน้ำสายนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำแม่กลางและอำเภอจอมทอง ที่ใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิดเช่น กบ เขียด ปลาหลายชนิดและปลาที่หายาก เช่นปลาค้างคาว ซึ่งเป็นปลาที่ได้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oreoglanis siamensis อันเป็นเกียรติ์แก่ประเทศไทย[29]
โครงการหลวงอินทนนท์
[แก้]โครงการหลวงอินทนนท์ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง เดินทางตามเส้นทางสู่ดอยอินทนนท์ ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเข้าสู่โครงการฯ อีกประมาณ 1 กิโลเมตร โครงการหลวงอินทนนท์รับผิดชอบส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้แก่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และชาวเขาเผ่าม้งในพื้นที่ ผลิตผลหลักของโครงการ คือ ไม้ดอกเมืองหนาวต่างๆ เช่น คาร์เนชั่น เบญจมาศ สแตติส ยิบโซ เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชม แปลงปลูกดอกไม้ ห้องทดลองทำการเพาะขยายพันธุ์ และยังสามารถแวะชม แปลงปลูกดอกไม้ของชาวเขาในหมู่บ้านซึ่งอยู่บริเวณปากทางเข้าโครงการฯ ได้ด้วย
กิ่วแม่ปาน
[แก้]เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนดอยอินทนนท์ กิ่วแม่ปาน ทางเข้าอยู่กิโลเมตรที่ 42 ด้านซ้ายมือระยะทางเดิน 3 กิโลเมตรเหมาะสําหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติแท้จริง ระหว่างทางเดินจะพบป่าดิบเขา (Hill Evergreen) ก่อนผ่านเข้าสู่ทุ่งหญ้าซึ่งเคยเป็นพื้นที่ป่าถูกทําลาย เพื่อเป็นการศึกษาลักษณะการเกิดผลกระทบต่อเนื่องบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่ป่าสมบูรณ์กับพื้นที่ถูกทําลาย หลังจากนั้นทางเดินจะเลาะริมผามีไอหมอกปลิวผ่านตลอดเวลา จะพบดอกกุหลาบพันปี หรือ Rhododendron มองลงไปยังเบื้องล่างจะพบทัศนียภาพที่งดงามของอําเภอแม่แจ่ม การใช้เส้นทางนี้ต้องลงทะเบียนขอรับใบอนุญาตให้ใช้เส้นทางโดยติดต่อที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์อุทยานฯ และควรจัดกลุ่มละไม่เกิน 15 คน ทางอุทยานฯไม่อนุญาตให้นําอาหารเข้าไปรับประทานในเส้นทางในช่วงฤดูฝน และจะปิดเส้นทาง เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัวไม่อนุญาตให้เข้าไปท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 30 ตุลาคม ของทุกปี
อ่างกาหลวง
[แก้]อ่างกาหลวง เป็นบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นและมีสภาพป่าที่หลากหลาย มีพืชพรรณนานาชนิด และด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว ซึ่งจะมีหมอกปกคลุมเกือบตลอดวัน ที่สำคัญการเกิดปรากฏการณ์น้ำค้างแข็ง หรือ แม่คะนิ้ง ก็สามารถพบได้บ่อยครั้ง เส้นทางนี้เป็นสะพานไม้มีความยาวประมาณ 360 เมตร ซึ่งจะใช้เวลาเดินทั้งหมดไม่เกิน 30 นาที ความมหัศจรรย์ของสภาพป่าบริเวณนี้มีความน่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 2,500 เมตร และด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีทำให้ระบบนิเวศในบริเวณนี้มีความแตกต่างออกไปจากพื้นที่อื่นในประเทศไทย โดยเฉพาะบางจุดที่มีลักษณะเป็นป่าดิบเขตอบอุ่น บางแห่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าพรุ มีพรรณไม้หายากหลายชนิด ที่สำคัญยังมีทัศนียภาพที่สวยแปลกตาจนสามารถกล่าวได้ว่าป่าแห่งนี้เป็นป่า ที่มีความงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย[30]
ถ้ำบริจินดา
[แก้]ถ้ำบริจินดา ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 8-9 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 ใกล้กับน้ำตกแม่กลาง จะเห็นทางแยกขวามือมีป้ายบอกทางไปถ้ำบริจินดา ภายในถ้ำลึกหลายกิโลเมตร เพดานถ้ำมีหินงอกหินย้อย หรือชาวเหนือเรียกว่า "นมผา" สวยงามมาก มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในถ้ำด้วย นอกจากนั้น ยังมีธารหินเมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรงามยิ่งนัก ลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำทะลุสามารถมองเห็นภายในได้ถนัด เพราะมีอุโมงค์ซึ่งแสงสว่างลอดเข้ามา บริเวณปากถ้ําจะมีป้ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่อธิบายประวัติการค้นพบถ้ำนี้
ฤดูกาลท่องเที่ยว
[แก้]ดอยอินทนนท์สามารถเดินทางไปเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูร้อน เดือนมีนาคม–พฤษภาคม แม้อากาศจะร้อนอบอ้าว แต่บนยอดดอยยังมีอากาศเย็นสบาย มีน้ำตกน้อยใหญ่ที่มากที่สุดแห่งของประเทศไทยและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว อาทิเช่น น้ำตกแม่ยะ น้ำตกแม่กลาง น้ำตกวชิรธาร น้ำตกสิริภูมิ เป็นต้น ฤดูฝน เดือนมิถุนายน–กันยายน ฝนตกชุกเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่า ชมสายหมอกและละอองฝนที่ผสานความสวยงามกลมกลืนกัน ฤดูหนาว เดือนตุลาคม–กุมภาพันธ์ อากาศค่อนข้างหนาว ฝนเริ่มลดน้อยลง และมีอากาศหนาวจัดที่สุดในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นฤดูกาลที่นักท่องเที่ยวนิยมเที่ยวมากที่สุด ในตอนกลางคืนอุณหภูมิจะลดต่ำกว่า 0 ถึง -7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิอาจติดลบในบางปี ทำให้เกิดน้ำค้างแข็งหรือแม่คะนิ้ง ช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยว ตามแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกบนยอดดอยอินทนนท์ เป็นที่ผ่อนคลายความร้อนได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีโรงแรมและสถานพักตากอากาศจำนวนมากในเมืองจอมทอง มีสิ่งอำนวยสะดวกครบครัน รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักผ่อน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล, ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน, (กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543), 7.
- ↑ สภาวัฒนธรรมอำเภอจอมทอง, หนังสือประวัติเมืองจอมทอง, (เชียงใหม่: เฉลิมการพิมพ์, 2550), 6-7.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-29. สืบค้นเมื่อ 2012-10-08.
- ↑ "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย [เรื่อง ยุบอำเภอสลวงที่ขึ้นนครเชียงใหม่ตั้งกิ่งอำเภอเชียงดาวเป็นอำเภอเชียงดาว ตั้งกิ่งอำเภอสมิงเป็นอำเภอสเมิงขึ้นนครเชียงใหม่ แยกตำบลต่างๆรวม ๔ ตำบล ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอจอมทอง ตั้งเป็นอำเภอเมืองแจ่มขึ้นเมืองนครเชียงใหม่ แยกตำบลต่างๆรวม ๗ ตำบลในท้องที่อำเภอเมืองน่าน ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมืองสาแยกตำบลต่างๆรวม ๔ ตำบลซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองน่านเป็นกิ่งอำเภอเชียงม่อนขึ้นอำเภอเมืองน่าน]" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 25 (15): 447–448. July 12, 1908. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-16. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยุบอำเภอลงเป็นกิ่งอำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 (0 ง): 2067. September 12, 1938. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-16. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 56 (0 ก): 354–363. April 17, 1939. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-19. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (26 ง): 1114–1433. June 10, 1947. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (45 ง): (ฉบับพิเศษ) 57-58. May 30, 1956.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งอำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอคำชะอี อำเภอย่านตาขาว อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอหนองบัว อำเภอวัฒนานคร อำเภอแสวงหา อำเภอท่าชนะ อำเภอพระพุทธบาท อำเภอโนนสัง อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอคีรีมาศ อำเภอชนแดน อำเภอแม่แจ่ม อำเภอไทรน้อย และอำเภอบ้านแพง พ.ศ. ๒๔๙๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (46 ก): 657–661. June 5, 1956. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-10-11. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 87 (60 ง): 2069–2071. July 7, 1970.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แก้ไขประกาศตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 88 (29 ง): 920–921. March 16, 1971.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 95 (117 ง): 3570–3574. October 24, 1978.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 96 (204 ง): 4745–4751. December 11, 1979.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่อาย อำเภอดอยเต่า อำเภอจอมทอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 96 (142 ง): (ฉบับพิเศษ) 1-9. August 16, 1979.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนชื่อตำบลบางแห่งในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 98 (19 ง): 353. February 3, 1981.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 108 (92 ง): 4820–4823. May 23, 1991. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-02-23. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอดอยหล่อ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 112 (พิเศษ 9 ง): 65. March 22, 1995.
- ↑ "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4. February 24, 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อเทศบาลตำบลบ้านหลวง เป็นเทศบาลตำบลจอมทอง พ.ศ. ๒๕๔๓" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 117 (84 ก): 7–8. September 11, 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-09-21. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอฆ้องชัย...และอำเภอเหล่าเสือโก้ก พ.ศ. ๒๕๕๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 124 (46 ก): 14–21. August 24, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ สิ้น 'หลวงปู่ทอง' เกจิดังล้านนา พระนักปฏิบัติ สิริอายุรวม 96 ปี
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-23. สืบค้นเมื่อ 2009-08-11.
- ↑ http://www.cm77.org/board/archiver/?tid-274.html[ลิงก์เสีย]
- ↑ 24.0 24.1 กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เดือนธันวาคม 2566." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]. สืบค้น 13 มีนาคม 2567.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-07. สืบค้นเมื่อ 2009-08-07.
- ↑ ธิติ พึ่งพุทธ และ พิมพ์พร ไชยพร, “แนวคิดในการออกแบบและรูปแบบผังพื้นพระวิหาร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่,” สาระศาสตร์, ฉบับที่ 5 (2565) : 193, สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2567, [2]
- ↑ พิทักษ์ จอมเมือง, "การประเมินมูลค่าการประเมินมูลค่าทางนันทนาการของพื้นที่ป่าอนุรักษ์: กรณีศึกษา อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่," (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร คณะธุรกิจการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2544), หน้า 21-24. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2567 , ใน ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์และงานวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้, [3]
- ↑ ธีรพัฒน์ ขันใจ และ คณะ, “การสำรวจและวิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดคราบหมองหม่นของพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล และพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่,” วารสารวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย , 12 (3) : 385, สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2567, [4]
- ↑ สำนักอุทยานแห่งชาติ, “น้ำตกสิริธาร - อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์,” สำนักอุทยานแห่งชาติ, สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน, 2567, [5]
- ↑ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม กลุ่มงานจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ, “ดอยอ่างกาหลวง,” สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม กลุ่มงานจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ, สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน, 2567, [6]