เลขหมายระบุตัวตนในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล
เลขหมายระบุตัวตนในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล (อังกฤษ: Maritime Mobile Service Identity: MMSI) คือชุดหมายเลขโทรศัพท์ทางทะเลระหว่างประเทศของเรือและวัตถุทางทะเล ซึ่งเป็นค่าเอกลักษณ์ (Unique Identifier) ที่กำหนดขึ้นชั่วคราวโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลการสื่อสารทางทะเลของแต่ละประเทศที่เรือหรือวัตถุนั้นสังกัดอยู่[1] (ต่างจากหมายเลข IMO ซึ่งเป็นค่าเอกลักษณ์สากลที่ใช้ถาวร)
เลขหมายระบุตัวตนในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเลนั้น ประกอบด้วยชุดตัวเลข 9 หลัก โดยหมายเลข 3 ตัวแรกคือตัวเลขประจำตัวทางทะเล (Maritime identification digits) ที่ระบุประเทศตามที่ ITU กำหนด[2] เชื่อมกับหมายเลขอีก 6 หลักที่เป็นค่าเฉพาะตัวตามแต่จะกำหนดประเภท เมื่อใดก็ตามที่วัตถุมีการเปลี่ยนแปลงค่า อาทิ สัญชาติของเรือหรือวัตถุทางทะเล จะต้องมีการกำหนดหมายหมายเลขเอ็มเอ็มเอสไอใหม่
"วัตถุทางทะเล" อาจหมายความถึงวัตถุอะไรก็ได้ที่จำเป็นต้องใช้หมายเลขเอ็มเอ็มเอสไอในการระบุตัวตน อาทิ เรือ, แท่นขุดเจาะแบบยึดติดพื้นทะเล, หน่วยเคลื่อนที่, อากาศยานทางทะเล, สถานีชายฝั่ง เป็นต้น โดยการสื่อสารอาจถูกส่งไปยัง "วัตถุแต่ละชิ้นแบบเจาะจง" หรือส่งไปยัง "กลุ่มของวัตถุ" ซึ่งการสื่อสารไปยังกลุ่มของวัตถุอาจจะกำหนดโดยใช้ตำแหน่งที่ตั้ง ความเป็นเจ้าของ หรือประเภทของวัตถุนั้น ๆ
หมายเลขเอ็มเอ็มเอสไอถูกสร้างขึ้นมาโดยสามารถใช้หมายเลขทั้งหมด 9 ตัว หรือตัวเลขข้อมูลบางส่วนของชุดหมายเลข ในการจัดกลุ่มของวัตถุ เพื่อเชื่อมต่อกันในรูปแบบของเครือข่ายโทรคมนานคมและการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแบบอัตโนมัติ ผ่านการสื่อสารในรูปแบบดิจิทัลทางช่องความถี่วิทยุ
ประเภท
[แก้]ป้จจุบันมีการแบ่งเลขหมายระบุตัวตนในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเลออกเป็น 6 ประเภท ประกอบไปด้วย
- เลขหมายระบุตัวตนของสถานีเรือ
- เลขหมายระบุตัวตนของกลุ่มสถานีเรือ
- เลขหมายระบุตัวตนของสถานีชายฝั่ง
- เลขหมายระบุตัวตนของกลุ่มสถานีชายฝั่ง
- อากาศยานการค้นหาและกู้ภัย
- เครื่องหมายทางเรือและยาน (เรือชูชีพ แพชูชีพ) ที่เกี่ยวข้องกับเรือแม่
ตัวเลขประจำตัวทางทะเล
[แก้]ตัวเลขประจำตัวทางทะเล (Maritime identification digits: MID) ประกอบด้วยตัวเลขจำนวน 3 หลัก โดยจะเริ่มต้นด้วยเลข 2 ถึง 7 เสมอ (กำหนดตามภูมิภาค) สามารถกำหนดเลขประจำตัวทางทะเลชุดที่ 2 ขึ้นมาได้ หากชุดแรกถูกใช้งานไปเกินกว่า 80% และมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้งานจนถึง 90% อย่างรวดเร็ว โดยเลขประจำตัวทางทะเลของแต่ละประเทศนั้นสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)[2] เช่น
- ออสเตรียใช้หมายเลข 203
- ประเทศไทยใช้หมายเลข 567
- โคลอมเบียใช้หมายเลข 730
เลขหลักแรก
[แก้]ตัวเลขหลักแรกของหมายเลขเอ็มเอ็มเอสไอ ใช้สำหรับจัดหมวดหมู่ในการระบุตัวตน ตามที่ได้กำหนดไว้ในเอกสาร Recommendation M.585[3] ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ซึ่งความหมายประกอบไปด้วย
- 0 สำหรับ กลุ่มสถานีเรือ สถานีชายฝั่ง หรือกลุ่มสถานีชายฝั่ง
- 1 สำหรับอากาศยานการค้นหาและกู้ภัย[note 1][4]
- 2-7 สำหรับเรือแต่ละลำในระบบเลขประจำตัวทางทะเล
- 2 สำหรับภูมิภาคยุโรป เช่น อิตาลีใช้ 247 เดนมาร์กใช้ 219 และ 220
- 3 สำหรับภูมิภาคอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน เช่น แคนาดาใช้ 316 กรีนแลนด์ใช้ 331 ปานามาใช้ 351 ถึง 357 รวมไปถึง 370 ถึง 373 สหรัฐอเมริกาใช้ 338 รวมไปถึง 366 ถึง 369 และรัฐอะแลสกาใช้ 303
- 4 สำหรับภูมิภาคเอเชีย (ยกเว้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เช่น จีนใช้ 412 413 และ 414 มัลดีฟส์ใช้ 455 ญี่ปุ่นใช้ 431
- 5 สำหรับภูมิภาคโอเชียเนีย เช่น ออสเตรเลียใช้ 503 นิวซีแลนด์ใช้ 512 และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ใช้ 548 ไทยใช้ 567
- 6 สำหรับภูมิภาคแอฟริกา เช่น เอริเทรียใช้ 625
- 7 สำหรับภูมิภาคอเมริกาใต้ เช่น เปรูใช้ 760
- 8 สำหรับเครื่องรับส่งวิทยุมือถือแบบวีเอชเอฟที่มีระบบการส่งสัญญาณแบบ DSC และระบบดาวเทียม GNSS[5][6]
- 9 สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้หมายเลขแยกเป็นอิสระ เช่น[4]
- อุปกรณ์รับส่งสัญญาณค้นหาและกู้ภัย (970yyzzzz)[note 2][7][8]
- อุปกรณ์เตือนคนตกน้ำผ่านระบบ DSC และ/หรือระบบแสดงตนอัตโนมัติ (AIS) (972yyzzzz)[note 2]
- กระโจมวิทยุแจ้งตำบลที่ฉุกเฉิน EPIRB ความถี่ 406 MHz ด้วยอุปกรณ์แสดงตนอัตโนมัติ (AIS) (974yyzzzz)[note 2]
- ยาน (เรือชูชีพ แพชูชีพ) ที่เกี่ยวข้องกับเรือแม่ (98MIDxxxx)[note 3]
- เครื่องหมายทางเรือ เช่น ทุ่นเครื่องหมายทางเรือ ประภาคาร กระโจม (AtoNs; 99MIDaxxx)[note 4]
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ หลักที่เจ็ด ("a") อาจ ระบุถึงประเภทอากาศยานว่าเป็ฯแบบ ปีกตรึง (a = 1) หรือเฮลิคอปเตอร์ (a = 5) หากต้องการระบุ นอกจากนี้ยังสามารถใช้หลัก "a" เช่นเดียวกับหลัก "x" อื่น ๆ หากไม่ต้องการจำแนกประเภทอากาศยาน
- ↑ 2.0 2.1 2.2 โดยที่ "yy" คือรหัสตัวเลขที่กำหนดให้กับบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ และ "zzzz" คือหมายเลขลำดับที่เลือกโดยผู้ผลิต
- ↑ อุปกรณ์ที่ใช้ระบบเอ็มเอ็มเอสไอเหล่านี้ อาจจะติดตั้งอยู่ในเรือชูชีพ แพชูชีพ เรือกู้ภัย เป็นต้น
- ↑ ตัวเลข "a" อาจ ใช้เพื่อระบุประเภทของ AtoN: 1 สำหรับแบบกายภาพ, 6 สำหรับแบบเสมือน นอกจากนี้ยังสามารถใช้หลัก "a" เช่นเดียวกับหลัก "x" อื่น ๆ หากไม่ต้องการแบ่งประเภทของ AtoN
รูปแบบของเลขหมายระบุตัวตนสถานี
[แก้]เลขหมายระบุตัวตนของสถานีเรือ
[แก้]รหัส 9 หลักที่ประกอบขึ้นเป็นเลขหมายระบุตัวตนของสถานีเรือ มีรูปแบบ คือ MIDxxxxxx
กำหนดให้ MID แทนหมายเลขประจำตัวทางทะเล (Maritime identification digits: MID) และ x แทนด้วยตัวเลขใด ๆ ก็ตามตั้งแต่ 0 ถึง 9
- หากเรือได้รับการติดตั้งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม Inmarsat B, C, M หรือมีแผนจะติดตั้งในอนาคตอันใกล้ ควรจะมีเลขศูนย์ต่อท้าย 3 ตัว คือ MIDxxx000
- หากเรือได้รับการติดตั้งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม Inmarsat C หรือมีแผนจะติดตั้งในอนาคตอันใกล้ เลขหมายระบุตัวตนอาจมีเลขศูนย์ต่อท้าย 1 ตัว คือ MIDxxxxx0
- หากเรือได้รับการติดตั้งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม Inmarsat A หรือมีระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมอื่นที่ไม่ใช่ของ Inmarsat ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีเลขศูนย์ต่อท้ายในเลขหมายระบุตัวตน
เลขหมายระบุตัวตนของกลุ่มสถานีเรือ
[แก้]เลขหมายระบุตัวตนของกลุ่มสถานีเรือมีไว้สำหรับการสื่อสารหรือโทรพร้อมกันมากกว่า 1 ลำ มีรูปแบบคือ 0MIDxxxxx
โดยที่ตัวเลขแรกคือศูนย์ และ X คือตัวเลขใดๆ ตั้งแต่ 0 ถึง 9 MID แทนหมายเลขประจำตัวทางทะเล (MID) ที่กำหนดรหัสประจำกลุ่มสถานีเรือ และไม่ได้มีข้อห้ามในการติดต่อสื่อสารแบบกลุ่มไปยังกองเรือที่มีสัญชาติของเรือมากกว่าหนึ่งสัญชาติ
เลขหมายระบุตัวตนของสถานีชายฝั่ง
[แก้]เลขหมายระบุตัวตนของสถานีชายฝั่งมีรูบแบบ คือ 00MIDxxxx
โดยที่ตัวเลขสองตัวแรกเป็นศูนย์ และ X คือตัวเลขใดๆ ตั้งแต่ 0 ถึง 9 MID แทนหมายเลขประจำตัวทางทะเล (MID) แสดงประเทศที่สถานีชายฝั่งหรือสถานีภาคพื้นดินชายฝั่งนั้นได้ตั้งอยู่
เลขหมายระบุตัวตนของกลุ่มสถานีชายฝั่ง
[แก้]เลขหมายระบุตัวตนของกลุ่มสถานีชายฝั่งมีไว้สำหรับการสื่อสารหรือโทรพร้อมกันมากกว่าสถานี โดยมีรูปแบบเช่นเดียวกับสถานีชายฝั่งในแต่ละแห่ง คือ มีเลขศูนย์นำหน้า 2 ตัว MID แทนหมายเลขประจำตัวทางทะเล (MID) และตัวเลขอีก 4 หลัก โดยมีการจำแนกรูปแบบย่อยลงมาได้อีก คือ
- 00MID0000 สำหรับสถานีชายฝั่งใดๆ ที่ใช้หมายเลขประจำตัวทางทะเล (MID)
- 009990000 สำหรับสถานีชายฝั่งย่านความถี่วีเอชเอฟใด ๆ ก็ตาม โดยไม่ต้องคำนึงถึงหมายเลขประจำตัวทางทะเล (MID)
เครื่องส่งสัญญาณค้นหาและกู้ภัย
[แก้]เครื่องส่งสัญญาณค้นหาและกู้ภัยผ่านระบบแสดงตนอัตโนมัติ (AIS-SART) จะใช้การระบุรหัสตัวเลขของบริษัทผู้ผลิต แทนที่จะเป็นเลขประจำตัวทางทะเล (MID) ที่ระบุประเทศ มีรูปแบบคือ 970YYxxxx
โดยหลักเลขที่แสดงด้วยอักษร Y สองตัวถูกกำหนดโดย สมาคมบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ทางทะเลนานาชาติ (International Association for Marine Electronics Companies) ซึ่งสามารถระบุถึงตัวบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ส่งสัญญาณค้นหาและกู้ภัย ในขณะที่ X คือตัวเลขลำดับการผลิตที่ถูกกำหนดโดยบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์
การขาดแคลนของเลขหมายระบุตัวตนในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล
[แก้]เนื่องจากเรือทุกลำที่เดินทางระหว่างประเทศ รวมไปถึงเรือที่ติดตั้งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม Inmarsat B หรือ M ถูกกำหนดให้ใช้รูปแบบ MIDxxx000 จึงเกิดปัญหาในระดับชาติขึ้น ว่าจะต้องกำหนดหมายเลขเอ็มเอ็มเอสไอให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งหมด อาทิ ในประเทศที่มีเรือติดตั้งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม Inmarsat 10,000 ลำ จะต้องใช้ชุดหมายเลขประจำตัวทางทะเล (MID) ถึง 10 ชุด เพื่อรองรับจำนวนเรือ 10,000 ลำ หากเรือจำนวน 50,000 ลำติดตั้งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม Inmarsat M จะต้องใช้ชุดหมายเลขประจำตัวทางทะเล (MID) ถึง 50 ชุดเพื่อรองรับ
ปัญหาต่อมาเกิดขึ้นกับเรือที่ติดตั้งระบบสื่อสารดาวเทียม Inmarsat เนื่องจากข้อกำหนดของ ITU-T ได้กำหนดให้ระบุตัวตนในรูปแบบของ (MESIN) คือ TMIDxxxYY โดยที่ T ระบุประเภทของระบบสื่อสารดาวเทียม Inmarsat YY ระบุส่วนของอุปกรณ์ Inmarsat (อาทิ "00" อาจระบุ โทรศัพท์ในสะพานเดินเรือ "01" อาจหมายถึงเครื่องโทรสารในห้องวิทยุ ฯลฯ) และ MIDxxx ระบุหมายเลขของสถานีเรือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเลขหมายระบุตัวตนของสถานีเรือในรูปแบบของ MIDxxx000
หมายเลขเอ็มเอ็มเอสไอนั้นถูกให้ความหมายถึงตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ของเรือทั้งลำ ซึ่งถูกใช้ในอุปกรณ์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งผ่าน GMDSS หรืออุปกรณ์โทรคมนาคมอื่น ๆ ภายในเรือ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น หมายเลขเอ็มเอ็มเอสไอสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพตามที่มันถูกออกแบบมาหรือไม่ หรือท้ายที่สุด ITU อาจยุติแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลระบุตัวตน Inmarsat MESIN กับเลขหมายระบุตัวตนในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลเลขหมายระบุตัวตนในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล ผู้ผลิตอาจจะต้องลดฟังก์ชั่นบางอย่างในวิทยุที่รองรับระบบ DSC เพื่อให้สามารถป้อนหมายเลขเอ็มเอ็มเอสไอได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถเคลื่อนย้ายเครื่องรับส่งวิทยุดังกล่าวไปยังเรือลำอื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยุมือถือย่านวีเอชเอฟ ซึ่งการใช้เพียงหมายเลขเอ็มเอ็มเอสไอเดียวนั้นขัดกันอย่างยิ่ง
ในการประชุมวิทยุโลก ณ กรุงเจนีวา พ.ศ. 2540 (WRC-97) ได้มีการรับรองมติ 344 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขาดแคลนทรัพยากรเลขหมายระบุตัวตนในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล ในมุมของการปรับปรุงโครงข่ายโทรศัพท์สาธารณะและความสามารถใหม่ ๆ ของระบบ Inmarsat ที่เหนือไปกว่าระบบสื่อสารดาวเทียม Inmarsat B หรือ M โดยยกเลิกข้อจำกัดเดิมและสามารถใช้งานตัวเลขทั้ง 9 หลักในหมายเลขเอ็มเอ็มเอสไอได้ และไม่จำเป็นต้องลงท้ายด้วยเลขศูนย์อีกต่อไป
ดูเพิ่ม
[แก้]- ระบบแสดงตนอัตโนมัติ ใช้กลุ่มเลขหมายระบุตัวตนในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล สำหรับระบุรหัสเรือ
- สัญญาณเรียกขานทางทะเล ไม่เชื่อมโยงกับเลขหมายระบุตัวตนในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล แต่สามารถมีเลขหมายดังกล่าวได้ในภายหลัง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ระบบการสื่อสารเพื่อการแจ้งภัยและความปลอดภัยทางทะเล(GMDSS) – Seafarer Library" (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 2.0 2.1 "Table of Maritime Identification Digits". ITU (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "M.585: Assignment and use of identities in the maritime mobile service". www.itu.int.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 4.0 4.1 "Recommendation M.585-4 (03/07)". ITU. March 2007. First specified in this revision; carried forward in newer versions of the M.585 recommendation.
- ↑ "เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์ช่วยการเดินเรือ". www.marinerthai.net.
- ↑ "Recommendation ITU-R M.585-8 (10/2019): Assignment and use of identities in the maritime mobile service" (PDF). Geneva, Switzerland: ITU. October 2019.
- ↑ "Maritime Mobile Service Identity (MMSI)". Australian Maritime Safety Authority.
- ↑ "Liaison Statement to CIRM: Identities for AIS-SART, MOB and EPIRB-AIS" (PDF). 2011-06-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-03-30. สืบค้นเมื่อ 2014-03-30.