Location via proxy:   [ UP ]  
[Report a bug]   [Manage cookies]                
ข้ามไปเนื้อหา

แมลงปอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แมลงปอ
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 196–0Ma ยุคจูแรสซิกตอนต้นถึงปัจจุบัน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์ขาปล้อง
Arthropoda
ชั้น: แมลง
Insecta
อันดับ: Odonata
Odonata
อันดับย่อย: Epiprocta
Epiprocta
อันดับฐาน: Anisoptera
Anisoptera
Selys, 1854[1]
วงศ์
$ไม่ใช่เคลด
แมลงปอในอุทยานแห่งชาติภูลังกา, ประเทศไทย
ส่วนหัวและตาขนาดใหญ่ของแมลงปอ
การผสมพันธุ์ของแมลงปอ

แมลงปอ (ภาษาไทยถิ่นเหนือ: แมงก่ำบี้) คือแมลงที่มีตัวอ่อนอาศัยอยู่ในน้ำ ตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่บนบกมีปีกบินได้ แมลงปอมีการเจริญเติบโตแบบเป็นขั้นตอนประเภทไม่สมบูรณ์แบบ คือ มีระยะไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย ไม่มีระยะดักแด้ โดยระยะไข่และตัวอ่อนมีชีวิตอยู่ในน้ำ ตัวอ่อนที่อยู่ในน้ำมีรูปร่างแตกต่างจากตัวเต็มวัยมาก เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะลอกคราบครั้งสุดท้าย กลายเป็นตัวเต็มวัยที่มีปีกและจะใช้ชีวิตบนบกได้ต่อไป

แมลงปอจัดเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตจำพวกหนึ่ง โดยถือกำเนิดมาตั้งแต่ 320 ล้านปีก่อนในยุคคาร์บอนิเฟอรัส ก่อนหน้าไดโนเสาร์ เปียแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเลยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากขนาดลำตัวที่แมลงปอในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าแมลงปอในยุคปัจจุบันมาก โดยมีความห่างระหว่างปีกมากกว่า 70 เซนติเมตร

ในอารยธรรมอียิปต์โบราณ แมลงปอปรากฏอยู่ในอักษรภาพเฮียโรกริฟฟิธในหลุมศพของฟาโรห์[2]

ลักษณะ

[แก้]

การที่แมลงปอแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเลย เพราะมีรูปร่างที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว มีจุดเด่น คือ มีส่วนหัวที่กลมโตใหญ่ มีดวงตาขนาดใหญ่ 2 ดวงอยู่ด้านข้าง ซึ่งประกอบไปด้วยดวงตาขนาดเล็กรูปร่างคล้ายรังผึ้งถึง 30,000 ดวง ทำให้แมลงปอสามารถมองเห็นภาพได้กว้างถึง 360 องศา ถือเป็นแมลงที่มีประสาทการมองเห็นได้ดีที่สุด โดยในปี ค.ศ. 1585 นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้สังเกตเห็นถึงความคล้ายกันของส่วนหัวของแมลงปอกับปลาฉลามหัวค้อน

โครงสร้างลำตัวของแมลงปอเสมือนเกราะที่ประกอบไปด้วยสารไคติน ปีกของแมลงปอมีทั้งหมด 2 คู่ ลักษณะบางใส โปร่งแสง มองเห็นเส้นเลือดแดงต่าง ๆ ที่สานกันเป็นโครงข่าย และด้านขอบปีกมีสารคล้ายขี้ผึ้งเคลือบอยู่ซึ่งทำให้ปีกของแมลงปอไม่อุ้มน้ำเหมือนใบบอน และกันฝุ่นละอองได้อีกด้วย[2]

แมลงปอ มีขากรรไกรล่างที่แข็งแรง แหลมคม มีขนาดใหญ่ จับแมลงต่าง ๆ เช่น ยุง, แมลงวัน, ตัวต่อ, ผีเสื้อ แม้กระทั่งแมลงปอด้วยกัน กินเป็นอาหารด้วยเล็บเท้า สามารถบินได้เร็วถึง 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยแรงส่งของลม และกระพือปีกประมาณ 500 ครั้ง/1 วินาที และสามารถบินสูงได้นับเป็นร้อยเมตร[3][2]

แมลงปอ เมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยมีอายุสั้น โดยมีอายุขัยโดยเฉลี่ยเพียง 7-8 สัปดาห์เท่านั้น ขณะที่แมลงปอเข็ม ที่มีขนาดเล็กกว่ามีอายุได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น แมลงปอเมื่ออายุมากแล้วปีกบางส่วนจะถูกทำลายไป และสีซีดลง เมื่อตายลง แมลงปอสีจะซีด ดังนั้นในทางกีฏวิทยา และนักสะสมแมลง จึงมักไม่ค่อยเก็บแมลงปอไว้เหมือนกับแมลงจำพวกอื่นอย่าง ผีเสื้อ เพราะสีปีกของแมลงปอจะซีดลงไม่เหมือนตัวที่ยังมีชีวิตอยู่ เนื่องจากสูญเสียเม็ดสีในตัวไป[2]

วงจรชีวิต

[แก้]

ตัวอ่อนแมลงปอ ที่เรียกว่า "ตัวโม่ง"[4] อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป ลักษณะแตกต่างจากแมลงปอตัวเต็มวัย เพราะแมลงปอตัวเมียวางไข่ในน้ำ หรือตามพืชน้ำ ตั้งแต่ 500-หลายพันฟอง ตามแต่ละชนิด ตัวอ่อนแมลงปอจะลอกคราบประมาณ 10-15 ครั้ง จึงเป็นตัวเต็มวัย กินตัวอ่อนของแมลงน้ำและลูกอ๊อดเป็นอาหาร บางครั้งก็กินพวกเดียวกันเอง รวมทั้งปลาขนาดเล็ก ด้วยขากรรไกรขนาดใหญ่ที่ยื่นออกมาพุ่งจับเหยื่อได้ด้วยเวลาเพียง 20 มิลลิวินาที เมื่อจับเหยื่อได้แล้วจะจับฉีกเป็นชิ้น ๆ และกินทั้งเป็น ตัวอ่อนแมลงปอหายใจด้วยอวัยวะที่คล้ายกับปอดที่อยู่บริเวณหาง ตัวอ่อนแมลงปอเคลื่อนใหวโดยการใช้ขาพายน้ำและการพ้นน้ำออกจากก้นเหมือนไอพ่นเพื่อให้เองตัวพุ่งไปข้างหน้า ตัวอ่อนแมลงปอใช้ชีวิตนานอยู่ในน้ำนานไม่เท่ากัน แตกต่างกันตามแต่ชนิด บางชนิดใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่บางชนิดใช้เวลานานหลายปี จากนั้นจะไต่ตามต้นพืชจากน้ำมาลอกคราบและผึ่งปีกเพื่อจะกลายเป็นตัวเต็มวัย ด้วยแรงดันในร่างกาย ซึ่งระยะเวลาในการลอกคราบใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อก่อนจะบิน แมลงปอจะสั่นตัวเพื่อสูบฉีดเลือดเข้าสู่ปีก เพื่อเตรียมพร้อมที่จะบินเป็นครั้งแรกในชีวิต ขณะที่เปลือกลำตัวเก่าก็จะถูกทิ้งไว้กับต้นพืช แมลงปอมักผึ่งปีกในเวลากลางคืน รุ่งขึ้นเมื่อปีกแห้งก็สามารถบินได้

แมลงปอ เมื่อผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเกาะบริเวณทางด้านหลังหัวของตัวเมีย ขณะที่ตัวเมียก็จะม้วนตัวไปข้างหน้า เพื่อรองรับสเปิร์มจากถุงสเปิร์มตัวผู้ ในบางชนิดการผสมพันธุ์จะทำพร้อมไปกับการวางไข่ของตัวเมียด้วย บางชนิดการเกาะเกี่ยวของตัวผู้อาจใช้เวลานานหลายวินาที จนนานนับเป็นชั่วโมง และการวางไข่ของแมลงปอ ในบางชนิดวางไข่ไว้บนผิวน้ำ บางชนิดวางไข่ซ่อนไว้ในซอกหินหรือมอส บางชนิดตัวเมียอาจต้องดำน้ำลงไปจัดวางไข่ให้เรียบร้อย ซึ่งแมลงปอตัวเต็มวัยสามารถดำน้ำได้นาน 90 นาที แต่ในบางชนิด เช่น แมลงปอเข็ม วางไข่ไว้ใต้เปลือกไม้ริมน้ำก็มี แต่เมื่อตัวอ่อนฟักออกมา ก็จะตกลงสู่แหล่งน้ำและใช้ชีวิตอยู่ในน้ำเหมือนตัวอ่อนแมลงปอทั่วไป แมลงปอส่วนใหญ่มีพฤติกรรมผสมพันธุ์และวางไข่พร้อมกัน แต่ก็บางชนิดที่วางไข่เพียงลำพัง[2][3]

ศัตรูตามธรรมชาติของแมลงปอ ได้แก่ แมลงและแมงที่กินแมลงเป็นอาหาร เช่น ตั๊กแตนตำข้าว, แมงมุม รวมถึงพืชกินแมลงบางจำพวก เช่น หยาดน้ำค้าง และสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น กบ หรือกระทั่งเป็ด เมื่อแมลงปอตกลงไปในน้ำลึกแล้ว แทบจะเอาชีวิตรอดกลับมาไม่ได้เลย แต่ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของแมลงปอ คือ สภาพอากาศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ซึ่งแมลงปอหลายตัวจะตายลง และกลายเป็นอาหารของสัตว์ต่าง ๆ ในช่วงฤดูนี้

การจำแนกและการกระจายพันธุ์

[แก้]

แมลงปอ จัดอยู่ในอันดับฐาน Anisoptera (มาจากคำว่า "anisos" จากภาษากรีก ανισος แปลว่า "สมดุล" + πτερος "pteros" หมายถึง "ปีก")[5] ปัจจุบัน มีการค้นพบแมลงปอแล้วกว่า 5,000 ชนิด จัดอยู่ประมาณ 500 สกุล แบ่งออกได้เป็น 9 วงศ์ (ดูได้ในตาราง-บางข้อมูลจำแนกออกเป็นแค่ 8 วงศ์)[6] ศาสตราจารย์ จี.เอช. คาร์เพนเตอร์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ แบ่งแมลงปอออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ โดยดูจากลักษณะของเส้นปีก รูปร่างปีก และลักษณะการวางปีกขณะเกาะอยู่ แบ่งเป็น

  1. กลุ่มแมลงปอบ้าน มีลักษณะตัวใหญ่ สีเข้ม หัวโต ตากว้างแต่ไม่โปน ปีกคู่หลังใหญ่กว่าปีกคู่หน้า เวลาเกาะจะกางปีกในแนวราบ
  2. กลุ่มแมลงปอเข็ม มีตัวเล็ก ตาโปน ปีกคู่หลังมีขนาดเท่ากับปีกคู่หน้า เวลาเกาะจะหุบปีก ซึ่งจัดอยู่ในอันดับย่อย Zygoptera ซึ่งแยกออกไปจากแมลงปอบ้าน[3]

สำหรับในประเทศไทยมีการค้นพบแมลงปอแล้ว 9 วงศ์[7] 321 ชนิด[7] และทั่วโลกยังมีแมลงปอที่เชื่อว่ายังมีอีกราว 600-1,000 ชนิด ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก

แมลงปอสามารถพบได้ในหลายพื้นที่ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก และพบได้กระทั่งเกาะที่อยู่ห่างชายฝั่งถึง 550 กิโลเมตร และไม่มีแหล่งน้ำจืดเลย หรือกระทั่งในทะเลทรายที่แห้งแล้ง แต่โดยทั่วไปแล้ว แมลงปอจะอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำจืด อันเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรชีวิต[2]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Selys-Longchamps, E. (1854). Monographie des caloptérygines (ภาษาฝรั่งเศส). Vol. t.9e. Brussels and Leipzig: C. Muquardt. pp. 1–291 [1–2]. doi:10.5962/bhl.title.60461.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Sky Hunters: The World Of Dragonfly. "Animal Planet Showcase", ทางอนิมอลพลาเน็ต สารคดีทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 5 มกราคม 2556
  3. 3.0 3.1 3.2 แมลงปอ นักล่าแห่งเวหา สนเทศน่ารู้ โดย สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  4. แมลงปอ สัตว์โลกล้านปี[ลิงก์เสีย]
  5. Odonata at Tree of Life web project. Retrieved 2011-09-18.
  6. จาก itis.gov
  7. 7.0 7.1 Siam Insect-Zoo & Museum

ข้อมูล

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Anisoptera
  • ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Anisoptera ที่วิกิสปีชีส์