โฮ่ว อี้
โฮ่ว อี้ (จีน: 后羿; พินอิน: Hòu Yì; เวด-ไจลส์: 'Hou I) เป็นบุคคลในประมวลเรื่องปรัมปราจีน โดยเป็นนักธนู และเป็นสามีของฉางเอ๋อ (嫦娥) ซึ่งภายหลังได้เป็นเทพธิดาแห่งดวงจันทร์[1]
ประมวลเรื่องปรัมปราจีนว่า เดิมโลกมนุษย์มีตะวัน 10 ดวง ซึ่งจะขึ้นฉายครั้งละดวง แต่วันหนึ่ง ออกฉายพร้อมกันทั้ง 10 ดวง ทำให้แผ่นดินโลกแทบมอดไหม้ พระเจ้าเหยา (堯) กษัตริย์แห่งมวลมนุษย์ จึงรับสั่งให้โฮ่ว อี้ หาวิธีควบคุมดวงตะวัน โฮ่ว อี้ ไปเจรจากับดวงตะวัน แต่ไม่สำเร็จ จึงขู่ว่าจะยิงตะวันให้ร่วง แต่ก็ยังไม่เป็นผล โฮ่ว อี้ จึงยิงดวงตะวันให้ร่วงทีละดวง ดวงตะวันที่ตกลงมานั้นกลายเป็นอีกาสามขา (三足烏) จนเมื่อเหลือดวงสุดท้ายดวงเดียว พระเจ้าเหยา พร้อมด้วยหญิงซึ่งเป็นมารดาของตะวันดวงนั้น ร้องขอให้เขาละเว้นเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติเอง โลกมนุษย์จึงเหลือตะวันเพียงดวงเดียวมาจนทุกวันนี้[2]
ประมวลเรื่องปรัมปรายังว่า โฮ่ว อี้ ได้ปราบปรามสัตว์ประหลาดอีกหลายตัวตามรับสั่งของพระเจ้าเหยา เช่น ย่า-ยฺหวี่ (窫窳), เจ๋าฉื่อ (鑿齒), ฯลฯ[3] และว่า โฮ่ว อี้ มียาเม็ดอมฤตที่เทพประทานให้ ครั้งหนึ่ง โฮ่ว อี้ ออกไปล่าสัตว์ ศิษย์คนหนึ่งของเขานาม เฝิง เหมิง (逢蒙) บุกเข้าไปหายาอมฤตนั้น แต่ฉางเอ๋อ ภริยาของโฮ่ว อี้ ชิงกินเข้าไปก่อน เมื่อกินยาอมฤตแล้ว ฉางเอ๋อ ก็ลอยขึ้นท้องฟ้าไปสู่ดวงจันทร์ทันที[4]
บางฉบับระบุเรื่องราวต่างออกไปว่า โฮ่ว อี้ ยิงตะวันแล้ว ผู้คนยกย่องเขาเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่เมื่อเข้าสู่อำนาจแล้ว โฮ่ว อี้ กลายเป็นทรราชและกดขี่ปวงประชา ฉางเอ๋อ ภริยาของเขา เกรงว่า ยาอมฤตที่พระแม่ตะวันตก (西王母) ประทานให้โฮ่ว อี้ จะทำให้โฮ่ว อี้มีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์ อันจะเป็นเหตุให้ราษฎรเดือดร้อนไปชั่วกาลนาน ฉางเอ๋อจึงบุกเข้าไปชิงยาอมฤตนั้นมากินเสียเอง เมื่อกินแล้ว ฉางเอ๋อล่องลอยขึ้นสู่ฟากฟ้า โฮ่ว อี้ ไล่ตามไม่ทัน เอาธนูไล่ยิงก็ไม่ทัน ผู้คนสำนึกในความเสียสละของฉางเอ๋อ จึงจัดเทศกาลไหว้พระจันทร์เพื่อยกย่องนาง[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Hou Yi". Encyclopedia Britannica.
- ↑ Walls, Jan (1984). Classical Chinese Myths. Joint Publishing Co. p. 68-69.
- ↑ Masako, Mori (1995). "Restoring the "Epic of Hou Yi"". Asian Folklore Studies. 54 (2): 239–257. doi:10.2307/1178943.
- ↑ "Chang'e, Chinese Deity". Encyclopedia Britannica. The Editors of Encyclopedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 8 March 2018.
- ↑ Yang, Lihui; An, Deming; Anderson Turner, Jessica (2008). Handbook of Chinese Mythology. Oxford University Press. ISBN 9780195332636.