นักวิจัยในภูเวียงกำลังพิสูจน์ซากไดโนเสาร์ยักษ์พันธุ์ใหม่ในยุค 130 ล้านปีก่อนของไทยอย่างไร
- Author, จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
- Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
นักบรรพชีวินและนักธรณีวิทยากำลังใช้เครื่องมือทั้งหมดที่พวกเขามี เพื่อสกัดซากฟอสซิลไดโนเสาร์กินพืชตัวใหม่ของภูเวียง จ.ขอนแก่น แต่ที่น่าตื่นเต้นคือพวกเขากำลังลุ้นว่า มันอาจเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ช่วยต่อจิ๊กซอว์ภาพโลกใบนี้เมื่อ 130 ล้านปีก่อน
ดูเหมือนว่าพื้นที่หลุม 3 ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับพวกเขา จะไม่ได้เหมือนกับสถานที่ขุดฟอสซิลแหล่งอื่น ๆ ในไทย ปากกาลมในมือของ ดร.วราวุธ สุธีธร นักธรณีวิทยาและนักบรรพชีวินวัยเกษียณที่เคยค้นพบ “สยามโมซอรัส สุธีธรนี (Siamosaurus suteethorni)” ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ตัวแรกของไทยจากแหล่งเดียวกัน แทบจะสะกิดหินที่มีฟอสซิลได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น
“นี่เป็นแหล่งขุดที่แข็งที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมา” ดร.วราวุธ บอก
ในอดีต เขายังเป็นหนึ่งในคณะสำรวจวิจัยโบราณชีววิทยาไทย-ฝรั่งเศส ที่ค้นพบไดโนเสาร์กินพืชคอยาวชื่อว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae) หรือ “สัตว์เลื้อยคลานยักษ์แห่งภูเวียง” ซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดของที่นี่อีกด้วย
ในขณะเดียวกัน ดร.สุรเวช สุธีธร ลูกชายของเขาที่กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบรรพชีวินตามรอยผู้เป็นพ่อ กำลังพยายามใช้เครื่องเจาะสกัดหินที่อยู่รอบ ๆ ซากฟอสซิลออก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็แทบไม่ต่างกัน
ความแข็งของหินที่มีส่วนผสมระหว่างซิลิกาและแคลเซียมคาร์บอเนตในบริเวณนี้ “มันทำให้เหมือนเจาะทะลวงพื้นคอนกรีตแข็ง ๆ ดี ๆ นี่เอง” ดร.สุรเวช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ม.มหาสารคาม บอก พร้อมกับเสริมว่า หัวดอกสว่านหลายชิ้นได้พังและแตกไปเป็นจำนวนมาก
หากไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนใด ๆ ดร.สุรเวช บอกว่า พวกเขาอาจต้องจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทำให้แหล่งขุดนี้กลายเป็นเหมืองหิน แต่อีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้ความคิดนั้นต้องหยุดชะงักลง ก็คือความเปราะบางของกระดูกไดโนเสาร์ตัวใหม่ที่อยู่ในมือพวกเขา
ทีมขุดค้นเชื่อว่ามันน่าจะเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ในสกุล “แบรคิโอซอรัส (Brachiosaurus)" สัตว์กินพืชตัวยักษ์ใหญ่คอยาวในกลุ่มสายพันธุ์ซอโรพอด (sauropod) โดยประเมินว่า มันอาจมีขนาดลำตัวสูงราว 10-15 เมตร และยาวประมาณ 20 เมตร มีน้ำหนักตัวราว 78 ตัน หรือเท่ากับช้างแอฟริกา 15 เชือก
“แบรคิโอซอรัสมีลักษณะพิเศษ คือ ตัวใหญ่ ทรงเหมือนยีราฟ คอยาวสูง แต่ด้วยสรีระของเขาที่เป็นแบบนี้ มันเลยมีการออกแบบทางวิศวกรรมที่ดีมาก กระดูกเขาจะเป็นรูพรุนเหมือนกับฟองน้ำ อย่างกระดูกคอ-กระดูกสันหลังที่เห็นเป็นชิ้นใหญ่ ๆ แต่ข้างในมันเต็มไปด้วยรูพรุน เพราะฉะนั้นผิวกระดูกของเขาจะบางมาก บางจุดบางไม่ถึง 1 มิลลิเมตร มันเลยเป็นความยากของเราในการสกัดหินออกจากกระดูก เพราะเวลาเราทุบลงไป มันจะไปแตกตรงส่วนที่อ่อน นั่นก็คือกระดูก ดังนั้นหากเราทำแบบรีบ ๆ ส่วนที่ป่นก็คือกระดูก แทนที่จะเป็นหิน” ดร.สุรเวช อธิบาย
ในตอนแรก ทีมวิจัยคิดว่า ซากฟอสซิลในหลุมที่ 3 คือภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน แต่ต่อมา ดร.สุรเวช พบว่า ขนาดของกระดูกมีความแตกต่างกันอย่างมาก
“ภูเวียงโกซอรัสที่หลุม 1 ซึ่งเป็นตัวใหญ่สุด แก่สุด หากเทียบ stage (ขั้นการเจริญเติบโต) ที่เขาแบ่งออกเป็น 13 stage ตัวนี้จะอยู่ที่ stage 13 ถ้าเทียบกับคนก็มีอายุประมาณ 70-80 ปี ซึ่งถือว่าแก่มากแล้ว และเราจำได้ขึ้นใจว่ากระดูกสันหลังมันจะอยู่ที่ 40-50 เซนติเมตร แต่พอมาเจอชิ้นนี้ [ในหลุม 3] มันใหญ่กว่าเท่าตัวเลย ก็เลยปิ๊งว่ามันอาจไม่ใช่ภูเวียงโกซอรัสแล้ว”
จนถึงตอนนี้งานขุดค้นที่ดำเนินมาเกือบ 1 ปี คืบหน้าไปแล้วราว 20-30% แต่มันเป็นเรื่องเข้าใจผิด หากเราคิดว่าซากฟอสซิลนอนเรียงตัวกันอย่างสวยงาม เพื่อรอคอยให้นักบรรพชีวินมาค้นพบพวกมันเมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยล้านปี เพราะความจริงคือพวกมันกองรวมกันไม่ต่างจากกระดูกหมูในซุปต้มเล้ง
“เหมือนเขาตายไปได้สักพักหนึ่งแล้ว จนร่างเปื่อยแล้ว จากนั้นเกิดน้ำท่วมในบริเวณที่เขาตาย แล้วก็พัดกองกระดูกทั้งหมดมารวมกันที่ปลายน้ำ” ดร.สุรเวช อธิบายให้เห็นภาพ “มันเหมือนกับภาพโคลนถล่มที่แม่สายที่เราเห็นรถมอเตอร์ไซค์กองติดอยู่กับผนังบ้าน มันคล้าย ๆ กันตรงที่กองกระดูกถูกอัดรวมกันไปด้านใดด้านหนึ่ง พอกระดูกมันมาอัด-มาไขว้รวมกันไปหมด กลายเป็นว่าเราเลาะ ๆ กระดูกสันหลังอยู่ ก็พบกระดูกซี่โครงยื่นออกมา มีชิ้นที่ไม่คาดฝันโผล่ขึ้นมา มันเลยทำให้การขุดยากขึ้นไปอีก”
ทีมขุดค้นพยายามรวบรวมกระดูกและเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด จากนั้นหาลักษณะสำคัญหรือลักษณะเฉพาะของมันให้เจอ โดยนำไปเปรียบเทียบกับฟอสซิลที่เคยเจอมาก่อนหน้านี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อหาชนิดที่ใกล้เคียงกันให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงทำบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เพื่อรายงานการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ พร้อมกับขอตั้งชื่อ ซึ่งพวกเขาคาดว่าการยืนยันว่าเป็นแบรคิโอซอรัสสายพันธุ์ใหม่น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า
หากทุกหลักฐานที่มียืนยันว่านี่คือไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 6 ของภูเวียง มันจะกลายเป็นไดโนเสาร์กินพืชที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของยุค 130 ล้านปีที่พบในไทย
“มันเป็นไดโนเสาร์กินพืชที่เจอในยุคเดียวกันกับภูเวียงโกซอรัส แต่ตัวใหญ่กว่า นั่นหมายความว่าป่าตรงนี้ต้องมีความสมบูรณ์มาก ๆ เช่นปัจจุบันการที่เราจะเจอช้าง มันก็ต้องเจอในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ๆ มีแหล่งทรัพยากรเยอะมาก ๆ เพราะฉะนั้นมันก็ยิ่งบอกเราได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าโบราณว่ามีไดโนเสาร์กินพืชตัวใหญ่ยักษ์และพวกมันก็อยู่ด้วยกันได้” ดร.สุรเวช ผู้นำการขุดค้นในครั้งนี้ บอก
นักบรรพชีวินยังบอกด้วยว่า พวกเขาเจอไดโนเสาร์กินเนื้อที่ภูเวียงเยอะมาก ในสัดส่วนตัวกินเนื้อ 7 ตัว และตัวกินพืช 2 ตัว ซึ่งเป็นเรื่องผิดธรรมชาติที่ปกติจะพบไดโนเสาร์กินพืชเยอะกว่า ดังนั้น พวกเขาจึงสันนิษฐานว่า บริเวณแหล่งที่พบอาจเป็นปากแม่น้ำที่สัตว์ชนิด ๆ ต่างลงมาหากิน และดึงดูดสัตว์กินเนื้อผู้ล่าให้เข้ามาอยู่ในบริเวณนี้จำนวนมากก็เป็นได้ แต่การจะหาคำตอบเหล่านี้ ล้วนขึ้นอยู่กับงานศึกษาและการขุดค้นเพิ่มเติมในอนาคต
เบื้องหลังแรงบันดาลใจ
นายสุธรรม วงษ์จันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเวียง ผู้เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันระบบราชการและงานเอกสารมากมาย เพื่อทลายข้อจำกัดการทำกิจกรรมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ “ที่แม้แต่การนำหินออกไปสักก้อนก็เป็นเรื่องผิดกฎหมาย” จนสามารถช่วงชิงเงินจากกองทุนจัดการซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณีมาได้ บอกกับบีบีซีไทยว่าพวกเขาดำเนินการขอทุนอยู่ 3 ปี จนเกือบถอดใจ
“สุดท้ายผมขู่เขาว่าถ้าไม่ให้ทุนผมในปี 2567 ผมจะเลิกขอแล้วนะ แล้วปล่อยให้มันอยู่แบบนี้แหละ” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเวียงกล่าวแบบติดตลก และบอกด้วยว่าการขุดค้นครั้งล่าสุดนี้ถือว่าเป็นการกลับมาเปิดแหล่งขุดค้นฟอสซิลอีกครั้งในรอบกว่า 30 ปีของภูเวียง
เมื่อสอบถามว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้หัวหน้าอุทยานฯ ที่มีภารกิจหลักคือการปกป้องผืนป่าและสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในอาณาบริเวณ ต้องการผลักดันให้เกิดการขุดค้นฟอสซิลอายุหลายร้อยล้านปีในพื้นที่อุทยานฯ อีกครั้ง เขาตอบยิ้ม ๆ ว่า “ที่จริงสมัยก่อนผมเคยเลือกเรียนธรณีวิทยา แต่ผมสอบไม่ติด ไปติดวนศาสตร์”
นายสุธรรมบอกว่าภูเวียงมีพื้นที่อีกกว่าประมาณ 10,000 ไร่ที่รอการสำรวจเพื่อค้นพบฟอสซิลใหม่ ๆ
“ผมมองว่าในสังคมของสิ่งมีชีวิตในช่วง 130 ล้านปี มันต้องประกอบไปด้วยสัตว์ผู้ล่า สัตว์ผู้โดนล่า พืชพรรณต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ไดโนเสาร์ แต่น่าจะต้องมีสัตว์อื่น ๆ ด้วย ซึ่งมันน่าจะต้องเจออะไรเยอะแยะไปหมด แต่ตอนนี้เราเพิ่งเจอไดโนเสาร์เพียงแค่ไม่กี่ตัวเอง” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเวียงกล่าว
ดร.สุรเวชเสริมว่าช่วง 130 ล้านปีคือยุคครีเทเชียสตอนต้น ซึ่งเป็นช่วงถัดจากยุคจูราสสิคที่ยังเต็มไปด้วยปริศนาให้นักวิจัยและนักบรรพชีวินทั่วโลกได้ค้นคว้าต่อ
“มันเป็นช่วงที่กำลังฟื้นฟูจากการสูญพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่ปัญหาคือช่วงเวลานี้ในที่อื่น ๆ ทั่วโลก มันยังไม่ค่อยเจอฟอสซิลเยอะขนาดนี้ เพราะชั้นหินที่เจอในช่วงนี้มีไม่เยอะมาก ใกล้เคียงที่สุดก็มีที่อังกฤษและสเปน ของทางอเมริกาใต้ก็เป็นยุคหลังจากนี้ไป ของจีนตอนใต้ก็เป็นยุคอ่อนกว่านี้ มันจึงเป็นจุดที่น่าสนใจตรงที่มันอาจช่วยอธิบายหรือบอกเราได้ว่าตรงนี้เป็นฮอตสปอต (hot spot) หนึ่งที่อาจเป็นจุดกำเนิดของไดโนเสาร์กลุ่มยุคใหม่ก็ได้” นักบรรพชีวินจาก ม.มหาสารคาม กล่าว
ดร.สุรเวช ยกตัวอย่างว่าก่อนหน้านี้ที่ภูเวียงเคยมีการค้นพบ กินรีมิมัส (Kinnareemimus) ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศตัวแรกของไทย ต่อมามีข้อมูลมันว่ามีอายุแก่ที่สุดของกลุ่มนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีถิ่นกำเนิดอยู่แถบนี้ ก่อนกระจายไปที่อื่น
“ส่วนแบรคิโอซอรัสเป็นตัวที่อายุน้อยที่สุดของกลุ่มนี้ เพราะเจอมาตั้งแต่ช่วงจูราสสิค ถ้าอย่างนั้นมันอาจจะลี้ภัย อพยพมา แล้วมาอยู่รอดที่นี่เป็นกลุ่มสุดท้าย ขณะที่ภูเวียงโกซอรัสเป็นกลุ่มที่จะพัฒนาต่อไปไดโนเสาร์รุ่นหลัง ๆ มันก็ยังมีคำถามอยู่ว่าระหว่าง 2 ตัวนี้ มันจะวิวัฒนาการต่อไปอย่างไร มาอยู่ร่วมกันหรือแทนที่กัน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของทั่วโลก” เขาอธิบาย
“ผมมองว่าหลาย ๆ คำตอบของการสูญพันธุ์ การกำเนิดอะไรต่าง ๆ มันอาจมีคำตอบอยู่ที่ภูเวียง หรือมันอาจจะอยู่ที่หลุม 3 แห่งนี้ก็ได้” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเวียงกล่าวเสริม
ในตอนนี้ชุดลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติภูเวียงยังได้รับการฝึกให้สังเกตฟอสซิลที่อยู่ตามหินต่าง ๆ ด้วย ส่งผลให้พวกเขาค้นพบพื้นที่ใหม่ ๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นแหล่งฟอสซิลของภูเวียง และนี่เป็นงานที่เพิ่มเติมจากการลาดตระเวนปกติ ที่มักมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันปราบปรามการตัดไม้มีค่าและการหาของป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ
นายสุธรรมบอกว่าเขาอยากทำให้ภูเวียงกลายเป็นโลกไดโนเสาร์เหมือนภาพยนตร์เรื่อง “จูราสสิคพาร์ค (Jurassic Park)” ที่ผู้คนเข้ามาในหุบเขาแห่งนี้และได้เรียนรู้โลกดึกดำบรรพ์ไปพร้อม ๆ กับนักบรรพชีวินที่กำลังขะมักเขม้นอยู่กับงานไขปริศนาโลก 130 ล้านปี
“ผมอยากทำให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต” เขากล่าวทิ้งท้ายกับบีบีซีไทย