Location via proxy:   [ UP ]  
[Report a bug]   [Manage cookies]                
ข้ามไปเนื้อหา

ปีติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปิติ (บาลี: Pīti) หมายถึง ความอิ่มใจ ความดื่มด่ำ

ประเภทของปีติ

[แก้]

คัมภีร์วิสุทธิมรรคและวิมุตติมรรค

[แก้]

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคและวิมุตติมรรค แบ่งปีติเป็นห้าประเภท คือ

  • ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล
  • ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบ ๆ เป็นขณะ ๆ ดุจฟ้าแลบ เสียวซ่านถึงรูขุมขน
  • โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอก หรือปีติเป็นพัก ๆ ทำให้รู้สึกซู่ลงมา ๆ ในกายดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง
  • อุพเพคาปีติ หรือ อุพเพงคาปีติ ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรง ให้รู้สึกใจฟู แสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบา เหมือนลอยขึ้นไปในอากาศ
  • ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านเอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ ปีติที่ประกอบกับสมาธิ ท่านมุ่งเอาข้อนี้

ขุททกาปีติและขณิกาปีติสามารถเข้าถึงได้ด้วยศรัทธา โอกกันติกาปีตินั้นถ้ามีมากย่อมทำอุปจารสมาธิให้เกิดขึ้น อุพเพคาปีติที่ยึดติดกับดวงกสิณ ทำให้ทั้งกุศลและอกุศลเกิดขึ้น และขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญ ผรณาปีติบุคคลทำให้เกิดขึ้นในสภาวะแห่ง อัปปนาสมาธิ

คัมภีร์วิมุตติมรรค

[แก้]

ในคัมภีร์วิมุตติมรรค ยังมีการแบ่งอีกแบบหนึ่ง แบ่งปีติเป็นหกประการ คือ

  • ปีติเกิดจากราคะ ความอิ่มใจเพราะความชอบ หลงใหล และความอิ่มใจที่ประกอบด้วยกิเลส
  • ปีติเกิดจากศรัทธา ความอิ่มใจของบุคคลผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า
  • ปีติเกิดจากความไม่ดื้อด้าน ความอิ่มใจอย่างยิ่งของคนดี มีใจบริสุทธิ์
  • ปีติเกิดจากวิเวก ความอิ่มใจของบุคคลผู้เข้าปฐมฌาน
  • ปีติเกิดจากสมาธิ ความอิ่มใจของบุคคลผู้เข้าทุติยฌาน
  • ปีติเกิดจากโพชฌงค์ ความอิ่มใจที่เกิดจากการดำเนินตามโลกุตตรมรรค ในทุติยฌาน

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

ปีติ พบรวมอยู่ในหลักธรรมอื่น ๆ ทางพุทธศาสนา เช่น

นอกจากนี้ ปีติยังเป็นหนึ่งในวิปัสสนูปกิเลส 10 (อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา)

ปีติเจตสิก

[แก้]

ในคัมภีร์พระอภิธรรม มีการกล่าวถึงปีติในลักษณะที่เป็นเจตสิก (ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด) เรียกว่า "ปีติเจตสิก" มีลักษณะดังนี้ คือ

  • มีความแช่มชื่นใจในอารมณ์เป็น "ลักษณะ"
  • มีการทำให้อิ่มกายอิ่มใจ หรือทำให้ซาบซ่านทั่วร่างกาย เป็น "กิจ"
  • มีความฟูใจเป็น "ผล"
  • มีนามขันธ์ 3 ที่เหลือ ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์) เป็น "เหตุใกล้"

ธรรมชาติของปีตินี้ เมื่อเกิดขึ้นกับใครย่อมทำให้ผู้นั้นรู้สึกปลาบปลื้มใจ มีหน้าตาและกายวาจาชื่นบานแจ่มใสเป็นพิเศษ บางทีก็ทำให้รู้สึกซาบซ่านไปทั่วร่างกาย ซึ่งเกิดจากปีติแผ่ซ่านไปทั่วร่างกายนี่เอง และทำให้จิตใจของผู้นั้นแช่มชื่น เข้มแข็ง ไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายต่ออารมณ์

อาการปรากฏของปีตินี้ คือ ทำให้จิตใจฟูอื่มเอิบขึ้นมา

ปีติจะเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมต้องอาศัยนามขันธ์ 3 คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

เวทนาขันธ์ที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปีตินั้น ย่อมอาศัยสุขเวทนา เป็นต้น เป็นเหตุให้ปีติเกิด ด้วยเหตุนี้เอง บางทีเราเข้าใจว่า ปีติและสุขเป็นอันเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ แต่ความจริงนั้นปีติกับสุขต่างกัน คือ สุขเป็นเวทนาขันธ์ ปีติเป็นสังขารขันธ์ และเมื่อมีปีติจะต้องมีสุขเสมอแน่นอน แต่ว่าเมื่อมีสุข อาจจะไม่มีปีติด้วยก็ได้

ข้อความอ้างอิง

[แก้]

เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละแล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง

อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง

— สุภสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙

ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่เธอผู้รู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ความอิ่มใจย่อมเกิดแก่เธอผู้ปราโมทย์แล้ว กายของเธอผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบระงับ เธอผู้มีกายสงบระงับแล้ว ย่อมเสวยความสุข จิตของเธอผู้มีความสุข ย่อมตั้งมั่น

— สังคีติสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑

สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย วิญญาณมีสังขารเป็นที่อิงอาศัย นามรูปมีวิญญาณเป็นที่อิงอาศัย ผัสสะมีสฬายตนะเป็นที่อิงอาศัย เวทนามีผัสสะเป็นที่อิงอาศัย ตัณหามีเวทนาเป็นที่อิงอาศัย อุปาทานมีตัณหาเป็นที่อิงอาศัย ภพมีอุปาทานเป็นที่อิงอาศัย ชาติมีภพเป็นที่อิงอาศัย ทุกข์มีชาติเป็นที่อิงอาศัย ศรัทธามีทุกข์เป็นที่อิงอาศัย ความปราโมทย์มีศรัทธาเป็นที่อิงอาศัย ปีติมีปราโมทย์เป็นที่อิงอาศัย ปัสสัทธิมีปีติเป็นที่อิงอาศัย สุขมีปัสสัทธิเป็นที่อิงอาศัย สมาธิมีสุขเป็นที่อิงอาศัย ยถาภูตญาณทัสสนะมีสมาธิเป็นที่อิงอาศัย นิพพิทามียถาภูตญาณทัสสนะเป็นที่อิงอาศัย วิราคะมีนิพพิทาเป็นที่อิงอาศัย วิมุตติมีวิราคะเป็นที่อิงอาศัย ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไปมีวิมุตติเป็นที่อิงอาศัย

— อุปนิสสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖

อ้างอิง

[แก้]