ลัทธิกะเหรี่ยงฤๅษี
ลัทธิกะเหรี่ยงฤๅษี บ้างเรียก นิกายตะละกู่[1][2] เป็นความเชื่ออิงศาสนาพุทธของชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยและประเทศพม่า มีศูนย์กลางอยู่ที่บ้านเลตองคุ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ในชุมชนของพวกเขามีลักษณะโดดเด่นคือไม่มีพระสงฆ์ หากแต่มีฤๅษีเป็นทั้งนักพรตและผู้นำทางจิตวิญญาณ ถือพรตรับประทานอาหารมังสวิรัติ รวมทั้งไม่นิยมฆ่าสัตว์ตัดชีวิต[3][4][5] มีลักษณะเป็นความเชื่อวิญญาณนิยมผนวกเข้ากับศาสนาพุทธ ทั้งยังมีความเชื่อแบบเอกเทวนิยมเพราะนับถือพระเป็นเจ้าหรือเทพยดาเรียกว่า เก่อจาเม เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งบนโลก[6] ถือเป็นความเชื่อและพิธีกรรมที่ขับเน้นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ให้ชัดเจน สำหรับการรวมชาวกะเหรี่ยงอย่างหลวม ๆ ในท้องถิ่น[7]
ใน พ.ศ. 2564 มีชาวกะเหรี่ยงเพียง 7 หมู่บ้านที่ยังนับถือลัทธิฤๅษี[5] ประชากรกะเหรี่ยงที่นับถือลัทธิฤๅษีกำลังลดจำนวนลง เพราะชาวกะเหรี่ยงรอบ ๆ เลตองคุจำนวนมากเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์หรือพุทธ[8][9] รวมทั้งการแตกแยกของคนในลัทธิเอง ก่อให้เกิดการแยกลัทธิใหม่ของตนเองในแต่ละชุมชน[2]
ประวัติ
[แก้]การสร้างโลก
[แก้]เก่อจาเม หรือพระเป็นเจ้า (ตรงกับพระอินทร์)[2] ได้สร้างมนุษย์คู่แรกบนโลกมนุษย์ เป็นชายชื่อ เอท้อกะระ (ดั่งแผ่นฟ้า) และ เอท้อกะชิ (ดั่งแผ่นดิน) โดยส่งทั้งสองไปที่สวนอีเด้เพื่อสร้างมนุษยชาติ โดยให้ทำงานหกวันและหยุดงานหนึ่งวัน รวมทั้งอนุญาตให้กินไม้ผลในสวนได้ ยกเว้นไม้ผลต้นเดียวที่ห้ามกินเพราะจะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้น ทว่า มีก่อลี (ผู้มีจิตริษยา) ได้ล่อลวงให้ทั้งสองกินผลจากไม้นั้น ทั้งเอท้อกะระและเอท้อกะชิจึงมีสิ่งไม่ดีไม่งามในตัว เก่อจาเมจึงส่ง อิสิเปอะม้อโก (ผู้ควบคุมโลกจากเริ่มต้นจนถึงสิ้นสุด) มาลงมาควบคุมเหล่ามนุษย์และลูกหลานที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต เอท้อกะระและเอท้อกะชิมีบุตรห้าคน คนแรกชื่อ เจอะกว่อ เป็นบรรพชนกะเหรี่ยง คนที่สองชื่อ เตอะเลอ เป็นบรรพชนมอญ คนที่สามชื่อ โหย่ เป็นบรรพชนไทย คนที่สี่ชื่อ เปอะเยอ เป็นบรรพชนพม่า และคนที่ห้าชื่อ ก่อลา เป็นบรรพชนของฝรั่ง[10]
ต่อมาคนไทยไปสู่ขอลูกสาวหัวหน้าเผ่ากะเหรี่ยงชื่อ มือแหย่แพ (แม่นางสายสร้อย) แต่กะเหรี่ยงไม่ยกให้ ชาวไทยจึงไม่ส่งเกลือให้กะเหรี่ยงยาวนานถึงสามปี ทำให้ชาวกะเหรี่ยงป่วยเป็นโรคเท้าบวม ชาวกะเหรี่ยงจึงยอมยกลูกสาวให้ แต่มีข้อแม้ว่าหากหญิงนางนี้มีบุตรเป็นชาย เมื่อมีอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์คนไทยต้องแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าเผ่า เมื่อครบ 20 ปีแล้ว ชาวกะเหรี่ยงจึงจัดงานเลี้ยงฉลองด้วยสุราและอาหาร ชาวกะเหรี่ยงก็เมาหลับไหล กลางดึกคืนนั้นชาวไทยลอบสังหารผู้ชายกะเหรี่ยงจนตายหมดเหลือไว้แต่ผู้หญิง และคนไทยยังส่งกองกำลังมาโจมตีกะเหรี่ยงซ้ำอีก ชาวกะเหรี่ยงจำต้องลี้ภัยจนแตกฉานซ่านเซ็น พวกที่ลงมาทางใต้เรียก โปว์ ส่วนพวกที่หนีเข้าพม่าเรียก สกอว์[10]
แรกรับศีล
[แก้]มีหัวหน้ากะเหรี่ยงออกล่าสัตว์แล้วพบกับพระพุทธเจ้าและสาวก พระพุทธเจ้าขอบิณฑบาตอาหารจากเขา เขาซึ่งมีเพียงข้าวห่อเดียวก็ถวายให้พระพุทธเจ้าอย่างไม่เต็มใจนัก แต่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าสามารถแบ่งข้าวห่อเดียวให้เพียงพอต่อสาวกทั้ง 500 คน รวมทั้งหัวหน้ากะเหรี่ยงและหมาล่าเนื้อของเขาด้วย หัวหน้ากะเหรี่ยงรู้สึกศรัทธาจึงขอรับการอบรมและรับศีล พระพุทธเจ้าจึงให้ชื่อแก่หัวหน้ากะเหรี่ยงคนนั้นว่า ย่อแฮ (ผู้ได้รับความดีงามแล้ว) ภายหลังย่อแฮได้ถวาย มานะชะ (ลูกสมอ) แก่พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้ารับไปแล้ว ก็กล่าวถึงชาวกะเหรี่ยงว่า หากเราเป็นผู้ที่รู้จักแบ่งปันอย่างที่แบ่งข้าวห่อนี้ ก็จะทำให้ชาวกะเหรี่ยงที่ต่างคนต่างอยู่กลับมาเป็นพวกเดียวกันและรวมกันได้ ส่วนลูกสมอนี้เมื่อแรกลิ้มมีรสฝาดแต่เมื่อดื่มน้ำตามก็ได้รสหวานชุ่มคอ เปรียบได้ดั่งชาวกะเหรี่ยงที่ลำบาก ถ้าอดทนไปไม่ช้านานก็จะได้รับความสุข[10] ต่อมาเมื่อชาวบ้านทราบว่าย่อแฮเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ก็พากันรับศีลเพราะมองว่าการดื่มสุราเป็นเหตุให้เผ่าของตนแตกแยกไป และยกย่องให้ย่อแฮเป็น พือ (ปู่)[11]
สู่ดินแดนไทย
[แก้]ย่อแฮ ที่ได้รับการยกย่องเป็น พือ ปกครองชาวกะเหรี่ยงอย่างเป็นสุขและมั่นคงหลายชั่วอายุคน จนกระทั่ง เปอะเยอ (พม่า) เข้ามารุกรานจนชาวกะเหรี่ยงต้องอพยพไปทั่วดินแดนพม่า และสุดท้ายต้องหนีทหารพม่าไปอยู่ในถ้ำ ชาวกะเหรี่ยงในถ้ำได้พบกับเด็กผู้ชายชื่อ กว่อแว เขาขอขี้ผึ้งจากชาวบ้านโดยให้เหตุผลว่าจะไปทำเทียนและจุดเทียนเพื่อให้ปลอดภัยจากทหารพม่า การจุดเทียนนั้นทำให้ทหารพม่าหลับไหล เมื่อตื่นขึ้นมาก็ไม่พบชาวกะเหรี่ยงในถ้ำ ชาวกะเหรี่ยงจึงนับถือกว่อแวว่าเป็นผู้วิเศษและแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้นำ กว่อแวเป็นผู้นำชาวกะเหรี่ยงพาข้ามแดนสู่ประเทศไทยเพื่อหนีจากทหารพม่า กว่อแวใช้ ไม้เท้าวิเศษ ขับไล่ สิ่งไม่ดีไม่งาม ที่บรรพชนเคยกินไม้ผลในสวนอีเด้ ชาวกะเหรี่ยงจำต้องใช้สัตว์สี่เท้า คือ ช้าง วัว และควาย เป็นพาหนะในการเดินทางข้ามแดน เดิมไว้ใช้เลี้ยงผี แต่ในสภาวการณ์คับขันดังกล่าว พวกเขาได้ใช้ไก่และหมูสังเวยเลี้ยงผีแทน จากนั้นกว่อแวได้นำไม้เท้าวิเศษขับไล่สิ่งไม่ดีไม่งามไปใส่ในไก่และหมู เมื่อทหารพม่าตามมาก็เห็นแค่เพียงการจากไปของชาวกะเหรี่ยงเท่านั้น[11]
เมื่อเข้าสู่ดินแดนไทยแล้ว กว่อแว ไปนอนบนหน้าผาแล้วมีนิมิตว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง จึงสร้างหมู่บ้านชื่อ เลต่อโคะ (ใต้หน้าผาเหนือน้ำตก) หรือในไทยเรียกเลตองคุ และสร้างที่อยู่ของ อิสิ (ฤๅษี) ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่ ตะหมุปูเยีย (ที่บูชาพ้นภัย) โดยกว่อแวเป็นฤๅษีตนแรก[11] หลังจากนั้นไม่นานทหารพม่าก็มาถึง โดยจับตัว บุ๊โคะ (เจ้าวัด) ให้ไปชี้ตัวกว่อแว เมื่อพบตัวจึงฆ่าตัวคอกว่อแวทันที วิญญาณของกว่อแวขึ้นไปเฝ้า เก่อจาเม (พระเจ้าพระบิดา) ว่าตนจะไม่กลับไปโลกมนุษย์อีก เพราะมนุษย์นั้นมีน้ำใจโหดร้ายทารุณนัก เก่อจาเม มีโองการว่ามนุษย์มีทั้งดีและไม่ดีปะปนระคนกันไป เราต้องส่งคนไปช่วยคนดีแก้ไขคนชั่ว แต่กว่อแวยืนกรานที่จะไม่กลับไปโลกมนุษย์อีก โดยขอให้ส่งเพื่อนของตนลงไปแทน[6]
เก่อจาเม ส่งเพื่อนของกว่อแวลงไป เขาได้สั่งสอนให้ชาวบ้านเลิกเลี้ยงผีเพราะเป็นภาระใหญ่ ทำให้ยักษ์ซึ่งเป็นหัวหน้ามวลผีไม่พอใจขึ้นไปฟ้องเก่อจาเมให้บุตรของท่านเลิกความคิดดังกล่าวเสีย เก่อจาเมกล่าวว่าเลี้ยงผีได้แต่ผีต้องรับผิดชอบล้างถ้วยชามเองด้วย ยักษ์บอกว่าจะทำตามเงื่อนไขนี้ก็ต่อเมื่อเพื่อนของกว่อแวกล้ากระโดดลงกองไฟเพื่อแสดงให้เห็นว่าทำเพื่อมนุษย์มากกว่าผี เพื่อนของกว่อแวจึงตกลงใจกระโดดลงกองไฟเพื่อเสียสละแก่มนุษย์ ชาวกะเหรี่ยงพากันเรียกขานเพื่อนของกว่อแวว่า โจ่วยุ (เพื่อชาติ) นับถือเป็นฤๅษีตนที่ 2 ของหมู่บ้านเลตองคุ และเป็นที่มาของพิธีจุดไฟบูชาฤๅษี[6]
มีวันหนึ่ง ชาวบ้านทำวัวหายเข้าไปในป่า แต่พบเด็กชายคนหนึ่งบอกว่าอยากได้ขี้ผึ้งมาทำเทียน ถ้าชาวบ้านคนนั้นช่วยก็จะตามหาวัวให้ แต่ชาวบ้านคนนั้นไม่สนใจและตามหาวัวของตนต่อไป ผ่านมาหลายวันก็ยังไม่พบวัว แต่กลับเจอเด็กผู้ชายคนนี้ทุกหนแห่ง ชาวบ้านจึงนำเรื่องไปเล่าให้ภรรยาฟัง ฝ่ายภรรยาเองก็ให้เขานำขี้ผึ้งไปให้เด็กคนดังกล่าว เมื่อได้ขี้ผึ้งแล้ว เด็กชายบอกว่าจะจุดเทียนตรงนี้ แต่กลัวเทียนดับให้ตั้งศาลาให้ด้วย รวมทั้งขอยืมมีดของชาวบ้านไว้ ส่วนวัวนั้นจะเจอระหว่างกลับบ้านหรือที่บ้าน ปรากฏชาวบ้านพบวัวกลับมาบ้านของตนเองแล้ว จึงเล่าให้ภรรยาฟัง ทั้งสองเชื่อว่าเด็กคนดังกล่าวเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์จึงช่วยกันสร้างศาลาให้ ชาวบ้านที่ทราบข่าวก็พากันกราบไหว้และเรียกขานเด็กคนนี้ว่า แจะเบอะ (ตั้งหลักได้มั่นคง) และยกย่องให้เป็นฤๅษีตนที่ 3 ของหมู่บ้าน[12] แจะเบอะเป็นผู้วางรากฐาน ตะหมุปูเบีย (ที่บูชาพ้นภัย)[13] ต่อมา เสาะเจี๊ยะ (สัจจะ) ได้เป็นฤๅษีตนที่ 4 หลังรับนิมิตจาก แจะเบอะ ฤๅษีตนที่ 3 ให้นุ่งขาวห่มขาว รุ่งเช้าเขาได้แจ้งนิมิตนั้นแก่ชาวบ้าน โดยนุ่งขาวห่มขาวตั้งแต่นั้น[13]
ในการปกครองของ แจะแป๊ะ ฤๅษีตนที่ 5 เคยส่งชาวบ้านสามคน ได้แก่ ผู้ชู ผู้ดู และผู้อ่องวะ ไปเรียนหนังสือไทย แต่กลับไม่สำเร็จเพราะถูกดูแคลนว่าเป็นคนป่าชาวดอย ท่านจึงสาบานว่า "เมื่อใดที่เราเรียนหนังสือไทยจะต้องเกิดภัยพิบัติกับพวกเราไม่เร็วก็ช้า"[13] ต่อมาได้ส่ง ย่อโท ย่อดะ และย่อแค่มะ ไปบวชเป็นพระในศาสนาพุทธที่พม่า เมื่อเห็นว่าศิษย์ของตนสามารถครองผ้าเหลืองได้ ก็เห็นว่าตนก็สามารถครองผ้าเหลืองได้เช่นกัน แต่จนสิ้นอายุขัยท่านก็ไม่ได้รับนิมิตให้ครองผ้าเหลือง ต้องครองผ้าขาวไปจนชั่วชีวิต[2] ในช่วงเวลานี้ มีช้างตกลูกที่สำนักฤๅษี แจะแป๊ะตั้งชื่อช้างนี้ว่า พะตะคอ ช้างแสนรู้ที่คอยรับใช้ฤๅษีในเทศกาลสำคัญต่าง ๆ เมื่อช้างนี้ล้มลง ฤๅษีจึงตัดงาไว้และให้ช่างชาวพม่าแกะสลักเป็นพระพุทธรูปเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของช้าง ชาวบ้านนับถือเป็นคู่บ้านคู่เมืองและเคารพกราบไหว้กันทุกวันพระ[13][14] ต่อมา เก๊าะเคาะ (ขาเป๋) ขึ้นเป็นฤๅษีตนที่ 6 เป็นฤๅษีที่มีประวัติน้อย แต่เป็นฤๅษีตนแรกที่ห่มผ้าเหลือง[15] หลังฤๅษีที่ 6 ถึงแก่มรณกรรม จึงตั้ง เสาะเทียะ ที่บรรพชนอพยพมาจากบ้านแม่กลองคี เป็นฤๅษีตนที่ 7 ท่านมีนิมิตให้ปรับปรุงการแต่งกายของผู้นับถือฤๅษีเป็นแบบอย่างมาจนถึงปัจจุบัน และก่อนท่านมรณภาพ ท่านให้ แจละยะ หรือ แจยะ เป็นฤๅษีตนที่ 8 สืบต่อตนเอง[15] ก่อนขึ้นตำแหน่ง มีเด็กในพื้นที่ตายลงเป็นจำนวนมาก แจละยะอ้างว่าตนทำความดีไม่เท่ากับฤๅษีตนก่อน ๆ จึงขอสร้างบารมีด้วยการแต่งงานกับ นางมะเนระ หญิงบ้านกุยละเติ่งในประเทศพม่า มีบุตรด้วยกันสองคนคือ นายตะอึและนางหน่อพอ เพื่อขยายเผ่าพันธุ์มนุษย์[2] หลังดำรงตำแหน่งแจละยะต้องการแก้บาปให้พม่าที่สังหารฤๅษีตนที่ 1 โดยการนำชาวบ้านที่นับถือฤๅษีไปยังบ้านเจะโต่งอันเป็นที่ตั้งของกองกำลังพม่า โดยมีกองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงสมทบไปด้วย แต่การสู้รบไม่เป็นผล ชาวกะเหรี่ยงล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ผู้นำทหารกะเหรี่ยงไม่พอใจที่แจละยะพาคนของตนไปตาย จึงจับแจละยะไปขังและฆ่าตายในที่สุด[15]
ในการปกครองของ จำเลยช่วย หรือ จำเลอช่วย ฤๅษีตนที่ 9 ท่านเชื่อว่าฤๅษีตนก่อนทำเรื่องไม่ดีเกี่ยวกับผู้หญิงและการนำชาวกะเหรี่ยงไปตาย ถือเป็นเรื่องไม่ดี ท่านจึงจัดพิธีเข้าลัทธิฤๅษีใหม่ให้กายและใจบริสุทธิ์อีกครั้ง[2] ในช่วงเวลานี้บ้านเลตองคุติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น รัฐบาลไทยจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นซึ่งขัดกับคำสั่งของ แจะแป๊ะ ฤๅษีตนที่ 5 ที่ห้ามเรียนหนังสือไทย จำเลยช่วยจึงจัดพิธีกรรมโดยเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาดื่มน้ำสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสำนักฤๅษี โดยให้สัญญาว่า "จะไม่ทำให้เป็นการผิดขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวบ้าน และจะทำทุกอย่างที่จะช่วยเหลือชาวบ้านหากเกิดเภทภัยขึ้น" เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐของไทยกับชาวกะเหรี่ยงฤๅษี[15] จำเลยช่วยถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2532[2] ปัจจุบัน ม่อแน่ ชาวบ้านไกกว่า (หญ้าไม้กวาด) ในเขตประเทศพม่า ผู้เคยบวชเป็นพระภิกษุอย่างเคร่งครัดขึ้นเป็นฤๅษีตนที่ 10 ผ่านการนิมิตจากฤๅษีและนักบวชในสำนักถึงสามครั้ง[2] หลังเข้ามาเป็นลูกศิษย์ของจำเลยช่วยมา 25 ปี โดยยังนุ่งขาวห่มขาวตามอย่างฤๅษีคนก่อน ๆ ดังเดิม[15]
ก่อน พ.ศ. 2400 ที่บ้านเลตองคุเคยมีวัดในศาสนาพุทธซึ่งเจ้าอาวาสชาวมอญปกครองอยู่ แต่ต่อมาวัดร้างลง ชาวบ้านเลตองคุจึงนำพระพุทธรูปพุทธศิลป์พม่า มอญ และไทยจำนวน 50 องค์ไปไว้ที่สำนักฤๅษี[14]
ความเชื่อ
[แก้]ลัทธิกะเหรี่ยงฤๅษีมีความเชื่อว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเป็นเพียงผู้เข้ามาขอใช้ประโยชน์เพื่อความอยู่รอดเท่านั้น เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกเกิดจากอำนาจของ เก่อจาเม หรือ เตอะจาเม (ตรงกับพระอินทร์) เป็นพระผู้สร้าง โดยมี ยะหนู เป็นเทพที่คอยค้ำคูณพื้นพิภพให้สงบสุข เก่อจาเมส่ง อิสิเปอะม้อโก เป็นฤๅษีเป็นผู้ดูแลมนุษย์ มนุษย์ต้องถือศีลห้าอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตนตามข้อบัญญัติ 14 ข้อ[2] นอกจากนี้ยังความเชื่อเรื่องเทพอื่น ๆ ด้วย เช่น ซ่งทะรี เทพแห่งผืนดิน (ตรงกับพระธรณี) โพ่โดกุ๊ หรือ ทีเก่อจ่า เทพแห่งน้ำ (ตรงกับพระคงคา) รุกขะจือ เทพารักษ์ และ พิบุ๊โย เทพแห่งข้าว (ตรงกับนางโพสพ)[2] ซึ่งต้องให้ความเคารพยำเกรง หากไปกระทำความผิด เช่น การตัดไม้ทำลายป่าแบบไม่มีเหตุจำเป็น หรือการไปปัสสาวะไม่เป็นที่หรือไปปัสสาวะในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็จะเกิดอาเภทต่าง ๆ เช่น ห้วยไม่มีน้ำ เจ็บป่วย ไม่สบาย และถึงแก่ชีวิตได้[16]
นอกจากศีลห้าของศาสนาพุทธที่ต้องยึดถือกันอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังมีข้อบัญญัติ 14 ประการ หรือ ตาดี๊ ของลัทธิฤๅษี ที่ศาสนิกชนพึงปฏิบัติ มีดังนี้[2]
- ห้ามเลี้ยงสัตว์
- ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา
- ห้ามเล่นการพนัน
- ต้องได้รับความเห็นชอบจากบิดา มารดา ผู้เฒ่าผู้แก่ ในการแต่งงาน
- ห้ามผิดลูกผิดเมียผู้อื่น
- ห้ามปฏิบัติข้อด้านบนทั้งในบ้านและนอกพื้นที่
- การประชุมจะต้องมีสมาชิก 1 ใน 3
- การตัดสินเรื่องใด ๆ ที่เห็นไม่ตรงกันให้ใช้วิธีลงบัตรโดยผู้ใหญ่บ้านลง 2 บัตร สมาชิกลง 1 บัตร
- การควบคุมกิจการในกลุ่มต้องมีที่ปรึกษา 1 คน รอง 1 คน กรรมการ 4 คน
- ประธานที่ปรึกษาเป็นผู้ตัดสินกรณีสมาชิกฝ่าฝืนกฏ
- ประธานมีอำนาจลงโทษและตักเตือนกรณีสมาชิกทำผิดข้อ 4
- ผู้ใดกล่าวล่วงเกินในข้อ 4 คณะผู้ใหญ่ให้ผู้ล่วงเกินนั้นไปกราบขอโทษได้
- ผู้ใดล่วงเกินข้อ 1 2 3 ลงโทษ 3 ครั้งไม่เข็ดหลาบ ให้กรรมการผู้ใหญ่ไล่ออกจากสมาชิกได้
- การกลับเข้ามาเป็นสมาชิกหลังถูกไล่ออกต้องมีสมาชิก 2 คนรับรอง
ทั้งนี้หากมีการละเมิดข้อบัญญัติ 14 ประการ ก็จะมีบทลงโทษแตกต่างกันออกไปทั้งนักบวชและศาสนิกชน[2] ทั้งนี้พวกเขายังนับถือคติหญิงเป็นใหญ่[2] มีความเชื่อในเรื่องโลกหน้า โดยเชื่อว่าชาตินี้เกิดเป็นกะเหรี่ยงเพราะมีบุญไม่พอ ต้องหมั่นทำบุญเพื่อนำไปสู่ภพภูมิที่ดี และเกิดในยุคพระศรีอาริย์[2] นอกจากนี้ชาวกะเหรี่ยงยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของสัตว์ เช่น หาก เสือ (คี) เก้ง (ฉะคูบ่อง) และกวาง (ฉะโค่ง) เข้ามาในบ้าน แสดงว่ามีผู้ทำผิดกฎ นับถือนกเงือกกรามช้างหรือนกกกดำ (ทุกุ) เป็นสัจจะในการครองคู่ เพราะหากคู่ของมันตาย มันก็จะตรอมใจตายตาม และไม่ควรเลี้ยงหรือบริโภคหมูและไก่ เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงของผี[2] เป็นต้น
สังคม
[แก้]นักพรต
[แก้]ชาวกะเหรี่ยงฤๅษี มีผู้นำทางจิตวิญญาณคือฤๅษี (กะเหรี่ยงเรียก อิสิ) แบบสืบทอดตำแหน่งลงมาจนถึงฤๅษีตนที่ 10[17] ฤๅษีต้องนุ่งขาวห่มขาว นับถือเป็นต้นแบบของระบบศีลธรรมจรรยาในชุมชน[6] ฤๅษีจะอาศัยอยู่ในศาลาฤๅษีหรือสำนักฤๅษี (บุ) โดยการสืบทอดตำแหน่งของฤๅษีแต่ละตนจะเป็นการนิมิตเห็นฤๅษีจากรุ่นสู่รุ่น กล่าวคือฤๅษีตนปัจจุบันจะต้องนิมิตเห็นฤๅษีตนถัดไป ความแม่นยำของนิมิตจะอยู่ในช่วงระยะเวลาสามปี ปีละสามครั้งติดต่อกัน จึงจะเชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวคือฤๅษีตนถัดไปตามวิถีความเชื่อ[15] โดยสมาชิกลัทธิฤๅษีทุกคนชื่อว่า ฤๅษีสามารถดลบันดาลให้เกิดทุกข์หรือสุขได้ และเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติจากผีดีและผีร้าย[2] เมื่อมีงานบุญหรือเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ศาสนิกชนผู้มีศรัทธาจะไปขอพรและฟังธรรมเทศนาจากฤๅษีอย่างเนืองแน่น[18] ผู้นับถือฤๅษีจากหมู่บ้านอื่น ๆ จะต้องเดินทางไกลเพื่อแสวงบุญไปกราบไหว้ขอพรจากฤๅษี โดยเปรียบเปรยว่า ผู้ใดที่ไม่มีฤๅษีก็คือคนที่ไร้หัวใจ ดังนั้นการดำรงอยู่ของฤๅษี จึงเปรียบเสมือนการมีบุญ มีความอุดมสมบูรณ์ และมีสันติสุข[9]
ทั้งนี้ลัทธิฤๅษี มีโครงสร้างทางสังคมเป็นลำดับชั้น ตามข้อบังคับตามจารีตประเพณี แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ดังนี้[2]
- อิสิ หรือ ฤๅษี เป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณของลัทธิ
- วาตาบุ หรือ นักบวช เป็นชายที่ผ่านพิธีบวชในสำนักของฤๅษี
- ตะวาโบ๊ะ หรือ ศาสนิกชน เป็นผู้ที่ยึดถือศีลห้า และปฏิบัติตนตามกฎ 14 ข้อ
ก่อนการทำสนธิสัญญาแบ่งพรมแดนไทย-พม่า บริเวณเลตองคุเคยมีการปกครองแบบสังฆารัฐขนาดน้อย โดยมีฤๅษีเป็นประมุข โดยแบ่งอำนาจบริหารให้แก่ บูโคะเก๊อะ เป็นผู้บริหารศาสนิกชน ให้ศาสนิกชนปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และ บูโค๊ะ เป็นผู้นำชุมชนและผู้นำการประกอบศาสนกิจ หลังการทำสนธิสัญญาแบ่งพรมแดน มีการแต่งตั้งผู้นำชุมชนเป็นผู้ใหญ่บ้าน (ในไทย) และโอกะทะ (ในพม่า) ทับซ้อนกับอำนาจปกครองเดิมของลัทธิฤๅษี แต่ก็มีบทบาทน้อยถ้าเทียบกับการปกครองเดิมของฤๅษี[2]
ศาสนิกชน
[แก้]การที่จะเข้าสู่การเป็นศิษย์หรือสมาชิกลัทธิฤๅษีมีทั้งโดยกำเนิดตามบุพการี การสมรส การบวชในสำนักฤๅษี และการอพยพเข้าในหมู่บ้าน[2] ซึ่งเป็นไปตามความสะดวกใจและสมัครใจ ไม่มีการบังคับให้นับถือ[18] การนับถือจะต้องมีพิธีกรรมชำระล้างร่างกายและนำของไปถวายฤๅษี ได้แก่ มีด 3 เล่ม ขวาน 1 เล่ม เสื่อ 1 ผืน หมอน 1 ใบ มะพร้าว 1 ลูก กล้วย 3 หวี ขนม ข้าวต้ม และเทียนขี้ผึ้งบริสุทธิ์ 1 กิโลกรัม เมื่อทำพิธีปวารณาตนเป็นศิษย์แล้ว ก็จะต้องอยู่ภายในสำนักเป็นเวลาสามปี ห้ามไปข้องเกี่ยวกับกิจการใด ๆ ในหมู่บ้าน แต่สามารถออกเที่ยวตามป่าได้ รับประทานได้เพียงสัตว์เล็กสองเท้า เช่น นกและไก่ป่า และจะไม่บริโภคสัตว์ใหญ่สี่เท้าเด็ดขาด[19] ชาวกะเหรี่ยงที่นับถือลัทธิฤๅษีมีกฎระเบียบมากมาย เป็นต้นว่า ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ที่ตนเองเลี้ยงไว้ เช่น เป็ด ไก่ หมู วัว ควาย ห้ามดื่มสุราของมึนเมา ห้ามเล่นการพนัน ห้ามแต่งงานโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากบิดามารดา ห้ามลักขโมย ผู้ชายและผู้หญิงจะตัดผมเป็นทรงไม่ได้ยกเว้นโกนหรือปล่อยยาว โดยมุ่นมวยเป็นจุกไว้กลางกระหม่อม และห้ามสตรีเดินผ่าเรือนเก็บงาช้าง หากศาสนิกชนลัทธิฤๅษีฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษ แบ่งเป็น ครั้งที่ 1 ตักเตือน ครั้งที่ 2 จับโกนผม แห่ประจาน และลงโบย และครั้งที่ 3 ขับจากการเป็นสมาชิกและไล่ออกจากหมู่บ้าน[20] วินัย ก้องชนะไพร หรือ หล่าเซ่อ ชาวกะเหรี่ยงบ้านเลตองคุ อธิบายถึงชุมชนตนเองว่า "หมู่บ้านเรานับถือฤๅษี ผู้ชายจะมีหัวจุก การแต่งกายก็ไม่เหมือนที่อื่น ต้องใส่เสื้อแขนยาวผ่าอก ไม่ใส่กางเกงใน เสื้อชั้นใน การอยู่การกินก็แตกต่าง เราไม่กินสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะหมูหรือไก่ แต่กินสัตว์ที่ล่า และต้องเป็นสัตว์เล็กอย่างกระรอก ไก่ป่า..."[21] พวกเขาถือศีลห้าของศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด[6] รวมทั้งไม่บริโภคสัตว์ป่าสงวน คือ สมเสร็จ นกเงือก ชะนี เลียงผา งูเหลือม นกแซงแซว และเก้งหม้อ[5] หากใครไม่สามารถปฏิบัติตนตามความเชื่อของลัทธิ ก็สามารถพิจารณาตนเองออกจากลัทธิได้[18]
อัตลักษณ์เด่นของผู้นับถือลัทธิฤๅษี คือ การไว้ผม ผู้ชายจะเริ่มไว้ผมยาวโดยไม่ตัดเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม บำรุงเส้นผมด้วยน้ำมันมะพร้าว เมื่อผมยาวพอก็จะมุ่นมวยไว้กลางกระหม่อม อาจประดับด้วยดอกไม้หรือใบไม้ ใช้ผ้าโพกหรือพันให้มีสีสันสวยงาม[22] ขณะที่ผู้หญิงจะมุ่นมวยผมไว้ตรงท้ายทอย[23] ส่วนการแต่งกายทั่วไปของเพศชายจะใส่โสร่งสีเขียวหรือน้ำเงิน (บ้านเลตองคุ) และสีแดง (บ้านมอทะ–หม่องกั๊วะ) สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวผ่าอกไม่มีลวดลาย ปัจจุบันนิยมสีขาว น้ำเงิน และฟ้า แต่หากจะไปทำบุญต้องสวมชุดคลุมสีขาวแถบแดงหรือบานเย็น และโพกศีรษะด้วยผ้า[24] การแต่งกายของชาวพรหมจรรย์จะสวมเสื้อ เชกอพะทอ สำหรับประกอบพิธีกรรมฤๅษี[25] และการแต่งกายของเพศหญิง หญิงโสดและหญิงพรหมจรรย์จะสวมผ้าคลุมสีขาว เรียกว่า เชวา สื่อถึงความบริสุทธิ์และพรหมจรรย์ หากแต่งงานแล้วจะสวมเสื้อสีดำหรือน้ำเงิน เรียกว่า เชซู สื่อความพร้อมที่จะทนทุกข์เพื่อลูกและสามี ส่วนซิ่นสีแดงเรียกว่า หนี่[25] และหญิงสูงอายุจะสวมเสื้อแขนสั้นและผ้าถุงสีแดงเลือดนก[23]
สำรับอาหารของชาวกะเหรี่ยงฤๅษีเป็นแบบมังสวิรัติอันเป็นผลิตผลที่ได้จากการเพาะปลูกในครัวเรือน ได้แก่ ข้าวและถั่วบด ส่วนของหวานง่าย ๆ อย่างเช่น น้ำตาลอ้อย[26] นอกจากเนื้อสัตว์แล้ว ยังมีพืชบางชนิดที่ไม่สามารถกินได้ เช่น ผักกูด ผักหนาม หน่อหวาย และปลีกล้วย เป็นต้น[18]
จากข้อมูลใน พ.ศ. 2556 ระบุว่าอำเภออุ้มผางมีชุมชนที่นับถือลัทธิฤๅษีจำนวน 8 หมู่บ้าน คือ[14]
- บ้านเลตองคุ
- บ้านมอตาลัว
- บ้านโกบอทะ
- บ้านทิบาเก
- บ้านข่องแปะ
- บ้านแม่จันทะเก่า
- บ้านพอกะทะ
- บ้านกุยเคลอะ
พ.ศ. 2548 ประชากรชาวกะเหรี่ยงที่บ้านกุยต๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ระบุตัวตนว่านับถือศาสนาพุทธและฤๅษี เพราะมีบรรพบุรุษอพยพมาจากบ้านเลตองคุ[27]
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รายงานว่า ใน พ.ศ. 2564 เหลือชาวกะเหรี่ยงเพียง 7 หมู่บ้านที่ยังนับถือลัทธิฤๅษี[5] ส่วนภาสกร ภูแต้มนิล (2549) รายงานว่ามีผู้นับถือลัทธิฤๅษีในประเทศพม่า 26 หมู่บ้าน[2] ประชากรกะเหรี่ยงที่นับถือลัทธิฤๅษีกำลังลดจำนวนลง เพราะชาวกะเหรี่ยงรอบ ๆ เลตองคุจำนวนมากเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์กันมากขึ้น[8][9] รวมทั้งเกิดความแตกแยกในกลุ่มผู้ที่นับถือลัทธิฤๅษีเอง บางบ้านตั้งฤๅษีประจำชุมชนของตนเอง เพราะบ้านเลตองคุอยู่ไกลยากต่อการเดินทาง หรือบ้างก็เชื่อว่าฤๅษีสิ้นสุดลงตั้งแต่ตนที่ 7 เพราะฤๅษีตนที่ 8 ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม เช่น บ้านแม่จันทะเก่า มีผู้อ้างตนเป็นฤๅษีที่ 2 กลับชาติมาเกิด บ้านมอทะ มีคนตั้งตนเป็นกษัตริย์แทนเพราะเชื่อว่าฤๅษีสูญสิ้นแล้ว และบ้านกุยด๊ะ มีการตั้งตนเป็นฤๅษีตนใหม่[2] ส่วนบ้านมอตาลัว ไกบอทะ และซอแมะ เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธหรือคริสต์[2]
สถานที่สำคัญทางศาสนา
[แก้]สำนักฤๅษี
[แก้]สำนักฤๅษี (บุ๊ หรือ ตาม่าบุ๊ล่อ) เป็นที่อยู่ของฤๅษี ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นจุดที่สามารถสื่อสารกับเทวดาบนฟ้า บนดิน และใต้ดินได้[28] ภายในศาลาฤๅษีของบ้านเลตองคุ ประดิษฐานสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ 7 อย่าง อยู่ภายใน ได้แก่ 1. สถานที่เกิด (ตะละเอหมุ) เป็นเสาไม้ประดับเครื่องจักสานล้อมรอบด้วยหิน เชื่อว่าสถานที่นี้เป็นวันแรกของโลกคือวันอาทิตย์ 2. บ้านบริสุทธิ์ (บุ๊) เป็นที่พำนักของฤๅษี ภายในมีแผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมเป็นตัวแทนของเก่อจาเม 3. หลักธรรม (ตะแล) ไม้ไผ่ประดับเครื่องจักสาน ฤๅษีประดิษฐ์เอง 4 ต้น และนักบวช ประดิษฐ์เองอีก 3 ต้น 4. เสารัตนตรัย (จ๊ะโทซ่อง) 5. งานช้างแกะสลักรูปพระพุทธเจ้า (รูเจ๊ะ) 6. พระไตรปิฎก (ตะละโป๊ะ) 7. สะพานไม้ (ตู) ทำจากไม้ยาวสองต้น เสมือนทางเชื่อมแผ่นดินกับท้องฟ้า และสวรรค์กับนรก[2] โดยเฉพาะงาช้างแกะสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางสมาธิโดยรอบตั้งแต่โคนถึงปลายงา ซึ่งอ้างว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี[29] ถือเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านจะใช้ในการทำบุญหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา[28]
ศาลาเจ้าวัด
[แก้]ศาลาเจ้าวัด เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมทางศาสนาในหมู่บ้านที่ไม่มีฤๅษีพำนักอยู่ โดยมี บูโคะ (เจ้าวัด) ซึ่งผู้นำชุมชนและผู้นำการประกอบศาสนกิจ ซึ่งเจ้าวัดเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียน มากราบไหว้บูชาทุกวันพระ ซ่งเป็นวัดที่ศาสนิกชนฤๅษีทุกคนจะหยุดงานทั้งหมดเพื่อประกอบศาสนกิจสวดมนต์กันที่ศาลาและเจดีย์[30]
พิธีกรรมและวันสำคัญ
[แก้]เทศกาล
[แก้]พะชาลอ เป็นประเพณีทำบุญข้าวเปลือก กระทำในเดือนเมษายนของทุกปี[2]
ประเพณีจุดไฟบูชาฤๅษี เป็นประเพณีที่ระลึกถึงพืออิสีโจ่วยุ ฤๅษีตนที่ 2 ผู้สละชีพกระโจนเข้ากองไฟ กระทำในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี[31]
พิธีทำบุญโพ่โดกุ๊ กระทำพิธีลอยแพปอเดอกูเพื่อบูชาเทพีโพ่โดกุ๊ คล้ายกับประเพณีลอยกระทงเพื่อบูชาพระแม่คงคาของไทย[2]
พิธีบวชในลัทธิฤๅษี ภาษากะเหรี่ยงเรียก ตะวาบุ มีข้อกำหนดว่าต้องเป็นชายอายุ 10 ปีขึ้นไป และได้รับการอนุญาตจากบิดามารดา ส่วนมากเป็นชาวกะเหรี่ยงจากฝั่งประเทศพม่า[2]
พิธีเข้าฤๅษีใหม่ ภาษากะเหรี่ยงเรียก ออตะแลเนอ จะกระทำเมื่อมีผู้กระทำผิด หรือออกไปทำงานอยู่ต่างถิ่นเกิน 15 วัน ศาสนิกชนจะกระทำพิธีกรรมนี้ได้ไม่เกินสามครั้ง[2]
การทำบุญไหว้เจดีย์ ภาษากะเหรี่ยงเรียก บาโค หรือ มาบุ๊โคะ เป็นการทำบุญให้กับธรรมชาติ จะจัดขึ้นในวันขึ้น 8 ค่ำ ถึง 14 ค่ำของเดือนมีนาคมทุกปีปฏิทิน ซึ่งตรงกับเดือนเมษายนของฤๅษี คนในหมู่บ้านจะต้องมีส่วนร่วมในการประกอบพิธีกรรม โดยมีเจดีย์อยู่สามรูปแบบ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลกในขณะนั้น ได้แก่[11]
- เจดีย์ทราย หรือ โคะแหม่ สร้างขึ้นเพื่อบูชาหากมีคนตาย สัตว์ตาย มีสิ่งไม่ดีในหมู่บ้าน หรือโรคระบาด
- เจดีย์ดิน หรือ โคะเหอะโคะ สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนบนโลกให้พ้นจากความกลัวสามประการ คือ กลัวป่วย กลัวอด และกลัวโดนปล้น (หรือ กลัวสงคราม) เพราะเชื่อว่าดินเป็นดังพ่อแม่ที่จะเปลี่ยนร้ายให้เป็นดี
- เจดีย์ข้าว หรือ โคะบึ สร้างในยุคข้าวยากหมากแพง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือผลิตผลไม่เพียงพอต่อการบริโภค
วันสำคัญ
[แก้]วันสงกรานต์ ภาษากะเหรี่ยงเรียก อัตตารอ ชาวบ้านจะรวมตัวกันที่สำนักฤๅษี พร้อมกับนำอาหารมังสวิรัติและขนมหวานเทินศีรษะไปถวายฤๅษีและสามเณร จะมีการรดสรงน้ำฤๅษีที่รางน้ำไม้ไผ่ หลังจากนั้นก็จะรดน้ำดำหัวขอพรกันตามธรรมเนียม[32]
วันพระพุทธเจ้า หรือ วันพระ ภาษากะเหรี่ยงเรียก ลาเผาะ เป็นวันที่ชาวกะเหรี่ยงถือศีลห้า และกำหนดให้วันหนึ่งในสัปดาห์เป็นวันหยุดคือวันพระ เพื่อให้ผู้คนในชุมชนรวมตัวกันเพื่อกราบไหว้พระและบูชาพระเจดีย์ โดยมีตำนานผูกกับพุทธประวัติว่า มีหัวหน้ากะเหรี่ยงออกล่าสัตว์แล้วพบกับพระพุทธเจ้าและสาวก พระพุทธเจ้าขอบิณฑบาตอาหารจากเขา เขาซึ่งมีเพียงข้าวห่อเดียวก็ถวายให้พระพุทธเจ้าอย่างไม่เต็มใจนัก แต่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าสามารถแบ่งข้าวห่อเดียวให้เพียงพอต่อสาวกทั้ง 500 คน รวมทั้งหัวหน้ากะเหรี่ยงและหมาล่าเนื้อของเขาด้วย หัวหน้ากะเหรี่ยงจึงรู้สึกศรัทธาจึงขอรับการอบรมและรับศีล พระพุทธเจ้าจึงให้ชื่อแก่หัวหน้ากะเหรี่ยงคนนั้นว่า ย่อแฮ แปลว่า ผู้ได้รับความดีงามแล้ว[10]
วันเข้าพรรษา ภาษากะเหรี่ยงเรียก ตะกึนึ จัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี[2]
วันออกพรรษา ภาษากะเหรี่ยงเรียก ตะกึเปาะ จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สุขเกษม ขุนทอง (29 มีนาคม 2561). ศึกษาโครงสร้างความสัมพันธ์ของระบบสังคมในพิธีจุดไฟบูชาฤๅษี ชุมชนกะเหรี่ยง (โปว์และสกอว์) ลัทธิฤๅษี ผ่าน "ตำนาน" บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 1092.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 2.19 2.20 2.21 2.22 2.23 2.24 2.25 2.26 2.27 2.28 ภาสกร ภูแต้มนิล (2549). "กระบวนการปรับตัวของพลังอำนาจกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงลัทธิฤๅษีบริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่า". ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ""เลตองคุ" หมู่บ้านชายขอบสุดเขตแดนสยาม ในวิกฤติโควิดก็ยังไม่ถูกลืม". ไทยรัฐออนไลน์. 1 กันยายน 2564. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ฤๅษีก็ไม่รอด จนท.ลุยพื้นที่สุดโหด เข้าบ้านเลตองคุ หลังมีรายงาน "ฤๅษีติดโควิด"". มติชนออนไลน์. 8 สิงหาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย งานวิจัยและความท้าทาย. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.). 28 เมษายน 2564. p. 57.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 สุขเกษม ขุนทอง (29 มีนาคม 2561). ศึกษาโครงสร้างความสัมพันธ์ของระบบสังคมในพิธีจุดไฟบูชาฤๅษี ชุมชนกะเหรี่ยง (โปว์และสกอว์) ลัทธิฤๅษี ผ่าน "ตำนาน" บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 1095.
- ↑ ขวัญชีวัน บัวแดง (5 กันยายน 2555). "ศาสนาและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ศึกษากรณีกลุ่มชนกะเหรี่ยง ในประเทศไทย และประเทศพม่า". ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 8.0 8.1 CitizenThaiPBS (5 มีนาคม 2557). "นักข่าวพลเมือง ตอน พิธีฤๅษี เลตองคุ". ยูทูบ. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 9.0 9.1 9.2 สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (มกราคม–มิถุนายน 2561). รูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอฤๅษีคนต้นทะเล บ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก. วารสารวิจิตรศิลป์ (9:1). p. 222.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 สุขเกษม ขุนทอง (29 มีนาคม 2561). ศึกษาโครงสร้างความสัมพันธ์ของระบบสังคมในพิธีจุดไฟบูชาฤๅษี ชุมชนกะเหรี่ยง (โปว์และสกอว์) ลัทธิฤๅษี ผ่าน "ตำนาน" บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 1093.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 สุขเกษม ขุนทอง (29 มีนาคม 2561). ศึกษาโครงสร้างความสัมพันธ์ของระบบสังคมในพิธีจุดไฟบูชาฤๅษี ชุมชนกะเหรี่ยง (โปว์และสกอว์) ลัทธิฤๅษี ผ่าน "ตำนาน" บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 1094.
- ↑ สุขเกษม ขุนทอง (22 ธันวาคม 2560). รูปแบบการพึ่งตนเองของชุมชนบนฐานประวัติศาสตร์วิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง (โปว์และสะกอว์) ลัทธิฤๅษี นิกายตะละกู่ บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 98.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 13.3 สุขเกษม ขุนทอง (22 ธันวาคม 2560). รูปแบบการพึ่งตนเองของชุมชนบนฐานประวัติศาสตร์วิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง (โปว์และสะกอว์) ลัทธิฤๅษี นิกายตะละกู่ บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 99.
- ↑ 14.0 14.1 14.2 วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 18.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 สุขเกษม ขุนทอง (22 ธันวาคม 2560). รูปแบบการพึ่งตนเองของชุมชนบนฐานประวัติศาสตร์วิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง (โปว์และสะกอว์) ลัทธิฤๅษี นิกายตะละกู่ บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 100.
- ↑ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (มกราคม–มิถุนายน 2561). รูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอฤๅษีคนต้นทะเล บ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก. วารสารวิจิตรศิลป์ (9:1). p. 224.
- ↑ "หมู่บ้านฤๅษีกะเหรี่ยงเลตองคุ จังหวัดตาก". เทศบาลตำบลแม่จัน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-03. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (มกราคม–มิถุนายน 2561). รูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอฤๅษีคนต้นทะเล บ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก. วารสารวิจิตรศิลป์ (9:1). p. 202.
- ↑ วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 45.
- ↑ วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 16.
- ↑ ชุติมา ซุ้นเจริญ (11 เมษายน 2562). "'กะเหรี่ยงฤๅษี 4.0' ไอซีทีเพื่อชุมชนชายขอบ". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 17.
- ↑ 23.0 23.1 วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 25.
- ↑ วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 24.
- ↑ 25.0 25.1 สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (มกราคม–มิถุนายน 2561). รูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอฤๅษีคนต้นทะเล บ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก. วารสารวิจิตรศิลป์ (9:1). p. 230.
- ↑ "เลตองคุ ตอน หมู่บ้านสุดชายแดน". คมชัดลึก. 31 มีนาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "กุยต๊ะ เรื่องเล่าจากขุนเขา". ประชาไท. 24 เมษายน 2548. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 28.0 28.1 สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (มกราคม–มิถุนายน 2561). รูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอฤๅษีคนต้นทะเล บ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก. วารสารวิจิตรศิลป์ (9:1). p. 230.
- ↑ "ไล่ล่ามือโจรกรรมงาช้างเก่าแก่ สิ่งสำคัญคู่หมู่บ้านกะเหรี่ยงฤๅษีเลตองคุ". ไทยรัฐออนไลน์. 9 มิถุนายน 2560. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สรวัช หนูพินิตร์ และคณะ (มิถุนายน 2563). โครงการการจัดการขอบเขตที่ทำกินชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกอย่างมีส่วนร่วม. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.). p. 20.
- ↑ วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 39.
- ↑ วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 40.