Location via proxy:   [ UP ]  
[Report a bug]   [Manage cookies]                
ข้ามไปเนื้อหา

ตั๋งโต๊ะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ต่ง จั๋ว (มาตรฐาน)
ตั๋งโต๊ะ (ฮกเกี้ยน)
董卓
ภาพวาดสมัยราชวงศ์ชิงของตั๋งโต๊ะ
มหาราชครู (太師)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 189 – 192
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐ (相國)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 189
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
แม่ทัพหน้า (前將軍)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 188 – 189
กษัตริย์พระเจ้าเลนเต้
หองจูเปียน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดอำเภอหลินเถา เมืองหลงเส
(ปัจจุบันคืออำเภอหมิน มณฑลกานซู่)
เสียชีวิตเมืองเตียงฮัน
(ปัจจุบันคือเมืองซีอาน มณฑลฉ่านซี)
บุตรภรรยาของงิวฮู
บุตรชายอย่างน้อย 2 คน
บุพการี
  • ต่ง จวินยา (บิดา)
  • ท่านหญิงฉือหยาง (มารดา)

ตั๋งโต๊ะ (เสียชีวิต 22 พฤษภาคม ค.ศ. 192)[1] มีชื่อในสำเนียงจีนกลางว่า ต่ง จั๋ว (จีน: 董卓; พินอิน: Dǒng Zhuó) ชื่อรองว่า จ้งอิ่ง (仲穎) เป็นข้าราชการชาวจีนสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ซึ่งยึดอำนาจในพระนครลกเอี๋ยง (洛阳 ลั่วหยาง) ใน ค.ศ. 189 ขณะที่เกิดจลาจลหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเลนเต้ (漢靈帝 ฮั่นหลิงตี้) และการปะทะกันระหว่างกลุ่มขันทีที่นำโดยเตียวเหยียง (張讓 จาง ร่าง) กับกลุ่มข้าราชการที่นำโดยขุนพลโฮจิ๋น (何進 เหอ จิ้น) ภายหลังได้อำนาจแล้ว ตั๋งโต๊ะถอดหองจูเปียน (劉辯 หลิว เปี้ยน) ออกจากราชสมบัติ แล้วตั้งหองจูเหียบ (劉協 หลิว เสีย) พระอนุชาขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน

ตั๋งโต๊ะเถลิงอำนาจในราชสำนักฮั่น และปกครองบ้านเมืองอย่างอำมหิตโหดร้าย ใน ค.ศ. 190 กลุ่มข้าราชการจากภูมิภาครวมกำลังกันมาปราบปราม บีบให้ตั๋งโต๊ะต้องย้ายพระนครจากลกเอี๋ยงไปยังเตียงฮัน (長安 ฉางอาน) ครั้น ค.ศ. 192 ข้าราชการผู้ใหญ่ชื่อ อ้องอุ้น (王允 หวัง ยฺหวิ่น) ลวงให้บุตรบุญธรรมของตั๋งโต๊ะคือ ลิโป้ (呂布 ลฺหวี่ ปู้) ลอบสังหารตั๋งโต๊ะเป็นผลสำเร็จ

ประวัติ

[แก้]

ต้นชีวิต

[แก้]

ตั๋งโต๊ะเกิดที่อำเภอหลินเถา (臨洮) เมืองหลงเส (隴西 หลงซี) ปัจจุบัน คือ อำเภอหมิน (岷縣) มณฑลกานซู่ (甘肅省) ในวัยเยาว์ เลื่องชื่อเรื่องมีฝีมือยิงธนูบนหลังม้า ได้ออกเร่ไปรอบภูมิภาคเกี๋ยง (羌 เชียง) และได้ผูกมิตรกับผู้กล้าหลายคน ครั้นเติบใหญ่ กลับบ้านเกิดไปทำนาในชนบท ขุดได้ดาบซึ่งจารึกว่า "จั๋วหวังหรูมู่" (斫王如木; "ฟันกษัตริย์ดั่งตัดฟืน") จึงเอาไปให้บัณฑิตซัวหยง (蔡邕 ไช่ ยง) ประเมินค่า ซัวหยงบอกว่าเป็นดาบของฌ้อปาอ๋อง หรือห้างอี๋ (項羽 เซี่ยง อฺวี่)[2]

ต่อมาตั๋งโต๊ะเข้ารับราชการทหาร ได้ร่วมทัพของจาง ฮ่วน (張奐) ในการปราบกบฏชาวเกี๋ยง ณ มณฑลเป๊งจิ๋ว (并州 ปิ้งโจว) เมื่อได้ชัยชนะ จึงได้รางวัลเป็นผ้าไหม 9,000 ม้วน เขาเอาไปแจกจ่ายแก่เพื่อนร่วมทัพและผู้ใต้บัญชา

ตั๋งโต๊ะได้เลื่อนตำแหน่งหลายครั้ง ครั้นต้นคริสต์ทศวรรษ 180 เกิดกบฏโพกผ้าเหลือง ราชการให้ตั๋งโต๊ะไปปราบปราม แต่ไม่สำเร็จ ตั๋งโต๊ะจึงถูกลดยศ ภายหลังกบฏมณฑลเหลียง (涼州) มีการเลื่อนยศให้ตั๋งโต๊ะ และส่งเขาไปปราบกบฏ แต่ทหารของเขาน้อยนัก จึงมิอาจเอาชนะได้ กระนั้น ทหารของตั๋งโต๊ะก็เป็นกองเดียวที่ไม่ได้รับความเสียหาย เพราะสติปัญญาของตั๋งโต๊ะที่ให้ทดน้ำมากั้นการไล่ล่าของข้าศึก

ชีวิตราชการทำให้ตั๋งโต๊ะเล็งเห็นความเสื่อมโทรมของราชวงศ์ฮั่น จึงคิดการใหญ่และตั้งหน้าตั้งหน้าซ่องสุมกำลังอำนาจไว้ที่มณฑลเหลียง นายทหารผู้หนึ่งชื่อ ซุนเกี๋ยน (孫堅 ซุน เจียน) รู้ระคายถึงความกำเริบเสิบสานของตั๋งโต๊ะ จึงรายงานผู้บังคับบัญชาให้รีบจัดการตั๋งโต๊ะ แต่ไม่มีใครสนใจรายงานของซุนเกี๋ยน

การเข้าสู่อำนาจ

[แก้]
ภาพวาดสมัยราชวงศ์ชิงแสดงตั๋งโต๊ะเรียกประชุมเพื่อปลดหองจูเปียนออกจากราชสมบัติ

ใน ค.ศ. 189 พระเจ้าเลนเต้สิ้นพระชนม์ พระโอรสคือหองจูเปียนเสวยราชย์ต่อ ขุนพลโฮจิ๋นสั่งให้ตั๋งโต๊ะนำกำลังจากภูมิภาคเข้าพระนครลกเอี๋ยง เพื่อช่วยปราบปรามกลุ่มขันทีที่ทรงอิทธิพลอยู่ในราชสำนัก แต่ก่อนตั๋งโต๊ะจะมาถึง กลุ่มขันทีได้สังหารโฮจิ๋นและปะทะกับกลุ่มข้าราชการจนเกิดจลาจลในพระราชวัง ขันทีจำนวนหนึ่งจับหองจูเปียน จักรพรรดิเป็นองค์ประกัน แล้วหนีออกจากพระนคร ระหว่างทาง ไปพบกองทหารของตั๋งโต๊ะเข้า จักรพรรดิจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของตั๋งโต๊ะ และตั๋งโต๊ะนำพาพระองค์กลับคืนพระนคร ส่วนกองกำลังของโฮจิ๋นที่ไร้นายก็เข้ากับตั๋งโต๊ะ

จดหมายเหตุสามก๊ก หรือ ซันกั๋วจื้อ (三國志; "บันทึกสามแผ่นดิน") ระบุว่า ตั๋งโต๊ะนำกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ในพระนคร โดยให้เข่นฆ่าชายชาวเมืองทุกคน และยึดทรัพย์สินราษฎร อ้างว่า เพื่อปราบปรามกบฏให้สิ้นซาก ครั้นควบคุมพระนครได้แล้ว ตั๋งโต๊ะต้องการถอดหองจูเปียนออกจากราชสมบัติ และตั้งพระอนุชาคือหองจูเหียบขึ้นแทน แต่เต๊งหงวน (丁原 ติง ยฺเหวียน) ผู้บัญชาการทหารรักษาพระนคร ไม่เห็นด้วย ตั๋งโต๊ะจึงยุแยงให้ลิโป้ บุตรบุญธรรมของเต๊งหงวนสังหารเต๊งหงวนเสีย แล้วรับลิโป้เป็นบุตรบุญธรรมของตน ทั้งให้ลิโป้บัญชาทหารรักษาพระนครแทน

เมื่อไร้ผู้คัดค้าน ใน ค.ศ. 190 ตั๋งโต๊ะจึงถอดหองจูเปียนออกจากราชสมบัติ แล้วตั้งหองจูเหียบขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน ก่อนประกาศตัวเป็นอัครมหาเสนาบดี บัญชาราชการทั่วแว่นแคว้น บีบให้มีพระราชานุญาตให้ตนพกกระบี่เข้าพระราชฐาน และให้เข้าเฝ้าโดยไม่ต้องถอดรองเท้า ซึ่งไม่มีข้าราชการคนใดกระทำได้นับแต่อัครมหาเสนาบดีเสียวโห (蕭何 เซียว เหอ) ในรัชสมัยฮั่นโกโจ (漢高祖 ฮั่นเกาจู่) เป็นต้นมา

บันทึกยังระบุว่า ตั๋งโต๊ะมักเข้ามานอนในที่พระบรรทม และหลับนอนกับนางสนมกำนัล

การต่อต้าน

[แก้]

ใน ค.ศ. 190 นั้นเอง ข้าราชการภูมิภาคทั่วแว่นแคว้นรวมกำลังกันต่อต้านตั๋งโต๊ะ เมื่อทราบว่า ทัพภูมิภาคนั้นมีอ้วนเสี้ยว (袁紹ยฺเหวียน เช่า) เป็นผู้นำ ตั๋งโต๊ะก็ให้จับครอบครัวของอ้วนเสี้ยวในพระนครลกเอี๋ยงมาตัดศีรษะเสียสิ้น เพื่อข่มขวัญอ้วนเสี้ยว แล้วให้ฮัวหยง (華雄 ฮฺว่า สฺยง) และโฮจิ้น (胡軫 หู เจิ่น) นำทัพออกไปขัดขวางกองหน้าของทัพภูมิภาคซึ่งมีซุนเกี๋ยน เป็นผู้นำ ตั๋งโต๊ะยังให้งิวฮู (牛輔 หนิว ฝู่) ผู้เป็นบุตรเขย ไปตระเตรียมค่ายคูประตูหอรบที่อำเภอเหมย์ (眉縣) งิวฮูสะสมเสบียงไว้ ณ หอรบ สามารถใช้ได้ถึง 30 ปี

แต่ทหารของตั๋งโต๊ะไม่อาจเอาชัยเหนือฝ่ายต่อต้านได้ ตั๋งโต๊ะจึงส่งลิฉุย (李傕 หลี่ เจว๋) ไปเกลี้ยกล่อมให้ซุนเกี๋ยนเลิกทัพ โดยตั๋งโต๊ะตกลงจะยกบุตรสาวของตัวให้สมรสกับบุตรชายของซุนเกี๋ยน ทั้งจะแบ่งบ้านเมืองให้ซุนเกี๋ยน ปกครองกึ่งหนึ่ง ซุนเกี๋ยนบอกปัดและมุ่งหน้านำทัพเข้าปราบตั๋งโต๊ะ ยังนครลกเอี๋ยงต่อไป ตั๋งโต๊ะจึงเตรียมย้ายเมืองหลวงไปยังเตียงฮัน ก่อนย้าย ตั๋งโต๊ะส่งทหารไปขุดทรัพย์จากสุสานราชวงศ์ฮั่น ปล้นเศรษฐีคหบดี และเผาอาคารบ้านเรือนในลกเอี๋ยงเสียสิ้น เพื่อไม่หลงเหลือสิ่งใดไว้เป็นประโยชน์แก่ทัพภูมิภาค

ครั้นแล้ว ตั๋งโต๊ะคอยซุ่มโจมตีทัพภูมิภาคอยู่ในลกเอี๋ยง พอทัพของซุนเกี๋ยนมาถึงสุสานหลวงในลกเอี๋ยง ก็เผชิญกับกองซุ่ม แต่สามารถสู้รบจนตั๋งโต๊ะพ่ายหนีไป[3] ตั๋งโต๊ะจึงให้ลิโป้ บุตรบุญธรรม นำทัพกลับไปปราบซุนเกี๋ยน แต่ซุนเกี๋ยน ก็เอาชนะลิโป้ได้อีก[4]

เมื่อยึดลกเอี๋ยงได้แล้ว ทัพผสมจากภูมิภาคพบว่า พระนครโดนเผาเป็นเถ้า จึงล่าถอยไปรอที ตั๋งโต๊ะส่งลิฉุย กุยกี (郭汜 กัว ซื่อ) และเตียวเจ (張濟 จาง จี้) ไปปราบทัพภูมิภาค ขณะนั้น ทัพภูมิภาคกำลังแตกคอและไม่เป็นใจสู้รบ จูฮี (朱儁 จู จวิ้น) ขุนศึกซึ่งเข้าร่วมทัพภูมิภาค จึงร้องขอให้โตเกี๋ยม (陶謙 เถา เชียน) เกลอเก่า มาช่วยรบ[5] โตเกี๋ยมส่งพล 3,000 นายมาช่วยจูฮี ที่อำเภอจงมู่ (中牟縣) แต่ไม่อาจเอาชนะทัพตั๋งโต๊ะได้ ก็พากันแตกหนีไป เมื่อมีชัยแล้ว ทัพตั๋งโต๊ะออกปล้นสะดมในท้องที่ตันลิว (陳留鎮 เฉินหลิว) และเองฉวน (潁川 อิ่งชวน) ราษฎรจำนวนมากถูกปล้นและเอาตัวลงเป็นทาส[6]

เซี่ยนตี้จี้ (獻帝紀; "พงศาวดารพระเจ้าเหี้ยนเต้") ระบุว่า ตั๋งโต๊ะให้ทรมานทหารที่จับได้จากทัพผสม โดยให้เอาผ้าชุบไขมันมาพันทั่วตัว แล้วจุดไฟขึ้นไปจากเท้า ตั๋งโต๊ะชมดูเสียงกรีดร้องและสีหน้าของพวกเขาอย่างสุขใจ โดยเฉพาะในยามที่ให้แก้ผ้าติดไฟซึ่งพันรอบศีรษะทหารออก แต่บรรดาข้าราชการที่ต่ง จั๋ว สั่งให้เข้าร่วมชมด้วยนั้น ไม่บันเทิงใจไปด้วย[7]

การปกครองอย่างโหดร้าย

[แก้]

เมื่อย้ายพระนครมายังเตียงฮัน ได้สองเดือน ตั๋งโต๊ะเห็นว่าไม่มีผู้ใดจะปราบปรามตนได้แล้ว ก็ตั้งตำแหน่งราชครู (太師 ไท่ชือ) ให้แก่ตนเอง อันเป็นตำแหน่งโบราณที่อองมัง (王莽 หวัง หมั่ง) ให้นำกลับมาใช้หลังจากยึดอำนาจจากราชสกุลเล่า (劉 หลิว) แห่งราชวงศ์ฮั่นได้ แต่พอสกุลเล่าคืนอำนาจ ก็ให้เลิกใช้ไป นอกจากนี้ ตั๋งโต๊ะตั้งตั๋งบุ่น (董旻 ต่ง หมิน) น้องชาย เป็นทหารฝ่ายซ้ายประจำตัว และตั้งยศถาบรรดาศักดิ์ให้ญาติพี่น้องถ้วนหน้า เพื่อรวบอำนาจในราชสำนัก

ตั๋งโต๊ะยังให้เลี้ยงโต๊ะใหญ่โตเนือง ๆ ระหว่างเลี้ยงก็ให้เอานักโทษมาทรมานเล่นเป็นการรื่นเริง เช่น ให้ตัดแขนตัดขาควักลูกตานักโทษออกมาดูเล่น โดยต้องตัดลิ้นออกก่อน จะได้ไม่ส่งเสียงน่ารำคาญระหว่างถูกทรมาน แต่ทำทั้งนี้ต้องอย่าให้ตาย เพื่อจะได้โยนลงกระทะน้ำมันเดือดต่อไป พอสุกแล้วยกขึ้นม้วนเป็นก้อนไว้กลางงานให้แขกเหรื่อชมดู แขกทั้งหลายกระอักกระอ่วนใจในภาพน่าสังเวชที่ปรากฏเบื้องหน้า มีเพียงตั๋งโต๊ะที่ชื่นชมยินดี[8] ในสองปีนับแต่ตั๋งโต๊ะเถลิงอำนาจ ข้าราชการหลายพันคนถูกกล่าวหาเลื่อนลอยและถูกประหาร ส่วนพลเมืองจำนวนมากก็ถูกลักพาและเข่นฆ่า

ตั๋งโต๊ะให้สร้างคฤหาสน์ส่วนตัวในอำเภอเหมย์ (眉縣) หมายใจจะอาศัยอยู่ที่นั่นอย่างมีชีวิตยืนยาวกว่าพวกที่มาต่อต้านตน ตั๋งโต๊ะให้เอาเทวรูปและโบราณวัตถุ ซึ่งรวมถึง สิบสองคนทอง (十二金人) ที่จิ๋นซีฮ่องเต้ (秦始皇帝 ฉินฉื่อหฺวังตี้) ทรงสร้างไว้ มาหลอมเป็นเหรียญกษาปณ์ไว้ซื้อวัสดุสร้างคฤหาสน์ เมื่อเหรียญเถื่อนของตั๋งโต๊ะเข้าสู่ตลาด ก็ส่งผลให้เงินเฟ้ออย่างร้ายแรงและระบบการเงินล้มเหลว[9]

การโค่นล้ม

[แก้]

ตั๋งโต๊ะตระหนักดีว่า การกระทำของตนเป็นที่เคืองแค้นของหลายบุคคล และทำให้ตนมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกลอบสังหาร จึงให้ลิโป้ขุนศึกซึ่งตนรับเป็นบุตรบุญธรรมนั้น คอยประจำอยู่ข้างกายในฐานะองครักษ์ แต่ทุกครั้งที่ตั๋งโต๊ะกับลิโป้เกิดผิดใจกัน ตั๋งโต๊ะจะเอาทวนขว้างใส่ลิโป้ หลังจากนั้นตั๋งโต๊ะก็จะคลายความขุ่นเคืองลง ทว่าลิโป้นั้นผูกใจเจ็บเสมอมา นอกจากนี้ ลิโป้ยังลอบเป็นชู้กับสาวใช้ของตั๋งโต๊ะ และคอยหวาดระแวงว่าตั๋งโต๊ะจะรู้เข้าสักวัน

ใน ค.ศ. 192 ลิโป้ตกลงใจจะฆ่าตั๋งโต๊ะ เมื่อได้รับคำชักชวนจากเสนาบดีอ้องอุ้น ฉะนั้น เช้าวันหนึ่ง ลิโป้ให้ขุนศึกลิซก (李肅 หลี่ ซู่) นำกำลังเข้าดักรอตั๋งโต๊ะ ที่ประตูวัง เมื่อตั๋งโต๊ะเข้าวัง ลิโป้ก็พุ่งออกมาแทงตั๋งโต๊ะ เมื่อตั๋งโต๊ะเรียกให้ช่วย แทนที่ลิโป้จะช่วย กลับร้องว่า "เป็นราชโองการ" แล้วแทงตั๋งโต๊ะซ้ำจนขาดใจตาย พงศาวดารบันทึกว่า ต่อมา ศพของตั๋งโต๊ะถูกทิ้งไว้กลางถนนให้ผู้คนมาชมดู เจ้าพนักงานเอาไส้ตะเกียงเสียบไว้ตรงสะดือศพแล้วจุดเป็นแสงสว่างโดยใช้ไขมันจากความอ้วนของตั๋งโต๊ะเป็นเชื้อเพลิงได้หลายวัน[10] อนึ่ง มีพระราชกฤษฎีกาห้ามใครมาเก็บศพตั๋งโต๊ะไปทำพิธี มิฉะนั้น ต้องโทษประหาร มีคนสามคน รวมถึงซัวหยง พยายามมานำศพไปประกอบพิธีทางศาสนา จึงถูกประหาร ขณะเดียวกัน ญาติพี่น้องของตั๋งโต๊ะก็ถูกตัดหัวเสียบประจานทั้งโคตร ในจำนวนนี้รวมถึงมารดาวัย 90 ปีของเขา ผู้ร้องขอชีวิตว่า "โปรดงดฆ่าข้า" (乞脱我死)[11]

เมื่อสิ้นตั๋งโต๊ะแล้ว อ้องอุ้นก็ได้คุมราชการทั้งปวงแทน เหล่าผู้ภักดีต่อตั๋งโต๊ะ ซึ่งรวมถึงลิฉุย กุยกี เตียวเจ และหวนเตียว (樊稠 ฝาน โฉว) เกรงว่า ตนจะโดนหางเลขตามตั๋งโต๊ะไปด้วย จึงขอให้อ้องอุ้นออกกฎหมายนิรโทษกรรมพวกตน อ้องอุ้นกล่าวว่า "ในบรรดาผู้ควรอภัย คนพวกนี้ไม่ควรอภัย" จึงบอกปัดคำขอของพวกเขา บัณฑิตกาเซี่ยง (賈詡 เจี๋ย สฺวี่) แนะคนทั้งสี่ว่า เมื่อทางการไม่เห็นใจพวกเขาแล้ว ก็ควรเอาตัวรอดโดยยึดอำนาจเสีย คนทั้งสี่จึงรวบรวมกำลังมายึดพระนครเตียงฮัน อ้องอุ้นส่งซีเอ๋ง (徐榮 สฺวี หรง) กับโฮจิ้น (胡軫 หู เจิ่น) ไปปราบกบฏ ซีเอ๋งถูกฆ่า ส่วนโฮจิ้นเอาทหารไปเข้ากับกบฏ พากันมาล้อมนครเตียงฮัน สังหารอ้องอุ้น และยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จ สถาปนาการปกครองโดยเชิดจักรพรรดิต่อไป

ครอบครัว

[แก้]
  • บิดา: ต่ง จวินยา (董君雅) เสียชีวิต ค.ศ. 181
  • มารดา: นางต่ง (董氏) เกิดเมื่อ ค.ศ. 102 ตั๋งโต๊ะตั้งเป็น ท่านหญิงฉือหยาง (池陽君) ภายหลัง ถูกตัดหัวเสียบประจานใน ค.ศ. 192 เมื่อตั๋งโต๊ะถูกโค่นล้ม
  • น้องชาย: ตั๋งบุ่น (董旻 ต่ง หมิน) เมื่อตั๋งโต๊ะยึดอำนาจแล้ว ตั้งให้เป็นนายทหารฝ่ายซ้ายประจำตัว ภายหลัง ถูกตัดหัวเสียบประจานใน ค.ศ. 192 เมื่อตั๋งโต๊ะถูกโค่นล้ม
  • พี่ชาย: ต่ง จั๋ว (董擢 อักษรคนละอย่างกับ ต่ง จั๋ว 董卓) ถูกตัดหัวเสียบประจานใน ค.ศ. 192 เช่นกัน
  • หลานชาย:
    • ตั๋งห้อง (董璜 ต่ง หวง) บุตรของต่ง จั๋ว (董擢) ถูกตัดหัวเสียบประจานใน ค.ศ. 192 เช่นกัน
    • ต่ง โหม่ว (董某) เกิดเมื่อ ค.ศ. 186 ถูกตัดหัวเสียบประจานใน ค.ศ. 192 เช่นกัน
  • หลานสาว: ต่ง ไป๋ (董白) เกิดหลัง ค.ศ. 178 ตั๋งโต๊ะตั้งเป็น ท่านหญิงเว่ย์หยาง (渭陽君) เชื่อว่า ถูกตัดหัวเสียบประจานใน ค.ศ. 192 เช่นกัน
  • บุตรเขย: งิวฮู (牛輔ู่ หนิว ฝู่) ถูกลิซก (李肅 หลี่ ซู่) ฆ่าใน ค.ศ. 192
  • บุตรบุญธรรม: ลิโป้ (呂布 ลฺหวี่ ปู้)

ตำแหน่ง

[แก้]

ตำแหน่งที่ต่ง จั๋ว เคยดำรง มีดังนี้ตามลำดับ

  • ปิงหม่า-ยฺเหวี่ยน (兵馬掾) หรือ ขุนพลม้า
  • ปิ้งโจวชื่อฉื่อ (并州刺史) หรือ ผู้ตรวจการมณฑลปิ้ง
  • เหอตงไท่โฉ่ว (河東太守) หรือ เจ้าเมืองเหอตง
  • ตงจงหลังเจียง (東中郎將) หรือ ขุนศึกบูรพาประจำราชสำนัก
  • พั่ว-ลฺหวี่เจียงจวิน (破虜將軍) หรือ แม่ทัพปราบเถื่อน
  • หลีเซียงโหว (斄鄉侯) หรือ โหว (บรรดาศักดิ์) แห่งเมืองหลี
  • เฉียนเจียงจวิน (前將軍) หรือ แม่ทัพหน้า
  • ซือคง (司空) หรือ เจ้ากรมโยธา
  • ไท่เว่ย์ (太尉) หรือ จอมทัพ
  • เหมย์โหว (郿侯) หรือ โหว (บรรดาศักดิ์) แห่งเหมย์
  • เซี่ยงกั๋ว (相國) หรือ อัครมหาเสนาบดี
  • ไท่ชือ (太師) หรือ มหาราชครู

ใน สามก๊ก

[แก้]
อ้องอุ้นปรึกษาแผนสังหารตั๋งโต๊ะกับเตียวเสียน
อ้องอุ้นกระโจนลงจากประตูเซวียนผิงมอบตัวต่อกบฏ

สามก๊ก (三國演義) วรรณกรรมจีนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 ของล่อกวนตง (羅貫中 หลัว กวั้นจง) เอาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จีนสมัยสามก๊กไปแต่งเติมเพิ่มอรรถรส โดยพรรณนาว่า เสนาบดีอ้องอุ้นใช้เล่ห์เพทุบายต่าง ๆ เพื่อกำจัดทรราชตั๋งโต๊ะ เรียกแผนของอ้องอุ้นว่า "แผนสาวงาม" (美人計) และ "แผนห่วงสัมพันธ์" (連環計) จัดเข้าในสามสิบหกยุทธศาสตร์ (三十六計)

วรรณกรรม สามก๊ก ตอนที่ 8 ระบุว่าอ้องอุ้นคิดแผนสังหารตั๋งโต๊ะอยู่จนดึกดื่น เวลานั้น ได้ยินเสียงหญิงสาวร้องคร่ำครวญอยู่ในสวน จึงออกมาดู พบเตียวเสียน (貂蟬 เตียวฉัน) หญิงขับร้องซึ่งตนเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ร้องไห้อยู่ จึงเกิดความคิดจะใช้เตียวเสียนเป็นกุญแจไขสู่ความบาดหมางระหว่างเตียวฉันและลิโป้บุตรบุญธรรมของตั๋งโต๊ะ

วันหนึ่ง อ้องอุ้นจึงเชิญลิโป้มาบ้าน และให้เตียวเสียนปรนนิบัติรับรอง ขุนศึกหนุ่มเช่นลิโป้ครั้นเห็นเตียวเสียนรูปโฉมงดงามสุดจะบรรยาย ก็มีใจปฏิพัทธ์ทันที อ้องอุ้นจึงตกปากจะยกเตียวเสียนให้ลิโป้

ไม่กี่วันให้หลัง อ้องอุ้นก็เชิญตั๋งโต๊ะบิดาบุญธรรมของลิโป้มาบ้าน และให้เตียวเสียนปรนนิบัติรับรองอย่างเดียวกัน ก็บังเกิดผลเสมือนกัน คือตั๋งโต๊ะมีใจเสน่หาในเตียวเสียน ตั๋งโต๊ะจึงพานางกลับบ้านไปเป็นอนุภริยาทันที

เช้าถัดมา ลิโป้ทราบเรื่องก็รุดไปดูด้วยตาถึงในห้องนอนของตั๋งโต๊ะ เตียวเสียนนั่งสางผมอยู่ พอเห็นลิโป้มา ก็แสร้งร่ำไห้คร่ำครวญ ราวกับถูกบังคับขืนใจ ทำให้ลิโป้เกิดคืองแค้นตั๋งโต๊ะ

ราวหนึ่งเดือนให้หลัง ตั๋งโต๊ะจับได้ว่าลิโป้ลอบชำเลืองเตียวฉันผู้เป็นเมียน้อยของตัวอยู่เสมอ จึงสั่งห้ามลิโป้เข้ามาบ้านแห่งนี้อีก แต่เมื่อตั๋งโต๊ะไปเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ ลิโป้ก็ลอบเข้ามาหาเตียวเสียนที่ซุ้มเฟิ่งอี๋ (鳳儀亭; "ซุ้มการะเวก") แล้วโอ้โลมนาง ฝ่ายตั๋งโต๊ะเมื่อเห็นว่าลิโป้หายไป ก็สังหรณ์ใจ จึงรีบกลับบ้านมาพบคนทั้งสองอยู่ด้วยกัน ตั๋งโต๊ะก็เอาทวนของลิโป้ซัดลิโป้ แต่ลิโป้กระโจนหนีไปได้ ยิ่งทำให้รอยร้าวของทั้งสองหยั่งลึกลงอีก ลิโป้จึงมาปรับทุกข์กับอ้องอุ้น

อ้องอุ้นเห็นได้ทีก็ชวนลิโป้ ฆ่าตั๋งโต๊ะเพื่อปราบปรามภัยให้แผ่นดิน เมื่อแรกลิโป้อิดเอื้อน เพราะเกรงผู้คนจะครหาว่าฆ่าบิดา อ้องอุ้นจึงว่า คนละแซ่กัน จะเป็นบุตรบิดากันได้อย่างไร โดยกล่าวว่า "ตัวแม่ทัพแซ่ลิ ตัวราชครูแซ่ตั๋ง ตอนซัดทวนใส่ท่าน มันนึกถึงเรื่องพ่อลูกไหม" (將軍自姓呂,太師自姓董,擲戟之時,豈有父子情耶?) ลิโป้พอได้ฟังก็ตกลงใจจะร่วมสังหารตั๋งโต๊ะ

แต่เมื่อแผนกำจัดตั๋งโต๊ะสำเร็จแล้ว ลูกน้องของตั๋งโต๊ะคือลิฉุยและกุยกี นำกำลังมาล้อมพระราชวัง จะเอาตัวอ้องอุ้นไปฆ่าแก้แค้นให้ตั๋งโต๊ะผู้เป็นนาย อ้องอุ้นจึงเชิญพระเจ้าเหี้ยนเต้เสด็จขึ้นยังประตูเซวียนผิง (宣平門; "ประตูสันติขจร") กลุ่มกบฏก็พากันไปล้อมอยู่เบื้องล่าง เมื่อได้คำมั่นจากพวกกบฏว่า จะไม่ทำอันตรายต่อพระมหากษัตริย์แล้ว อ้องอุ้นก็ยอมมอบตัวต่อกบฏ โดยกระโจนลงจากประตูเซวียนผิง เหล่ากบฏก็รุมฟันแทงอ้องอุ้นขาดใจตาย ลิฉุยกับกุยกีก็ได้อำนาจการปกครองต่อไป

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Brill. pp. 157–158. ISBN 978-90-04-15605-0.
  2. 《王侯鲭》:“董卓少耕野得一刀,无文,四面隐起山云文,斫王如木。及贵,以视蔡邕,邕曰:此项羽刀。
  3. (卓自出與堅戰於諸陵墓閒,卓敗走) See Book of the Later Han, Volume 72.
  4. (堅進洛陽宣陽城門,更擊呂布,布復破走。) See Book of the Later Han, Volume 72.
  5. Fan Ye. Book of the Later Han, Biography of Zhu Jun.
  6. Chen Shou. Records of Three Kingdoms, Volume 6, Biography of Dong Zhuo.
  7. (献帝纪曰:卓获山东兵,以猪膏涂布十余匹,用缠其身,然后烧之,先从足起。) According to the Annal of Emperor Xian, Dong Zhuo would carry out his horrible and complicated punishments once he captured a soldier from the eastern warlords.
  8. (于坐中先断其舌,或斩手足,或凿眼,或镬煮之,未死,偃转杯案闲,会者皆战栗亡失匕箸,而卓饮食自若。) Dong had very specific treatment for betrayers, with punishments even more severe than the ones applied to enemy captives. The betrayers would experience prolonged suffering during the process.
  9. 西汉五铢
  10. (守尸吏暝以为大炷,置卓脐中以为灯,光明达旦,如是积日。) According to the Annal of Heroes, the light from his corpse could be compared to that of the sun!
  11. (卓母年九十,走至坞门曰“乞脱我死!”) See Annal of Heroes.

ดูเพิ่ม

[แก้]
ก่อนหน้า ตั๋งโต๊ะ ถัดไป
ว่าง อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐ
ราชวงศ์ฮั่น

(189 – 192)
ว่าง
สถาปนาตำแหน่งใหม่โดย
โจโฉ
(ในฐานะอัครมหาเสนาบดี)