Location via proxy:   [ UP ]  
[Report a bug]   [Manage cookies]                
ข้ามไปเนื้อหา

ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เซนุสเรตที่ 1 (อียิปต์สมัยกลาง: z-n-wsrt; /suʀ nij ˈwas.ɾiʔ/) หรือในรูปแบบที่แปรมาเป็นภาษาอังกฤษ เซซอสทริสที่ 1 และเซนวอสเรตที่ 1 เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณพระองค์ที่สองจากราชวงศ์สิบสอง พระองค์ทรงครองราชย์ตั้งแต่ 1971 ถึง 1926 ปีก่อนคริสตกาล (หรือ 1920 ถึง 1875 ปีก่อนคริสตกาล)[2] และเป็นหนึ่งในฟาโรห์ที่มีอำนาจมากที่สุดในราชวงศ์นี้ พระองค์เป็นพระราชโอรสในฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 1 ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1 เป็นที่ทราบโดยพระนามนำหน้าของพระองค์พระนามว่า เคเปอร์คาเร ซึ่งหมายความว่า "ดวงวิญญาณแห่งเทพเรทรงถูกสร้างขึ้น"[3] พระองค์ทรงขยายพระราชอาณาจักรอียิปต์ ส่งผลให้พระองค์ทรงปกครองแผ่นดินในยุครุ่งเรือง[4]

พระองค์ยังคงทรงดำเนินต่อพระราโชบายขยายขอบเขตเชิงรุกของพระราชบิดาไปยังดินแดนนิวเบีย โดยเริ่มจากการส่งคณะเดินทางจำนวนสองครั้งเข้าในนิวเบียในช่วงปีที่ 10 และ 18 แห่งการครองราชย์ของพระองค์ และทรงสถาปนาพรมแดนทางใต้อย่างเป็นทางการของอียิปต์ใกล้กับแก่งน้ำตกที่สองของแม่น้ำไนล์ ซึ่งพระองค์ทรงได้วางกองทหารรักษาการณ์และจารึกแห่งชัยชนะไว้ที่นั่น[5] พระองค์ทรงยังได้จัดคณะเดินทางไปยังโอเอซิสของทะเลทรายตะวันตก ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1 ทรงได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตกับผู้ครองนครถิ่นในซีเรียและคานาอัน นอกจากนี้ พระองค์ยังพยายามรวมศูนย์โครงสร้างทางการเมืองของพระราชอาณาจักรด้วยการสนับสนุนบรรดาผู้ปกครองท้องถิ่นที่ภักดีต่อพระองค์ พีระมิดของพระองค์ได้ถูกสร้างขึ้นที่เอล-ลิชต์ และยังมีการกล่าวถึงพระองค์ในงานเขียนชื่อว่า เรื่องราวแห่งซินูเฮ (The Story of Sinuhe) ซึ่งได้บันทึกว่า พระองค์ทรงรีบเสด็จกลับไปยังพระราชวังในเมมฟิสจากการทรงดำเนินการทางทหารในดินแดนลิเบีย หลักจากทรงทราบการลอบปลงพระชนม์ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 1 ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระองค์

พระราชวงศ์

[แก้]

เป็นที่ทราบอย่างดีเกี่ยวความสัมพันธ์ภายในพระราชวงศ์ของพระองค์ โดยฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1 เป็นพระราชโอรสในฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 1 กับพระนางเนเฟริทาเทเนน ซึ่งเป็นพระราชินีในพระราชบิดา พระมเหสีพระองค์หลักของพระองค์นามว่า พระนางเนเฟรูที่ 3 ซึ่งเป็นพระภคินีหรือพระขนิษฐาของพระองค์ และยังเป็นพระราชมารดาของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ที่ขึ้นมาปกครองต่อจากพระราชบิดา ส่วนพระราชบุตรทีเหลือและเป็นที่ทราบก็คือ เจ้าหญิงอิตาคายต์ และเจ้าหญิงเซบาต ซึ่งพระราชธิดาพระองค์หลังนี้น่าเป็นพระธิดาของพระนางเนเฟรูที่ 3 เนื่องจากพระนางได้ปรากฏพร้อมกับเจ้าหญิงพระองค์ดังกล่าวในจารึกเดียวกัน ต่อมาฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 1 พระราชบิดาของพระองค์ได้ถูกลอบปลงพระชนม์

เหตุการณ์ภายในรัชสมัย

[แก้]

ในปีที่ 18 แห่งการครองราชย์ของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1 พระองค์ทรงเริ่มดำเนินการทางทหารกับดินแดนนิวเบียล่าง และพิชิตดินแดนนี้จนถึงแก่งน้ำตกที่สองของแม่น้ำไนล์ ช่วงเวลาแห่งการออกเดินทางของคณะได้ระบุไว้บนจารึกจากบูเฮน[6] มีการกล่าวถึงการดำเนินการทางทหารไว้ในจารึกหลายชิ้นในรัชสมัยของฟาโรห์พระองค์นี้ ข้าราชการท้องถิ่นหลายคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสำรวจทางทหาร เช่น อเมเนมเฮต ซึ่งเป็นผู้ปกครองท้องถิ่นเขตปกครองแห่งออริกซ์ ได้เดินทางไปที่นั่นพร้อมด้วยตำแหน่ง ผู้ดูแลกองทัพ[7] ในปีที่ 25 แห่งการครองราชย์ ภายในพระราชอาณาจักรได้เกิดทุพภิกขภัยขึ้น เนื่องจากระดับในแม่น้ำไนล์ลดต่ำ[8]

แผนสิ่งปลูกสร้าง

[แก้]

ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1 ได้ทรงส่งคณะสำรวจเหมืองหินหลายครั้งไปยังคาบสมุทรไซนายและวาดิ ฮัมมามัต และทรงโปรดให้สร้างศาลเทพเจ้าและวิหารหลายแห่งทั่วอียิปต์และนิวเบียในช่วงรัชสมัยอันยาวนานของพระองค์ พระองค์โปรดให้สร้างวิหารที่สำคัญแห่งเทพเร-อาตุมขึ้นในเฮลิโอโพลิส ซึ่งเป็นศูนย์กลางของลัทธิบูชาพระอาทิตย์ พระองค์ทรงโปรดให้เสาหินแกรนิตสีแดงจำนวนสองเสาขึ้นที่นั่น เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลเซดในปีที่ 30 แห่งการครองราชย์ หนึ่งในเสาโอเบลิสก์ยังคงอยู่และเป็นเสาโอเบลิสก์ที่เก่าแก่ที่สุดในอียิปต์ ขณะนี้อยู่ในพื้นที่อัล-มาซัลลา (เสาโอเบลิสค์ในภาษาอาหรับ) ของเขตอัล-มาตารัยยาห์ ซึ่งใกล้ใกล้กับเขตอายน์ ชามส์ (เฮลิโอโพลิส) ซึ่งมีความสูง 67 ฟุต และหนัก 120 ตันหรือ 240,000 ปอนด์

พระองค์ทรงเป็นผู้โปรดให้สร้างวิหารสำคัญหลายแห่งในสมัยอียิปต์โบราณ รวมทั้งวิหารแห่งเทพมินที่คอปโตส วิหารแห่งเทพีซาเทตบนเกาะแอลเลเฟนไทน์ วิหารแห่งเทพมอนทูที่อาร์มันต์และวิหารแห่งเทพมอนทูที่เอล-โตด ที่มีจารึกที่เกี่ยวข้องพระองค์ยังคงหลงเหลืออยู่[9]

ศาลเทพเจ้า (หรือรู้จักกันในชื่อว่า วิหารน้อยขาว หรือวิหารน้อยแห่งการเฉลิมฉลอง) ซึ่งมีภาพนูนต่ำนูนสูงของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1 ที่สร้างขึ้นที่คาร์นัก เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 30 แห่งการครองราชย์ของพระองค์ ต่อมาได้มีบูรณะใหม่โดยสมบูรณ์จากบล็อกหินต่าง ๆ ที่อองรี เชฟคีเออร์ค้นพบในปี ค.ศ. 1926 และพระองค์ยังทรงโปรดให้บูรณะปรับปรุงวิหารแห่งเคนติ-อเมนติอู โอซิริส ที่อไบดอส ซึ่งอยู่ในหมู่แผนก่อสิ่งปลูกสร้างหลักอื่น ๆ ของพระองค์

วิหารน้อยขาวแห่งเซนุสเรตที่ 1 ที่คาร์นัก

พระราชสำนัก

[แก้]

สมาชิกคนสำคัญบางส่วนของพระราชสำนักในช่วงรัชสมัยฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1 เป็นที่รู้ทราบ เช่น ราชมนตรีในช่วงต้นรัชสมัยของพระองค์มีนามว่า อินเตฟิเกอร์ ซึ่งเป็นที่ทราบจากจารึกมากมายและจากหลุมฝังศพของเขาถัดจากพีระมิดแห่งอเมนเนมเฮตที่ 1 ดูเหมือนว่าเขาจะดำรงตำแหน่งนี้มาเป็นเวลานาน และตามมาด้วยราชมนตรีคนถัดมาที่มีนามว่า เซนุสเรต ผู้ดูแลพระคลังมหาสมบัติจำนวนสองคน ซึ่งเป็นที่ทราบจากในรัชสมัยของพระองค์มีนามว่า โซเบคโฮเทป (ปีที่ 22) และเมนทูโฮเทป ซึ่งมีหลุมฝังศพขนาดใหญ่ด้านหลังติดกับพีระมิดของพระองค์ และดูเหมือนเขาจะเป็นสถาปนิกหลักของวิหารแห่งเทพอามุนที่คาร์นัก มีเจ้าพนักงานชั้นสูงหลายคน ร่วมถึง ฮอร์ ซึ่งเป็นที่ทราบจากจารึกหลายชิ้น และจารึกในวาดิ เอล-ฮูดิ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เขาเป็นผู้นำคณะสำรวจแร่อเมทิสต์ หนึ่งในจารึกนั้นมีอายุย้อนไปถึงปีที่ 9 แห่งการครองราชย์ของพระองค์ และมีผู้หนึ่งนามว่า นาคร์ เข้ารับตำแหน่งในราชสำนักช่วงประมาณปีที่ 12 แห่งการครองราชย์ของพระองค์ เขามีหลุมฝังศพที่ลิชต์ อันเตฟ บุตรชายของสตรีคนหนึ่งนามว่า ซาตอามุน ซึ่งเป็นที่ทราบจากจาึกหลายชิ้น โดยระบุช่วงเวลาถึงปีที่ 24 และอีกปีหนึ่งถึงปีที่ 25 แห่งการครองราชย์ของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1 และอันเตฟอีกคน ผู้เป็นบุตรชายของสตรนามว่า ซาตยูเซอร์ และมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเจ้าพนักงานชั้นสูงในรัชสมัยของพระองค์[10]

การสืบสันตติวงศ์

[แก้]

ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1 ได้รับพระราชทานตำแหน่งผู้สำเร็จราชการร่วมกับฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 1 ในช่วงปีที่ 20 แห่งการครองราชย์ของพระราชบิดา ในช่วงปลายรัชสมัย พระองค์ได้พระราชทานแต่งตั้งฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 2 ผู้เป็นพระราชโอรสขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการร่วมกับพระองค์ ศิลาจารึกแห่งเวปวาเวโทที่ระบุช่วงระหว่างปีที่ 44 แห่งการครองราชย์ของพระองค์ และปีที่ 2 แห่งการครองราชย์ของฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 2 ดังนั้น พระองค์คงจะพระราชทานตำแหน่งผู้สำเร็จราชการร่วมในปีที่ 43[11] และสันนิษฐานว่า ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1 เสด็จสวรรคในช่วงปีที่ 46 แห่งการครองราชย์ของพระองค์จากที่บันทึกพระนามกษัตริย์แห่งตูรินได้ระบุไว้ว่า พระองค์ครองราชย์เป็นระยะเวลา 45 ปี[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. W. Grajetzki, The Middle Kingdom of Ancient Egypt: History, Archaeology and Society, Duckworth, London 2006 ISBN 0-7156-3435-6, p.36
  2. Erik Hornung; Rolf Krauss; David Warburton, บ.ก. (2006). Ancient Egyptian chronology. Brill. ISBN 9004113851. OCLC 70878036.
  3. Peter Clayton, Chronicle of the Pharaohs, Thames & Hudson Ltd, (1994), p.78
  4. Robins. The Art of Ancient Egypt. pp. 95–97.
  5. Senusret I
  6. William K. Simpsonː Sesostris II, inːWolfgang Helck (ed.), Lexikon der Ägyptologie Vol. 5, Harrassowitz, Wiesbaden, 1984, ISBN 3447024895, p. 895
  7. Percy E. Newberryː Beni Hasan (volume 1), London, 1893, p. 25 onlin
  8. Wolfram Grajetzki: The People of the Cobra Province in EgyptOxbow Books. Oxford 2020, ISBN 9781789254211, pp. 177-178
  9. Grajetzki, The Middle Kingdom of Ancient Egypt: History, p. 38–41
  10. W. Grajetzki: Court officials of the Middle Kingdom, London 2009, ISBN 978-0-7156-3745-6, p. 172
  11. Murnane, William J. Ancient Egyptian Coregencies, Studies in Ancient Oriental Civilization. No. 40. p.5. The Oriental Institute of the University of Chicago, 1977.
  12. Murnane, William J. Ancient Egyptian Coregencies, Studies in Ancient Oriental Civilization. No. 40. p.6. The Oriental Institute of the University of Chicago, 1977.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]